Tuesday, October 8, 2013

Drill Press King - 2nd hand

ผมได้รับสว่านแทนมือสองยี่ห้อ King สภาพดี จึงทำการบูรณะ เปลี่ยนอะไหล่และจัดการให้มันใช้งานได้
สภาพที่ได้รับมา เป็นดังรูปครับ
ได้รับคำปรึกษาจากพี่เล็ก ช่วยแนะนำชิ้นส่วนและอะไหล่ต่างๆ ทำให้สามารถรื้ออุปกรณ์ทั้งหมดออกมาได้ และทำความสะอาดชิ้นส่วนทั้งหมด รวมถึงเปลี่ยนลูกปืนทุกชิ้น

ของเดิม สว่านแท่นตัวนี้ ใช้ในโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ จึงมีฝุ่นไม้ เล็ดลอดเข้าไปฝังข้างในชิ้นส่วน



เราจัดการถอดทุกชิ้นออกมา เพื่อจะทำความสะอาดตั้งแต่โครงแท่น
โดยใช้น้ำเปล่าผสมน้ำยาล้างจาน ฟอกโครงทั้งหมด เพื่อล้างคราบน้ำมันออกเสียก่อน
จากนั้น จึงจะใช้น้ำยากัดสนิม ทาให้ทั่วบริเวณที่เป็นผิวเหล็ก เพื่อลอกผิวสนิม
แล้วจึงล้างด้วยน้ำเปล่าอีกรอบ เช็ดด้วยผ้าแห้ง และรีบทำน้ำมัน WD40 ทันที เพื่อเคลือบผิวเหล็ก






ส่วนของลูกปืนทั้งหมด ก็ถอดเปลี่ยน
โดยจดเบอร์ลูกปืนของเก่า นำไปซื้อที่ร้าน



ส่วนที่ยาก คือต่อจากนี้ล่ะครับ
สว่านแท่นตัวนี้ ใช้มอเตอร์ 3 เฟสในโรงงาน เราจึงมีสองทางเลือก
1) ขายมอเตอร์ 3 เฟสตัวนี้ไป และซื้อมอเตอร์ 1 เฟส เพื่อให้สามารถใช้งานในบ้าน
2) โม...ให้สามารถใช้ไฟบ้าน 1 เฟส มารันมอเตอร์ 3 เฟสได้

ปรึกษากับพี่เล็ก เราเลือกลุยทางเลือก 2 ครับ
ผมจึงต้องมาเขียนบล็อคบันทึกวิธีการเอาไว้ เผื่อเป็นประโยชน์กับหลายๆท่าน

อ้างอิงจาก http://www.youtube.com/user/TheInfoworks โดยคุณ Andy Reynolds
เขาสอนวิธีการแปลงไฟบ้าน ให้สามารถทำงานร่วมกับมอเตอร์ 3 เฟสได้
เป็นคลิปวิดีโอ มีทั้งหมด 6 ตอนนะครับ แนะนำให้ดูทั้งหมด โดยเฉพาะตอนที่ 5-6 ซึ่งเป็นการอธิบายวงจรแปลงไฟ

เล่าให้ง่ายๆก็คือ เราต่อไฟบ้าน 2 เส้น เข้าไปที่มอเตอร์ 2 ขา และใช้คาปาซิเตอร์ มาคร่อมจากขา 2 ไปขา 3 ก็จะสามารถทำให้มอเตอร์วิ่งได้ครับ
นั่นคือ เป็นการเอาคาปาซิเตอร์ มาดักเก็บไฟ และปล่อยให้ขา 3
แน่นอนว่า เฟสมันไม่ถูกต้องเหมือนไฟ 3 เฟส แต่มันก็พอจะทำให้มอเตอร์เราทำงานได้อย่างไม่มีปัญหาครับ (รายละเอียดทางไฟฟ้า ไม่ขอเล่านะครับ)

อย่างไรก็ดี ชีวิตมันไม่ง่ายแบบนั้น...

C ตัวนี้ ทำให้มอเตอร์วิ่งได้ก็จริง แต่เมื่อไม่มีโหลดเท่านั้น
ในขณะที่การใช้งานสว่านแท่นปกติ มอเตอร์มันจะรั้งอยู่กับสายพาน เพื่อไปหมุนคอสว่าน

ดังนั้น C ตัวเดียว จึงไม่เพียงพอที่จะปั่นมอเตอร์เพื่อไปขับสายพานได้

จึงต้องมี C ตัวที่สอง มาช่วยฉุดกำลังเฉพาะในตอนแรก ผมเรียกว่า C-Start
และเมื่อมอเตอร์ออกตัววิ่งได้แล้ว เราก็จะให้วงจรเหลือเพียง C ตัวเดียว เรียกว่า C-Run

หากเราแช่ C-Start ไว้ตลอดเวลา จะส่งผลให้โวลท์ที่ป้อนเข้ามอเตอร์มีค่ามาก มากเกินที่มอเตอร์จะรับไหว ดังนั้น คุณ Andy Reynold เขาจึงวาดวงจรดังในคลิปตอนที่ 6

ผมก็เดินตามทางที่เขาอธิบายไว้
(หลักการนี้ มีคนทำเยอะแยะนะครับ เพียงแต่คุณ Andy แกอธิบายครบถ้วนดี)

ผลการทดลอง จึงเป็นดังรูปนี้
โมเดลต้นแบบครับ ต่อลอยทุกอย่าง เพื่อทดสอบไอเดีย

อีกจุดนึงที่สำคัญก็คือ เราต้องต่อสายไฟมอเตอร์ให้เป็นแบบเดลต้า นะครับ

ปกติมอเตอร์ 3 เฟส จะมีสายไฟออกมา 6 เส้น ให้เราเลือกจับคู่ ว่าต้องการจะต่อแบบเดลต้า (รูปสามเหลี่ยม) หรือแบบสตาร์ (รูปตัว Y)
ในกรณีนี้ เราต้องต่อแบบเดลต้านะครับ เลือกจับคู่สายไฟดังในไดอะแกรมที่หน้าเครื่องมอเตอร์ได้เลย
(หากหน้าเครื่องไม่มีรูป ก็ต้องทดลองจับคู่สายไฟ และใช้มัลติมิเตอร์เช็คคู่ แต่ละคู่ครับ)

เมื่อคอนเซ็ปต์ทำงานได้ เราก็มาลุยต่อวงจรกันจริงจัง เพื่อให้ยัดเข้าไปในสว่านแท่นได้

หลักการเลือกขนาดคาปาซิเตอร์ ก็คือ มอเตอร์ทุก 1 แรงม้า จะใช้ C-Run= 40 uF (ไมโครฟารัด) และใช้ C-Start= 2 เท่าของ C-Run เสมอ ซึ่งก็คือ 80 uF

สว่านแท่นของผม ใช้มอเตอร์ 1/2 แแรง จึงใช้ C-Run= 20 uF, C-Start= 40 uF และเลือกไฟ 380 V.
**คาปาซิเตอร์ของไฟฟ้ากระแสสลับ จะตัวใหญ่ๆ ทรงกระป๋องกาแฟ

โฉมหน้าไดอะแกรม จากคุณ Andy
วาดขึ้นมาใหม่โดยพี่เล็ก


ต่อวงจรนี้ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครับ เพราะผมต้องการแยกสวิทช์ออกมาไว้ที่ด้านหน้าของสว่านแท่นด้วย
จึงต้องออกแบบการเดินสายไฟ ระหว่างวงจร ไปยังมอเตอร์ และวงจรไปยังสวิทช์

ระหว่างที่จะรันมอเตอร์ เอะใจว่า ลูกปืนในมอเตอร์มีปัญหาหรือไม่ จึงถอดมอเตอร์ออกมาถึงไส้ใน และจัดการเปลี่ยนลูกปืนซะ

 สภาพลูกปืนใหม่ ดังรูป


เมื่อประกอบมอเตอร์เข้าที่ เราก็จัดการติดตั้งสวิทช์กับหน้าแปลน เพื่อเตรียมโยงสายไฟทั้งหมดบนโครงสว่านแท่น
หน้ากาก ผมใช้เศษไม้สนในช็อป มาตัดแต่งให้บาง เพื่อแปะเข้ากับโครงเครื่อง

สภาพวงจรทั้งหมด ต้องยัดไว้ในกล่องกว้าง 7 1/2", ยาว 9" และลึก 3 1/2"
ผมใช้ไม้อัด 15mm ต่อเป็นกล่อง และยึดกับคอสว่านแท่น ทางด้านหลังของเครื่อง



สายไฟสีขาว จะโยงไปยังมอเตอร์ 3 เฟส
สายไฟสีดำ สองเส้น จะโยงไปสวิทช์ที่ด้านข้างเครื่อง

ภาพรวมทั้งหมดของอุปกรณ์แปลงไฟ และสวิทช์


สว่านมือสองตัวนี้ ทำงานได้ดีทีเดียวครับ คุ้มกับที่เปลี่ยนลูกปืนทั้งหมด
วิ่งได้นิ่งมาก

นอกจากนี้ ยังได้ยกหน้าโต๊ะสว่านแท่น ไปอุดรูเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดจากโรงงาน คาดว่าอาทิตย์หน้า คงได้นำกลับมาประกอบ และจะได้ใช้งานจริง

ระหว่างนี้ ผมก็ทดสอบ การปิดเปิด การเปิดสว่านแท่นค้างไว้นานๆ เพื่อดูว่าวงจรสามารถทำงานได้ราบรื่นหรือไม่ครับ

เบ็ดเสร็จค่าซ่อมตัวนี้
วงจรไฟฟ้า ทั้งหมดประมาณ 1000 บาท (คาปาซิเตอร์ตัวละ 120, Magnetic switch 250, สวิทช์เขียว กดติดปล่อยดับ 150, สวิทช์แดง กดดับปล่อยติด 150 และสายไฟ หางปลา ตัวต้านทาน)
ลูกปืน 6 ตลับ ประมาณ 600 บาท
ความรู้ที่ได้...สามารถไปลุยมอเตอร์ 3 เฟสตัวอื่นๆได้สบายละครับ

2 comments:

  1. R ค่าเท่าไรครับ

    ReplyDelete
  2. อยากรู้วิธีแกะเปลี่ยนลูกปืนตรงแทนเจาะครับ

    ReplyDelete