Thursday, April 9, 2015

Day02_เพลาะไม้ ฝาข้างและฝาหลัง

จากขั้นตอนการเตรียมไม้ในตอนที่แล้ว เรามาดูแบบที่เราวาดไว้คร่าวๆกัน

BOM (bill of material) หรือรายการตัดไม้ทั้งหมด

1) เฉพาะชิ้นส่วนโครงหีบด้านนอกสุด มีไม้ 6 ชิ้น
2) ฝาหน้าที่เปิดปิดได้ มี 5 ชิ้น
3) ไม้คั่นกลาง 4 ชิ้น
4) เก๊ะอีก 6 เก๊ะ เก๊ะละ 5 ชิ้น

การทำหีบ หรือตู้ไม้ เราจะทำจากโครงด้านนอกก่อนเสมอนะครับ แล้วค่อยติดตั้งเก๊ะตามทีหลังสุด
ลำดับขั้นตอนแบบนี้ เก๊ะจะเสียบพอดีกับโครงนอก แลดูสวยงาม
หากเตรียมโครงนอก และเก๊ะไปพร้อมๆกัน มีขาดๆเกินๆแน่นอนครับ


ในการทำโครงนอกสุด จะมีการเพลาะไม้ ที่แผ่นหลังหีบ และแผ่นข้างหีบ
ดูที่ต้นแบบ ฝาด้านข้าง เขาจะวางลายไม้ ขวางทางกัน


ที่ทำแบบนี้ เพราะจะป้องกันปัญหาเรื่องไม้บิดโก่งตัวออกจากหีบครับ
(ถ้าไม่ทำแบบนี้ ก็ต้องใช้ไม้ชิ้นหนาขึ้น ผลกระทบตามมาคือ หีบจะหนักมากขึ้นไปอีก)

การเพลาะไม้แบบนี้ไม้ชิ้นบน จะบีบหัวไม้ชิ้นล่างไว้
หีบ Gerstner ถึงอยู่ทนทาน และเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสม

เราใช้ tongue & groove หรือช่างไทยเรียก เดือยเซาะร่อง หน้าตาแบบนี้ครับ

ชิ้นสีชมพู ด้านบน คือ เดือยตัวเมีย ทำร่องโดยใช้กบเซาะร่องกระจก


และชิ้นสีน้ำเงิน ด้านล่าง คือ เดือยตัวผู้ ทำเดือยโดยใช้กบฉีหัว

ประกอบกันครั้งแรก หัวเดือยตัวผู้ สูงไปสักนิด ชิ้นงานจึงเสียบกันไม่สนิท

เราก็ไสหัว...ไสหัว!!
ไสหัวไม้ออกไปหน่ะครับ

อยากได้เป๊ะแค่ไหน ต้องหมั่นเช็คความพอดีบ่อยๆ
เห็นมีร่อง มีบิ่นๆ ยังไม่ต้องกังวลครับ มันเป็นบริเวณนี้เท่านั้น เดี่ยวเฉือนทิ้งไป ด้านในจะสนิทอยู่แล้ว

เมื่อทดสอบประกอบได้ดี ก็ทากาว และหนีบแคลป์ไว้ครับ

เอาก้อนน้ำหนักกดทับ ป้องกันไม้โดนบีบแล้วเผยอขึ้นมา

เมื่อกาวแห้งดี เราจะไสเก็บขอบให้เรียบเสมอกันครับ
มีแคลป์มอกซ่อน เจ้าเดิมมาช่วย และมีใบกบคมๆ ไสตัดหน้าไม้ 10 มม.แบบนี้ สบายมาก

ลองให้ดูหลายๆชิ้นนะครับ



ส่วนการเพลาะไม้แผ่นหลัง เป็นการวางไม้ทางเดียวกัน ทำเดือยลักษณะเดียวกันครับ
เพลาะแผ่นกว้างแบบนี้ เมื่อกาวแห้ง ก็ต้องไสปรับให้เรียบอีกสักหน่อยครับ

******
หลังจากเพลาะแผ่นหลังหีบ แผ่นข้างหีบเสร็จ เราก็เริ่มประกอบโครงนอกหีบ
เดือยแบบเดิม แต่รอบนี้ ผมใช้ทริมเมอร์ ดอก 6 มม. ทำเดือยตัวเมีย เพราะได้ร่องเดือยขนาดที่ต้องการพอดี และทริมเมอร์ สามารถกินทั้งขวางทางไม้ และตามทางไม้ได้ ในขณะที่กบเซาะร่องกระจก จะกินตามทางไม้เท่านั้น ไม่สามารถกินขวางทางไม้ได้

เนื่องจากโครงหีบเสียบประกอบกันไปมา ผมไม่อธิบายขั้นตอนลงลึกนะครับ หากต้องการทราบจริงๆ เขียนอีเมลล์มาถามได้ครับ

การทำโครงตู้ เราจะไล่ทำเดือย ประกบฝาหีบไปทีละแผ่นๆ เพราะเมื่อประกบไม่เข้า เราจะทราบและแก้ไขได้ทันที อย่าคิดว่า ลุยทำเดือยไปให้หมด แล้วประกอบทีเดียว เพราะทำแบบนี้ มีความเสี่ยงสูงว่าจะแก้ไขงานยากมาก

ดังรูปนะครับ ไล่ประกบไปทีละชิ้น ทีละฝา


ให้แปะเทป บอกตำแหน่งการจับคู่ไว้ด้วยครับ

ถึงขั้นตอนนี้ เอาจริงๆ หมดไปเป็นวันๆนะครับ
เราใช้เครื่องมือไฟฟ้า ทำเดือยก็ได้ครับ แต่ต้องแม่นเรื่องระยะทางๆ ไม่ก็ทำแผ่นทดลองตัดออกมาก่อน แล้วจึงจะลุยกับชิ้นงานจริง


Friday, April 3, 2015

Day01_หีบเครื่องมือ Gerstner Tool Chest 41 D

เราเคยทำหีบเก็บเครื่องมืองานไม้แบบดัชท์ (Dutch Tool Chest) โดยใช้ไม้สนไปแล้ว

รอบนี้ เราจะทำหีบสุดหรู ต้นแบบจากหีบยี่ห้อดัง Gerstner & Sons ซึ่งสนนราคาขายอยู่เฉียด 30,000 บาท เป็นไม้จริงทั้งหมด

ผมไม่มีแบบอยู่ในมือเลยนะครับ เลยแกะแบบจากมิติที่ทราบเท่านั้น โดยค้นจากเว๊บไซด์ของ Gerstner ดูที่รุ่น Classic 41D และวาดใน Google SketchUp ซึ่งจะได้อธิบายรายละเอียด ที่มาที่ไป และการเข้าเดือยของชิ้นส่วนต่างๆ ตอนทำเดือยครับ

ครั้งนี้ เราจะมาเลือกไม้, เตรียมไม้กันก่อน
ขนาดของหีบใบนี้ หน้ากว้าง 20", ลึก 10 1/2" และสูง 13 1/2" ครับ
พวกเราไปบางโพ และไปได้ไม้ Sapele Mahogany มาชิ้นนึง หน้ากว้าง 11" หนา 1 1/8" ยาว 4 เมตร ลายไม้ควอเตอร์ซอล ถือว่าเข้าสเปคเลยครับ



ในกลุ่มไม้มะฮอกกานี จะแบ่งแยกสายพันธุ์ย่อยๆออกไป ดังเช่นชิ้นที่ซื้อมานี้ คือ Sapele Mahogany ซึ่งทางโรงไม้จะนิยมตัดควอเตอร์ ซอล (Quarter Sawn) เพื่อให้เกิดลายไม้สลับ เหลือบๆ ดังในรูป (ribbon strip)
หรือบางท่านอาจจะเคยพบเห็น Khaya Mahogany ซึ่งก็จะมีสีคล้ายๆกัน แต่จะไม่สลับลายเหลือบๆ มักจะพบเป็นไม้ชิ้นกว้างมากๆ หรือในเมืองไทย ก็มีมะฮอกกานีไทยเหมือนกัน

เนื่องจากผมเขียนแบบไว้ก่อนแล้ว จึงสามารถกะขนาด, จำนวน และความยาวไม้ที่ต้องการใช้งานได้เลย



เครื่องนี้ คือ เครื่องวัดความชื้นครับ เป็นแบบไม่มีเข็ม ใช้คลื่นความถี่ในการอ่านค่าความชื้นในไม้
ค่าที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง 5-15% ครับ

ดังในรูป ในเนื้อไม้ 100% จะมีส่วนของน้ำอยู่ในเนื้อไม้ ประมาณ 11% เท่านั้น
ถ้ามากกว่านี้ แสดงว่า ไม้ยังไม่แห้งพอ ถ้าขืนใช้งานไป ไม้อาจจะหด บิด โก่ง เพิ่มได้อีก

จากนั้น ตัดไม้เป็นชิ้นๆ โดยใช้กะบะตัดขวางมาช่วย..
 ไม้หนักมากครับ เวลาเข็นเข้าตัด ต้องมีคนช่วยรับไม้ที่ขาดออกจากกันไว้ด้วย
ในรูป คือเลื่อยวงเดือน Makita 16" ครับ เป็นรุ่นที่ทนมากๆ



เกรนไม้ควอเตอร์ซอล ดังภาพ
 เกรนไม้แบบนี้ ไม้จะหด ขยาย เข้าออกในทิศทางซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายเท่านั้นครับ
จะไม่บิด แอ่น โก่งจนเสียรูป ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้เกรนแบบนี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องไม้บิดในภายหลัง
อยู่ทนกันเป็นสิบๆปีละครับ


ไม้ทั้งหมด 5 ชิ้น เราก็เริ่มจากการไสเปิดหน้า 1 หน้า 2 เสียก่อน 







แหม...เห็นลายแบบนี้ ถ้าอยากรู้ว่า ลงเคลือบผิวแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ให้เอาน้ำเปล่าลูบดูก่อนได้เลยครับ


เนื่องจากไม้หนา 1 1/8" ผมจึงนำไปผ่าแบ่งครึ่ง เพื่อให้ได้ความหนาประมาณ 1/2"

ทดลองชั่งน้ำหนัก ไม้ 1 ชิ้น ประมาณ 3 กก.
เรามี 5 ชิ้น หีบใบนี้ก็หนักประมาณ 15 กก. ยังไม่รวมเก๊ะนะครับ
แต่เดี๋ยวไสปรับแล้ว นน.จะลดลงเหลือเท่าไหร่ เราจะมาดูกันอีกที

เมื่อผ่าแล้ว เราจะเปิดบุ๊ทแม็ทช์ครับ (book match)


แล้วก็ถึงเวลาออกแรงอีกแล้ว...ไสไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเรียบ และหนาเท่ากันทุกแผ่น
เรามีไม้ตั้งต้น 5 แผ่น
ไปผ่าครึ่ง ก็เป็น 10 แผ่น
ทุกแผ่น ไสหน้าหลัง ก็เป็น 20 หน้า

ผมลองวางกบ เปรียบเทียบความยาวกบ กับความยาวของไม้
ตัวเล็กสุด คือกบจิ๋ว 3"
ไล่จากล่างขึ้นบน คือ กบล้าง 6", กบบุก 9", กบล้าง 14" และกบล้าง 22"

โจทย์ของเราคือไม้ยาว 20" ผมจึงเลือกกบ 14", 22" เป็นหลักครับ
เอาตัว 14" ไสเปิดให้หมด และใช้ 22" ปรับระนาบไม้ให้เรียบสนิททั้งหน้ากระดาน


หมดวัน...
เราได้ไม้มา 4 จาก 10 ชิ้น ลายพร้อยๆ เหลือบๆ


อดใจไม่ไหว หากอยากเห็นลายไม้เมื่อทำสำเร็จ ให้เอาน้ำเช็ดๆหน้าไม้ ส่องกับแดด


ผมยังไม่ได้เก็บหมดจดนะครับ...เรียบประมาณ 90% เพราะต้องดูความหนาไม้ของทุกๆแผ่นก่อน ว่าแผ่นใดบางสุด เราก็ต้องปรับความหนาแผ่นอื่นๆ ให้ลดลงมาตามแผ่นที่บางสุด
และนั่นจะเป็นสเปคความหนาของหีบครับ

ย้อนขั้นตอนกลับขึ้นไป...
จริงๆแล้ว เราได้กำหนดความหนาหีบไว้ที่ 1/2" ก่อนแล้วครับ
แต่ข้อจำกัดคือ เราได้ไม้หนา 1 1/8" มาตั้งแต่ทีแรก เมื่อไสปรับ 4 หน้า รวมถึงคลองเลื่อยจากการผ่า ก็คงจะได้ไม่เต็ม 1/2" เป๊ะ อาจจะจบที่ 3/8 หรือ 7/16 ครับ เดี๋ยวดูกันอีกที

แรงที่หมดไป ได้กองขี้กบไม้ฟูๆ
ระหว่างนี้ เราจะเตรียมไม้แผ่นที่เหลือให้ครบ แล้วมาเล่าให้ฟังกันต่อครับ