Wednesday, December 31, 2014

Pandora 04 อินเลย์ ข้าวหลามตัด (Inlay Diamond)

ตอนนี้ เราจะทำลายประดับฝากล่อง จึงคิดจะลองนำไม้วีเนียร์มาใช้งาน ตัดและต่อกันเป็นรูป ลายเก๋ๆ


เราวัดขนาดฝากล่อง และนำไปวาดใน Google SketchUp เพื่อกะขนาดของข้าวหลามตัด ให้มันได้ขนาดลงตัวพอดีกับขอบกล่อง จากนั้น จึงพิมพ์ออกมา และติดกับแผ่นวีเนียร์ เพื่อตัด

การตัดวีเนียร์ เราใช้คัตเตอร์ กดไม่ต้องแรงนะครับ แต่ลากหลายๆครั้ง เดี๋ยวจะขาดเอง

เมื่อตัดแนวแรกแล้ว ก็นำมาเรียงต่อกันอีกที เพื่อตัดแนวที่สอง

ทำแบบนี้ไปสักพัก จะได้ชิ้นวีเนียร์รูปข้าวหลามตัด

ทดลองนำมาวางเรียงๆกัน

และเทียบสีบนฝากล่อง

ตัดเก็บไปเรื่อยๆ

จังหวะที่จะเรียงจริงๆ เราใช้เทปกาวแปะรอไว้ แล้วค่อยๆเรียงชิ้นข้าวหลามตัดลงไปทีละชิ้นๆ
เน้นต้องวางและดันให้ชิดๆกัน เบียดๆกัน เพื่อให้ลายไม้ต่อกัน ไม่มีช่องโหว่

เรียงไปสัก 30 นาที

เมื่อเรียงเสร็จหมด เราก็นำแผ่นดังกล่าว ทากาว และแปะบนฝาไม้ ทาบด้วยไม้เรียบๆ ทิ้งไว้ 1 คืน

วันรุ่งขึ้นจึงนำกระดาษทรายสีขาว มาขัดๆ ลบคม ขอบวีเนียร์ตามรอยต่อทั้งหมด
รวมทั้งเก็บซ่อม เศษ หรือมุมวีเนียร์ที่หลุดๆ ร่อนๆออกมา

ใช้แปรงปัดๆเศษฝุ่นจากกระดาษทราย

ตอนหน้า เราจะทำเคลือบผิวครับ

Saturday, November 8, 2014

ผ่าไม้บาง, ชิ้นเล็ก ด้วยเลื่อยวงเดือน เรียกใครช่วยที..



เรื่องมีอยู่ว่า เรากำลังทำกรอบรูป โดยใช้เดือยไม้ชนกันธรรมดา ซึ่งช่างไม้ จะมีเดือยสำหรับงานชน 45 องศา ให้เลือกในเบื้องต้นอยู่ 5 แบบ ดังรูป


การเลือกเดือยในแต่ละแบบ ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงานที่จะนำมาชนกัน
จะเห็นว่า เดือยรูปบนสุด 2 แบบ เหมาะกับงานกรอบรูป
ในขณะที่เดือยที่เหลืออีก 3 แบบ จะเหมาะกับงานทำกล่อง เพราะมีผนังกล่องที่สูง

โจทย์วันนี้ คือ เรากำลังทำกรอบรูปครับ และผมเลือกเดือยอันขวาบนสุด

ภาษาฝรั่งเขาเรียกเดือยชน 45 องศาว่า เดือยไมเตอร์ (miter joint)
และเรียกลิ่มไม้ที่ใส่เข้าไปว่า ลิ่มไมเตอร์ (miter key ผมขอแปลตรงๆนะครับ ส่วนเดือยอันล่างสุด จะเห็นเป็นรูปผีเสื้อ เขาเรียกว่า เดือยผีเสื้อ)

หลายๆท่าน อาจจะคุ้นเคยกับการทำลิ่มในมุม 45 องศา ด้วยการใช้เครื่องเซาะร่องบิสกิต (biscuit joitner)

ความแตกต่าง ของการทำเดือยไมเตอร์+ลิ่มไมเตอร์ กับการใช้เครื่องเซาะร่องบิสกิต แตกต่างกันนะครับ

1) ในสมัยก่อน การประกอบ เดือยไมเตอร์+ลิ่มไมเตอร์ เราจะทากาว และชนไม้กันก่อน เมื่อกาวแห้ง จึงจะตัดไม้ให้เป็นร่อง แล้วจึงจะยัดลิ่มไมเตอร์เข้าไป เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับเดือย
วิธีนี้ ระหว่างที่ทากาวประกอบ 45 จึงต้องมีจิ๊กที่บีบไม้ และรักษาระนาบไม้ไว้ด้วย มิฉะนั้น ชิ้นงานที่ชนกัน อาจจะเคลื่อน ปลิ้นไปมา ระหว่างที่กาวยังไม่แห้ง

2) ในขณะที่สมัยใหม่ เราจะใช้เครื่องเซาะร่องบิสกิตก่อน แล้วจะใส่เดือยบิสกิต ทากาว และชน 45 ไปพร้อมๆกันหมด ซึ่งจะช่วยการจัดระนาบของชิ้นงานทั้งสองชิ้นขณะรอกาวแห้ง ชิ้นงานจะไม่ปลิ้นหรือดิ้นไปมา เพราะโดนบิสกิตล็อคระนาบไม้ไว้

วิธีการที่ 2 จึงสะดวกกว่าครับ แต่ต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องเซาะร่องบิสกิต (เฉียดๆหมื่นบาท)
และซื้อเดือยบิสกิต (ชิ้นละประมาณ 2-3 บาท) มุมที่ได้จะสวยงาม ดูเหมือนชนกันธรรมดา
ข้อจำกัดอย่างเดียว ของการใช้เดือยสำเร็จรูป ก็คือ ขนาด ครับ
หากเราต้องการใช้เดือยกับชิ้นงานขนาดเล็ก ตัวบิสกิตเอง อาจจะกว้าง หรือหนาเกิน ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ ถึงจุดนั้น ก็ต้องทำเดือยมือด้วยตนเองครับ

กรอบรูปของผม ก็เข้าเงื่อนไขนี้....เดือยบิสกิตมันกว้าง และหนาเกินขนาดกรอบรูป!!

การทำร่อง ไม่ยากครับ จะเลือกใช้เลื่อยมือ หรือเลื่อยมอเตอร์ ก็ได้
แต่ต้องทำลิ่มให้หนาใกล้เคียงกับคลองเลื่อยด้วย

ช็อปผม มีเลื่อยญี่ปุ่น ซึ่งคลองเลื่อยบางๆ ก็ใช้งานได้ดีละครับ แต่งานนี้ มันลำบากต้องมาทำเดือยบางๆให้ใกล้เคียงกับคลองเลื่อย ก็เลยเลือกใช้เลื่อยวงเดือยผ่ามุม 45

ใบเลื่อยวงเดือยของผม มีคลองเลื่อย 2.3-2.5 มม. (แล้วแต่ตอนส่งตัด มือนิ่งแค่ไหน)
ก็เลยต้องทำเดือยบางแถวๆ 2.3-2.5 มม. เช่นกัน

ลิ่ม 1 ชิ้น มีขนาด กว้างประมาณ 1" ยาว 5 1/2" และหนาไม่เกิน 2.5 มม. ดังรูป


การจะตัดไม้บางขนาดนี้ ด้วยเลือยวงเดือย เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากครับ
เลือยยี่ห้ออะไร จะแพงหรือถูก ก็ไม่เกี่ยวกันแล้วครับ...สำคัญที่เราจะส่งชิ้นงานเข้าตัดอย่างไร ให้ปลอดภัยกับตัวเราต่างหาก

เล่ากันมานาน ก็เลยเป็นที่มาของบทความวันนี้...

ตัดอย่างไรดี จะใช้อะไรมาช่วยทำงาน??

เบสิคสุดๆ ก็ใช้กะบะตัดขวาง (cross cut sled) ครับ
และหาอุปกรณ์เสริมเฉพาะกิจ ดังรูป


มองเข้าไปในรูป อุปกรณ์สเริมเป็นท่อนไม้สองท่อน ฝั่งซ้ายมือนะครับ ส่วนชิ้นงานไม้สักอยู่ขวามือ


ไม้ชิ้นบน หนีบไว้กับกะบะ ล็อคตำแหน่ง
ไม้ชิ้นล่าง สามารถเอามือเลื่อนไปมาได้ เพื่อให้เป็นตัวชนระยะ กับชิ้นงานจริง
หลักการ จึงเสมือนว่า เราทำตัวชนไม้ 2 จังหวะครับ

แล้วทำไมต้อง 2 จังหวะ?

คืองี้ครับ ปกติ ช่างไม้ เราก็ชนไม้ทีเดียวครับ
แต่ในขณะที่เราส่งชิ้นงานเข้ากับเลื่อยวงเดือน ชิ้นงานบางๆของเรา จะโดนบีบทั้งทางด้านซ้ายและขวา (ด้านนึงคือใบเลื่อย และอีกด้านคือตัวชน ยันไว้) ชิ้นงานที่เบา และอยู่ใกล้ๆใบเลื่อยที่หมุนเป็นพันรอบต่อนาที มันมีแววจะปลิวเข้าตัวครับ (kick back)

เราเลยใช้ตัวชนอีกตัว มาชนเพื่อล็อคระยะเท่านั้น
เมื่อได้ระยะ ก็เลื่อนตัวชนออก และส่งชิ้นงานเข้าตัด
ชิ้นงาน ก็จะไม่โดนบีบ
ตัดเสร็จ ไม้บางๆ จะล้ม เราก็ถอยกะบะ แล้วจึงหยิบชิ้นงานออก

ไอเดียนี้ ผมไม่ได้คิดเองนะครับ แต่ทึ่งมาจาก คุณสตีฟ ลัตต้า (Steve Latta) เจ้าพ่อทำงานอินเลย์ครับ

เริ่มกันเลย
**ผมเอาไม้บางๆ วางทับไว้ด้านบน บริเวณใกล้ๆใบเลื่อยนะครับ เพื่อให้เห็นความบางที่จะตัด เวลาทำงานจริงๆ ไม่ต้องมีชิ้นนี้ครับ
** ผมไม่ได้เปิดเครื่องนะครับ จึงเข็นกะบะทาบกับใบเลื่อย เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า จะตัดบริเวณใด
ตอนทำงานจริงๆ เราจะเซ็ตขั้นตอน 1 ก่อนเข็นกะบะครับ

** ขั้นตอนนี้ ถ่ายติดรูปใบเลื่อยเพื่อเปรียบเทียบเช่นกันครับ ตอนทำงานก็ยังไม่ได้เข็นกะบะ

รูปที่ 3 นี้ คือ ขณะส่งชิ้นงานเข้าตัด
ชิ้นงานบาง จะล้มลง ไม่ติดกับตัวชนใดๆ
**กรณีที่ชิ้นงานเล็กกว่านี้มากๆ เขาจะต่อท่อยางมาจ่อที่ชิ้นงาน แล้วเอาปากเป่าให้ชิ้นงานปลิวไปทางขวามือครับ

รูปที่ 4 คือ เราถอยกะบะให้พ้นจากใบเลื่อย
แล้วจึงหยิบชิ้นงานออก
จากนั้น ก็เซ็ตรั้วชน และตั้งระยะชิ้นงานใหม่อีกครั้ง
เมื่อพร้อม ก็ถอยรั้วชน และส่งชิ้นงานเข้าตัด


เมื่อทำงานแบบ 4 ขั้นตอน ไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง เราก็จะได้ไม้แผ่นบางๆ ไม่เกิน 2.5 มม.มาสำหรับทำลิ่มครับ

จากนั้น เราก็ทากาว และนำไปยัดลงในร่องมุม 45 องศาของกรอบรูป



ยัดไปเรื่อยๆ กรอบนึง มี 4 ลิ่ม ทั้งหมด 10 กรอบ ก็ 40 ลิ่ม!!!


ผ่านไปหนึ่งบ่าย กาวแห้ง ก็ตัดแต่งเดือย และไสเก็บ
ได้ม็อกซอน (moxon vise) มาช่วยเหมือนทุกที


เสร็จวัน ได้กรอบรูป 10 กรอบ

ยังเหลือ การไสเรียบเก็บงาน ด้านหน้า/หลังของกรอบรูปนะครับ ซึ่งก็ไสธรรมดาให้เรียบเนียน

**หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า มุมเดือยของผม เป็นรอยหยัก นิดนึง รูปตัว V
มันคือรอยฟันของใบเลื่อยวงเดือนครับ
ซึ่งจะไม่มีรอยนี้ ต้องเปลี่ยนไปใช้ใบเลื่อยสำหรับการตัดผ่าไม้ (rip cut blade) จึงจะได้ร่องที่พื้นเรียบ
(ผมไม่ได้ซื้อใบประเภทนี้ไว้)

วิธีการใช้เลื่อยมอเตอร์ อันตรายอย่างมากนะครับ

มีเลื่อยถูก เลื่อยแพง เป็นเรื่องนึง
ใช้เลื่อยให้ปลอดภัย เป็นอีกเรื่องครับ

หากท่านใดสงสัย ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ผมยินดีตอบคำถาม เพื่อช่วยกันรักษาความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักรครับ
มีโอกาส จะขอเล่าเรื่องความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักรงานไม้อีกบทความนึงครับ

Monday, October 13, 2014

รายการอุปกรณ์กลุ่มแฮนด์ทูล

อ้างอิงจากบทความ
http://www.popularwoodworking.com/tools/tools_for_woodwork


ในภาพ แสดงกลุ่มเครื่องมือที่ช่างไม้โบราณใช้งานกันเป็นประจำ
หลายๆชิ้น ช่างไม้ไทยเราไม่ได้ใช้นะครับ แต่ในต่างประเทศที่เขาทำเฟอร์นิเจอร์ไม้มาเนิ่นนานกว่าเรา เขาพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ดังแสดงในรูป

อ้อ กลุ่มเครื่องมือดังกล่าว เป็นกลุ่มเครื่องมือสำหรับงานไม้เฟอร์นิเจอร์นะครับ
ในกลุ่มงานไม้อื่นๆ เช่น ทำเก้าอี้ กีตาร์ ต่อเรือ งานแกะสลัก ก็จะมีเครื่องมือเฉพาะทางมากมาย แตกแขนงออกไป (ยังไม่รวมไว้ในภาพครับ)

ทุกๆชิ้นในภาพ ยังมีการใช้งานอยู่จริงๆในทุกวันนี้นะครับ และหลายๆชิ้น ยังทำงานให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่าอุปกรณ์ไฟ้ฟ้าไฮเทคซะอีก

ผมขอแปลออกมาเป็นรายการ (บางชื่อหาชื่อไทยไม่ได้ ขอทับศัพท์ครับ)

อุปกรณ์พื้นฐาน
1) เลื่อยลันดา 22" (สำหรับตัดขวางทางไม้, Cross Cut Hand saw 22") ใช้สำหรับตัดไม้ชิ้นยาวๆ ให้เป็นชิ้นใกล้เคียงขนาดใช้จริง

2) เลื่อยลอ 10" (สำหรับตัดขวางทางไม้, Backsaw 10") ใช้สำหรับตัดชิ้นงานขนาดกลาง และเล็ก เช่น เก๊ะ

3) เลื่อยลอ 8" (สำหรับตัดตามทางไม้, Dovetail saw) ใช้สำหรับตัดตามทางไม้ ตอนทำเดือยเหลี่ยม หรือเดือยหางเหยี่ยว จะมีขนาดฟันที่ 15 ฟันต่อนิ้ว (บ้านเราเรียกเลื่อยขนาดกลางว่า เลื่อยลอทั้งหมด แต่ฝรั่งเขาจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เพราะใช้งานแตกต่างกันครับ เอามาใช้แทนกัน จะไม่มีประสิทธิภาพ)

7) กบล้าง 14" (Jack plane)

8) กบล้าง 18" (Fore plane) ใช้สำหรับไสด้านตามทางยาวของไม้ (ซึ่งจะใช้กบ 22" ก็ได้)

9) กบผิว 10" (Smoothing plane)

15) สิ่วทั่วไป หน้า 1/4", 3/4" (Firmer chisel) สันสิ่วจะหนาปกติ ใช้สำหรับขุดเจาะทั่วๆไป

18) ค้อนแวร์ริงตั้น (Warrington hammer) ใช้สำหรับตอกตะปู

20) ตัวส่งตะปู (Nail punch) ใช้สำหรับตอกส่งหัวตะปูเข้าไปในผิวไม้ เพื่อให้ผิวไม้ราบเรียบ ไม่สะดุดหัวตะปู

21) ค้อนไม้ (Mallet 5") ใช้สำหรับตอกสิ่ว

22) คีมปากนกแก้ว (Pincer) ใช้สำหรับดึงถอนตะปู

23, 24) ไขควงปากแบน 3", 8" (Screw driver คนไทยบางท่านเรียก สกรูไร) นอกจากไขควงปากแบน ก็มีไขควงสี่แฉก หรือฝรั่งเรียก ไขควงฟิลิป (Phillips screw driver, Square driver)

25) ขอขีด (Cutting gauge) มีดเป็นมีดแบน ใช้สำหรับขีด ร่างเส้นบนผิวไม้

28) สว่านข้อเสือ (Ratcheting brace 8") เป็นสว่านยุคแรกเริ่ม ก่อนที่เราจะมีสว่านไฟฟ้าดังทุกวันนี้

29) ดอกสว่าน 3/8" (Auger bit 3/8") ดอกสว่านทั่วๆไป

30) ดอกสว่านเกสร (Twist, brad point bit) ใช้สำหรับเจาะงานไม้โดยเฉพาะ จะได้รูที่ขอบกลม สวย

31) ดอกสว่านเม็ดมะยม, ดอกผายปากรู (Countersink bit) ใช้สำหรับผายปากรู

32) ดอกขูดตาไม้, ดอกเจาะบานพับถ้วย (Center bit, Frostner bit) ใช้สำหรับเจาะรูใหญ่ๆ หรือเจาะรูที่ต้องการก้นเรียบ ไม่ทะลุ หรือใช้เจาะตาไม้ทิ้ง

33) เหล็กแหลม (Brad awl) ใช้มาร์กตำแหน่ง สำหรับเตรียมเจาะรู หรือใช้แทงนำ ก่อนที่จะยิงน็อต

34) ฉากตาย 6" (Try square 6")

41) แผ่นขูดไม้ (Card scraper) ใช้เก็บงานสุดท้าย ขูดไม้บางๆให้เรียบ โดยเฉพาะพื้นผิวที่เป็นลายวนไปมา

42) หินลับมีด (Oil stone/Water stone) มีทั้งแบบหินน้ำมัน หรือหินน้ำปกติ ใช้ลับมีด ใบกบ สิ่ว

43) ไม้บรรทัดพับ (Folding rule, tape measure) ใช้สำหรับวัดความยาว ปัจจุบันนี้ นิยมใช้ตลับเมตรแทน

อุปกรณ์เสริม
4) เลื่อยอก (Bow saw 12") ใช้สำหรับเลื่อยโค้งๆ หรือเลื่อยไม้ชิ้นที่หนามากๆ

53) เลื่อยหางหนู (Keyhole saw) เหมาะสำหรับเลื่อยรูกุญแจ หรือเลื่อยเจาะลงไปในรูเล็กๆ

54) เลื่อยฉลุ (Coping saw) อันนี้ผมไม่แน่ใจว่า คนไทยเรียกว่าอะไร แต่พวกร้านค้าจะเรียกเลื่อยฉลุ ซึ่งจะมีอีกไซส์อันเล็กๆ สำหรับเลื่อยกรอบพระ (Fret saw)

11) กบบูลล์โนส (Bull nose plane) กบนี้ ช่างไทยไม่มีครับ...มันเป็นกบที่มีดอยู่ด้านหน้าสุดเลย ใช้สำหรับเก็บงานในซอกมุม เพราะใบมีดจะชนกับผนังได้เลย เข้าถึงซอกมุมได้ดี ส่วนช่างไทยเราใช้สิ่วเก็บ

56) กบกระดี่ (Shoulder plane) เป็นกบที่ไม่มีด้านข้าง เหมาะกับการไสเก็บมุมตามทางยาว จะไสตามทางไม้ หรือขวางทางไม้ก็ได้ เช่น ไสเก็บบังใบ

55) กบโค้ง (Compass plane) ท้องกบจะโค้งๆ ช่างไทยก็มีครับ ใช้เก็บขอบโค้งประตู

12) กบเซาะร่องกระจก (Rabbet plane) ใช้เซาะร่องตามทางยาว จะทำเดือย หรือใส่บานกระจก ก็ได้

13) กบใบตั้ง (Toothing plane) ทำหน้าที่เหมือนแผ่นขูด ใบจะตั้งชันมาก 85-90 องศา ใช้สำหรับเก็บผิว ก่อนที่จะแปะแผ่นวีเนียร์

10) กบเดือยร่อง (Plow plane) เป็นกบทำเดือยตัวผู้ ใช้คู่กับกบเซาะร่องกระจก ซึ่งทำเดือยตัวเมีย

16) สิ่วแพร์ (Pairing chisel) จะเป็นสิ่วด้ามยาว ใช้สำหรับปรับหน้าเรียบ ในเดือยร่องกระจก หรือจะใช้ขูดผิวเดือยให้เรียบก็ได้

17) สิ่วน่อง สิ่งบ้อง (Mortise chisel) เป็นสิ่วหนา ใช้สำหรับทำเดือยเหลี่ยม รับแรงตอกได้ดีมาก

19) ค้อนเล็ก (Pattern maker's maker) เป็นค้อนหัวเล็ก ใช้สำหรับตอกหมุด ย้ำตำแหน่ง หรืองานที่ตอกไม่แรงมาก

26) ขอขีด (Marking gauge) ใบมีดแบบเข็ม ใช้ร่างแบบ ขีดเส้น

27) ขอขีดเดือยเหลี่ยม (Mortise gauge) จะมีใบมีด 2 ใบ เวลาร่างเส้น จะได้เส้นคู่เลย...ใช้ร่างตีเส้นตอนทำเดือยเหลี่ยม

44) กบผีเสื้อ (Spokeshave) ใช้ลบเหลี่ยม ลบมุม งานผิวโค้ง

47) บาร์แคลป์ (Bar clamp, Sash clamp) ใช้หนีบจับชิ้นงานใหญ่ๆ ยาวๆ

49) แคลป์ตัวซี (C-Clamp) ใช้หนีบจับงาน...ด้วยโครงสร้างตัวซี ทำให้มีแรงบีบอัดมาก

48) แคลป์สกรู (Hand screw clamp) เป็นแคลป์สำหรับงานไม้โดยเฉพาะ ใช้ประโยชน์ได้มากมาย มีหลายอย่างที่แคลป์ตัวเอฟทำไม่ได้ ก็ต้องใช้แคลป์สกรูตัวนี้ครับ

35) ฉากตาย หรือฉากผสม ขนาด 12" (Try Square, Combination Square 12")

37) ฉากตาย 45 องศา (Miter square)

38) ฉากเป็น (Sliding bevel)

45) สิ่วเล็บมือ สิ่วโค้ง (Gouge) ใช้ตอก ขุดไม้ทิ้ง

58) บุ้ง (Subform tool) ทำหน้าที่คล้ายๆบุ้ง แต่เป็นด้ามจับ และมีแผ่นเหล็กขูดๆ สำหรับขูด/เหลาเนื้อไม้ออก เช้น ตอนเริ่มขึ้นรูป ทำขาเก้าอี้โค้งๆ

57) กบเราท์เตอร์ (Router plane) ใช้เซาะร่อง, ทำพื้นร่องให้เรียบ หรือเซาะร่องบานพับประตู ปัจจุบับคือ เราท์เตอร์ไฟฟ้า หรือทริมเมอร์

61) วงเวียน (Divider) เป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับการแบ่งมุม การร่างเดือยหางเหยี่ยว การวาดรูปเรขาคณิต

อุปกรณ์ทำเพิ่ม หรือจิ๊กจำเป็น
5) จิ๊ก 45 (Miter block)

6) จิ๊กตัด 45 (Miter box) เป็นกล่อง สำหรับใช้คู่กับเลื่อย เพื่อตัดไม้ 45 องศา

14) กระดานไสฉาก 36" (Shooting board 36") ใช้คู่กับกบไสไม้ เพื่อไสขอบไม้ หัวไม้

39) ไม้บรรทัดตรง (Straight edge) ใช้สำหรับวัดความตรงของผิวระนาบ

36) ฉากใหญ่ 24" (Square 24") ใช้สำหรับวัดฉากงานชิ้นใหญ่ เช่น ตู้ โต๊ะ

40) ไม้เล็งระนาบ (Winding stick) ใช้สำหรับดูการบิด แอ่น ของชิ้นไม้

42) ฐานสำหรับวางหินลับมีด (Oil stone case) ใช้วางหินลับมีด ไม่ให้หินเลื่อนไปมา ขณะที่เรานั่งลับมีด

50) ค้อนวีเนียร์ (Veneer hammer) ใช้สำหรับขูด รีด แผ่นวีเนียร์ ให้ติดเรียบกับแผ่นไม้

46) ฮุคเกี่ยว (Bench hook) ใช้เกี่ยวกับโต๊ะช่างไม้ เวลาจะตัดไม้ หรือใช้แทนกระดานไสฉากได้ในบางครั้ง

59) Scratch stock จะมีใบมีดเป็นรูปทรงต่างๆ ใช้สำหรับขีดไปตามทางไม้ เพื่อทำเส้นคิ้ว บัว
แต่จะไม่เหมือนกบทำบัวซะทีเดียว

60) จิ๊ก 45 (Miter template) ใช้คู่กับการจรดวางหน้าสิ่ว ตอนจะเซาะ 45 องศา

Sunday, October 5, 2014

ท็อปเคาน์เตอร์ และรั้ว จากร้านกาแฟ Bacio ถนนเลียบคลองประปา

โครงการนี้ เป็นโครงการสั้นๆ ทำท็อปเคาน์เตอร์สำหรับร้านกาแฟ
ไม้ที่ใช้ เป็นไม้มะค่าอายุมากกว่า 70 ปี เคยเป็นพื้นบ้านของเจ้าของร้านกาแฟเลยครับ
ได้เอามาแปรรูปทำเป็นท็อปโต๊ะกาแฟไป 4 ชิ้น ส่วนที่เหลืออยู่ ก็นำมาทำท็อปเคาน์เตอร์

สภาพเดิมๆ ดังรูป
ด้านที่เป็นพื้นจริงๆ รอยขีดข่วนเยอะมาก หากจะใช้ด้านนั้น ก็ต้องไสไม้ออกไปเยอะมาก เพื่อลดรอยขีดข่วนให้มากที่สุด

จากรูป คืออีกด้านนึง ซึ่งก็มีคราบน้ำ คราบราแห้งๆ
ก็ไสเปิดดูครับ ของดีๆอาจจะอยู่ฝั่งนี้

เป็นดังที่คิดไว้...
ไม้จริง ผ่านไปนาน ก็ยังนำมาใช้ใหม่ได้ และเนื้อในสภาพดี ยังคงความแข็งแรง


ส่วนของตาไม้ ที่หลุดไปบ้างแล้ว เราจะปล่อยไว้แบบนั้นก็ได้ ซึ่งใช้ๆไป อาจจะหลุดเพิ่มอีก
อย่ากระนั้นเลย ปะเลยแล้วกัน

เริ่มจากใช้ดอกชนิดพิเศษ เรียกว่า ดอกฟอสเน่อร์ (frostner bit) หรือไทยเราจะเรียกว่า ดอกขูดตาไม้
แต่ช่างทั่วๆไป รวมถึงร้านค้า จะเรียกว่า ดอกเจาะบานพับถ้วย
เนื่องจาก เราใช้ดอกทรงนี้ สำหรับเจาะหน้าบานตู้ เพื่อติดตั้งบานพับถ้วยนั่นเอง
แต่ดอกเจาะบานพับถ้วย จะมีขายเฉพาะขนาด 25, 35 มม. เท่านั้น เพราะเป็นขนาดมาตรฐานของบานพับถ้วย ที่ใช้กันในวงการ

ดอกขนาดพิเศษๆ จึงต้องสั่งจากเมืองนอกครับ
อย่างในกรณีนี้ เราใช้ขนาดใหญ่สุดที่หาได้ คือ 2 1/8" เจาะปั่นลงไปทีเดียว


จากนั้น ก็เลือกไม้จากชิ้นเดียวกัน มาแปะอุดรูนี้ไว้

เลื่อยสายพานยังไม่เสร็จ ก็ใช้เลื่อยฉลุนี่ล่ะครับ อึดๆหน่อย
วงไม่ค่อยกลม เราก็ใช้กระดาษทรายช่วยๆขัดๆแต่งๆ

ส่วนที่นูนสูง หากใช้กบ จะใช้เวลาค่อนข้างนาน
จึงลดโหลดด้วยเลื่อยญี่ปุ่น ฟันขาดไปก่อนเลย


เหลือตื้นๆแบบนี้ ค่อยใช้กบลุยต่อ


ไสให้เรียบเสมอกัน พบว่า สีโดดมากครับ
จริงๆ หากเราจะย้อมสีทั้งหน้ากระดาน ก็สามารถทำได้ครับ สีหน้าไม้ก็จะดูสม่ำเสมอกัน


เมื่อไส 2 แผ่น และทำเดือยร่อง เพื่อเสียบประกอบกัน จึงได้ดังรูป
หัวมุมโค้งๆ ก็ใช้เลื่อยฉลุอึดๆ ตัดครับ
(จะใช้กลุ่ม power tool อื่นๆ เช่น เลื่อยจิ๊กซอว์ก็ได้ หรือถ้าเดินเราท์เตอร์ ต้องทำจิ๊กวุ่นวายครับ)

ส่วนของรั้วอีกชิ้น ก็ไส และทำเดือยหางเหยี่ยว
ไม้ชิ้นยาวมาก ได้ moxxon vise มาช่วย ทำให้สามารถไสทางยาวๆได้

มะค่าลายเสือ...อย่างหรูครับ



ทำเสร็จ นำไปติดตั้งที่ร้านกาแฟ ฺBacio อยู่ตรงถนนเลียบคลองประปา ใกล้ๆกับถ.สรงประภาครับ
กาแฟและขนมอร่อยมากครับ (https://www.facebook.com/CaffeBacio)

ในภาพ เราติดตั้งโดยใช้เหล็กฉากตัว L ยึดไม้ไว้กับพื้นปูน
สีไม้เข้มๆ เราใช้น้ำมันเช็ดไม้ จากอิเกียครับ ขายขวดละ 200 บาท เกรดอาหาร
นั่นคือ สามารถใช้น้ำมันนี้ เช็ดกับชิ้นงานไม้ในวงการอาหารได้ (เช่น ชามสลัดไม้ ทัพพีไม้ เขียงไม้)

ไม้จริง เช็ดน้ำมันออกมา จะสวยแบบนี้ละครับ
ไม่ต้องไปพ่น ไปขัดกระดาษทราย โป้วสีอะไรให้ติดกลิ่น

ใช้ไปนานๆ รอยขีดข่วนเยอะ ก็ไสบางๆออกสักที แล้วก็เช็ดน้ำมันใหม่
เฟอร์ไม้จริง คลาสิคเสมอครับ

สุดท้ายนี้ ขอบคุณร้านกาแฟ Bacio ที่ให้โอกาสได้แสดงฝีมือครับ

Sunday, April 20, 2014

ตกแต่งชิ้นงานด้วยแบนดิ้ง (Banding Inlay)

แบนดิ้งคืออะไร (Banding Inlay)
 แบนดิ้ง คือศิลปะการตกแต่งชิ้นงานไม้จากทางชาติตะวันตก โดยการนำไม้หลายๆชนิด หลายสี มาสลับลาย สลับสี จากนั้นเราจะเซาะร่องชิ้นงานที่ต้องการตกแต่ง และฝังแบนดิ้งลงไป
 แบนดิ้งเป็นการตกแต่งประเภทเดียวกันกับการทำอินเลย์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝังลายมุก (Perl Inlay) การฝังชิ้นโลหะ (Metal Inlay) คำว่า แบนดิ้ง จะหมายถึง การตกแต่งรูปทรงทางยาวๆเท่านั้น
  หลายๆท่าน เป็นรูปแล้วร้องอ๋อ เพราะสามารถซื้อแบนดิ้งแถบๆแบบนี้ได้ที่บางโพ ขายเป็นเส้น ยาวประมาณ 1 เมตร ราคาหลักร้อย ลายที่ยากๆก็จะแพงขึ้นไปอีก เพราะทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ


  การตกแต่งแบนดิ้ง ต้องดูภาพรวมของเฟอร์นิเจอร์ด้วย เพราะแบนดิ้งเป็นที่นิยมในเฟอร์นิเจอร์ยุคนึงของอเมริกา มักนิยมฝังไว้ที่โต๊ะ วิ่งเป็นเส้นเล็กๆตามขอบโต๊ะ ขอบขาโต๊ะ การนำแบนดิ้งเข้ามาผสมผสานกับชิ้นงาน ไม่มากไป ไม่น้อยไป และการต่อลายแบนดิ้ง การจบลาย จึงนับเป็นศิลปะขั้นสูงทีเดียว

  บทความนี้ เราจะทำแบนดิ้งใช้เองครับ เราสามารถออกแบบลาย, ความกว้าง และความหนา ตามที่เราต้องการ เพื่อให้สามารถสอดรับกับแบบชิ้นงานที่เราเตรียมไว้ได้

ลุยเลยดีกว่า...

ตอนที่สร้างแคลป์ Moxxon ผมได้เซาะร่องหน้าแคลป์ไว้ กะว่าจะทำแบนดิ้งตกแต่งสักหน่อย วิ่งเป็นเส้นเล็กๆ ยาวไปตลอดหน้าแคลป์
จากรูป ส่วนที่เราเซาะร่องไว้ประมาณ 6 มม. เป็นเส้นเล็กๆวิ่งทั้งซ้ายและขวา คือจุดที่เราจะตกแต่งด้วยแบนดิ้ง


และนี่คือ เมื่อตกแต่งแล้ว

ตอนที่ออกแบบ กะทำลายแบนดิ้ง ดำขาวดำ วิ่งสลับกัน โดยมีช่วงหยุด ซ้ำช่องขาวสักหน่อย

หากไม่ทราบมาก่อน หลายๆท่านอาจจะคิดว่า คงตัดไม้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ เหมือนโมเสก แล้วไล่ติดทีละชิ้นไปเรื่อยๆ
แต่จริงๆ มีวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั้นครับ...

วัสดุที่จะใช้ตัดเส้น ผมเลือกใช้วีเนียร์ไม้สัก หนา 0.6มม. กว้าง 2 นิ้ว (หาซื้อได้ทั่วไปที่บางโพ)
ส่วนลายแบนดิ้ง ดำขาวดำ ผมใช้ไม้วอลนัทแทนสีเข้ม ไม้เมเปิ้ลแทนสีอ่อน
คำนวณถอยหลังกลับมา เราจึงต้องเตรียมไม้แผ่นบาง 4.8 มม. สำหรับช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆแต่ละช่อง



เราเตรียมไม้ท่อนใหญ่ด้วยกบไสไม้ ไสเรียบ
จากนั้น นำเข้าเลื่อยวงเดือน ตัดสไลด์ออกเป็นแผ่นบาง 4.8มม.

ทากาวทุกแผ่น ประกบซ้อนสลับสีกันกัน (เรียกว่า ลามิเนต- laminate)

ผมทำกล่องแม่พิมพ์จาก MDF เป็นกล่องทรงยาวๆ หน้าตัดรูปตัว U
ทำหน้าทีบีบแผ่นไม้ให้อยู่ในทรง ไม่ดิ้นไปมา ดังในรูป


ทิ้งไว้ 1-2 คืน จึงแกะออกจากแม่พิมพ์

ตามสภาพ กาวแห้งเขรอะๆ ก็ต้องไสปรับทั้ง 4 ด้าน





ในขั้นตอนการทำแบนดิ้ง เราต้องละเอียดทุกขั้นตอน ไสก็ต้องเรียบ ต้องฉาก ปล่อยนิดหน่อยไปไม่ได้หากเราละเลยไปจนถึงตอนสุดท้ายแล้ว ความไม่เรียบร้อย ลายไม้ต่อกันไม่สนิท จะฟ้องออกมาทั้งหมด และแก้ไขไม่ได้ครับ...ต้องทิ้งและทำใหม่เท่านั้น

จากนั้น เราจะตัดขวางท่อนไม้สลับสีชิ้นนี้ (cross cut) ให้มีความกว้าง 4.8มม. เช่นกัน

จะเลือกใช้เลื่อยวงเดือน+กะบะตัดขวาง ตั้งจิ๊กชนทำระยะก็ได้นะครับ เลื่อยวงเดือนมีคลองเลื่อย 2.5มม. การตัดขวางทุกครั้ง จึงจะเสียเนื้อไม้ตามคลองเลื่อยเสมอ

ช่วงนี้สงกรานต์ครับ วันหยุด ไม่ควรส่งเสียงดัง ผมเลยเลือกใช้เลื่อยญี่ปุ่น ตัดด้วยมือนี่ละครับ

จิ๊กตัด 90 ตัวนี้ ก็ทำขึ้นมาใหม่ ใช้ระบบแม่เหล็กดูดๆเหมือนเคย
ไม้ชิ้นทางขวา เป็นตัวชน สำหรับวัดระยะให้ชิ้นลามิเนต พ้นออกมา 4.8มม. (อย่าลืม หักลบคลองเลื่อยไปด้วย)
เอาเวอร์เนียแตะชนเบาๆ วัดระยะห่างจากคลองเลื่อยออกมา 4.8มม. แล้วล็อคชิ้นงาน เตรียมตัด


สภาพชิ้นงานที่ถูกตัดออก

ลองวัดชิ้นงาน เช็คความถูกต้อง

ผมลองตัดอยู่หลายครั้ง ปรับจิ๊ก ปรับตัวชน และมั่นวัดบ่อยๆ
ไม่ต้องไปหวังว่าจะตัดได้ 4.8มม. ทุกชิ้น ทุกรอบนะครับ เพราะแค่เราหนีบแคลป์แรงๆ ไม้ก็ขยับนิดๆหน่อยๆ หรือแม้แต่เราออกแรงเลื่อยมากไป เลื่อยก็จะกินเลยนิดๆไปบ้าง
(หนักสุด เลื่อยๆอยู่แม่เหล็กหลุด..ดีว่า ไม่สร้างความเสียหายอะไร)

เฉลี่ยๆความกว้างที่ตัด อยู่ระหว่าง 4.65 - 4.95 มม. ครับ นั่นคือ 4.8 มม. บวกลบ 15/100 มม.

**นอกเรื่องสักนิด หากเป็นมาตรวัดไทย
1 ไข่เหา ประมาณ 4/100 มม.
ดังนั้น ระยะผิดพลาดของเราตรงนี้ 15/100 มม. ก็ประมาณ 4 ไข่เห่า
ฟังสนุกๆดีครับ

มาว่ากันต่อ...
ตัดมือแบบนี้ ประมาณ 50 ครั้ง หมดไปค่อนวัน ได้ชิ้นงานเป็นบั้งๆ เป็นแว่นๆ ดังรูป




เลื่อยญี่ปุ่น (Ryoba) ใช้งานได้ดี ไม่ผิดหวังครับ รอยเลื่อยเรียบกริ๊บ
ขอบชิ้นงานไม่เหวอะ รอยตัดเรียบตรงเป๊ะ
(นึกในใจว่า ใช้เครื่องอาจจะไม่ดีแบบนี้ เพราะมอเตอร์กำลังแรง มักจะเฉือนขอบชิ้นงานเล็กขนาดนี้ให้เหวอะเสมอ)

หากเราเอาแต่ละชิ้นมาวางนอน และเรียงต่อๆกันไป เราจะได้ลายแบบนี้
เหมือนๆ ดำขาวดำ สลับกันไปเรื่อย (แต่ของผม มีสีขาวซ้ำทุกๆ 8 ช่อง)
หรือหากเราวางซ้อนกัน 3 ชั้น เหลื่อมๆกัน เราก็จะได้ลายหมากรุก

เริ่มมองภาพออกแล้วใช่มั๊ยครับ...

ดังนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียไม้ช่วงแรก
เราตัดไม้หนาบางไม่เท่ากัน ก็จะได้ตารางไม่เท่ากัน เล็กใหญ่บ้าง
ไสไม่เรียบจริง ก็จะเกิดช่องว่างเป็นเส้นเล็กๆ
ทากาวไม่ทั่ว ชิ้นงานก็จะหลุด
ปัญหาร้อยแปด จะผุดขึ้นมา

ถัดไป เราจะเตรียมไม้วีเนียร์ ตัดให้ได้ความกว้าง/ยาวที่เราต้องการ
ผมเอาแคลป์สปริง หนีบไม้บรรทัด และหนีบแผ่นวีเนียร์ให้เรียบ ใช้คัตเตอร์กรีด ตัดขอบเส้นให้ตรง และให้กว้าง 2 นิ้วพอดีๆ (ความยาวประมาณ 75 ซม. เท่ากับเส้นเซาะร่องที่หน้าแคลป์)

จากนั้น ซ้อมดราฟฟิต (Dry fit) วางชิ้นไม้แว่นๆนี้ บนวีเนียร์
ทุกชิ้นจะถูกทากาว และหนีบอัดไว้ในกล่องแม่พิมพ์

ระหว่างนี้เอง ก็พบว่า มีบางชิ้น ชนกันไม่สนิทจริง
หากไม่แก้ไขตอนนี้ สุดท้าย จะเกิดช่องโหว่ เป็นเส้นกาวเล็กๆ

ก็เลยได้เวลาของพระรองประจำช็อป...กระดานไสฉาก นั่นเองครับ
ไสแล้วมั่นวัดฉากบ่อยๆ ขาดนิด ขาดหน่อย เติมได้เสมอ...
เราไสบางๆ นิดเดียวนะครับ หากไสไปมาก เดี๋ยวช่องดำขาวดำ จะไม่เท่ากันอีก

ทดสอบการชนสนิทของแต่ละแว่น ผมต้องเขียนเบอร์กำกับไว้ด้วย เพราะบางชิ้นได้มีการไสปรับไปบ้าง

แล้วก็ทากาว และยึดแคลป์ ทิ้งไว้ข้ามคืน

ดังในรูป แว่นๆไม้ที่โผล่ออกมา จะมีวีเนียร์บางๆ ขนาบทั้งสองฝั่ง ซ้ายและขวา

ผมทิ้งให้กาวแห้งสัก 2 วันนะครับ เพราะชิ้นงานถูกขังอยู่ในแม่พิมพ์ กาวที่อยู่ด้านในๆ จะแห้งช้ากว่าปกติ เพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

ผ่านไป 2 วัน แกะแม่พิมพ์ออกมา จะได้ชิ้นงานแบนๆ กว้างๆ
ผมจึงนำมาหนีบที่แคลป์ เพื่อเตรียมไสหน้าตัด ขูดคราบกาวทิ้งไป

พอไสไปสัก 2-3 ครั้ง ลายเริ่มชัดเจน


วัดระยะกว้างสักหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถใส่ลงในร่อง 6 มม.ได้
หากใหญ่เกิน เราจะขัดแบนดิ้งนี้ไม่ได้ เพราะวีเนียร์ไม้สักบางมาก ต้องไปแก้ไขที่การเซาะร่องให้กว้างขึ้นอีกนิดแทน

จริงๆ การฝังอินเลย์ที่ถูกต้อง เราควรจะทำตัวอินเลย์เสียก่อน แล้วจึงไปเซาะร่องมารับกับขนาดอินเลย์
(ในโปรเจ็คท์นี้ ผมทสลับขั้นตอนนะครับ เพราะเซาะร่องก่อน)

ได้ดังชิ้นงานตามที่ออกแบบลายไว้



เริ่มนำมาตกแต่งแคลป์ ชน 45 ที่มุม

มองจากมุมกว้าง เริ่มมีสีสัน

และผมก็แปะไม้ประดู่ ปิดพื้นที่สี่เหลี่ยม เพื่อไปรับกับด้ามไม้ประดู่

มองจากด้านหน้า

และเมื่อใส่ด้ามจับประดู่ (เอาแบบด้ามจับจากด้ามไขควงยี่ห้อ Grace Gun Smith ไขควงสุดคลาสิค)
ก็จะไม่เห็นชิ้นส่วนเหล็กอีกต่อไป



ด้านหลังที่สกรูยื่นออกมา ผมทำวงแหวนไม้ประดู่ปิดทับอีกที เพื่อความเรียบร้อย