ที่ช็อปมีไม้สน เศษเหลือตัดจากการทำเลื่อยสายพานอยู่มาก
คิดไปคิดมา เลยเอามาแบ่งทำโคมไฟญี่ปุ่น น่าจะเหมาะสมที่สุด
จึงเสาะหาแบบในอินเตอร์เน็ต และลองวาดแบบใน Sketchup
ต้นแบบมาจาก samurai.jp นะครับ
จริงๆโคมไฟญี่ปุ่น จะมีทรงที่เราคุ้นๆอยู่อีกหลายๆแบบ แต่ผมชอบทรงนี้มากครับ
เป็นโคมไฟขนาดตั้งพื้น ในห้องนอน (คนญี่ปุ่นนอนเสื่อปูบนพื้น)
ต้นแบบเขาใช้เทคนิคไฟ LED ซึ่งมันจะสว่างเรื่อๆ และมีแสงวาบ เสมือนจุดเทียนจริงๆ
เราคงใช้ไฟธรรมดา และหรี่ไฟให้ได้แสงนวลๆสักหน่อย
วาดใน SketchUp ไปสักพัก ก็จะได้รูปทรงและการเข้าเดือยต่างๆ ดังรูป
ความยากของงานนี้ คือการชนมุม 45 ทั้ง 3 แกนครับ
เตรียมไม้ขนาดไม่เป๊ะกัน เวลามาชนมุมกัน มันจะขาดๆหรือเกยๆครับ
และหากตัด 45 ไม่เสมอกัน ก็จะมีรอยโหว่ให้เห็น
วาดในคอมพ์หน่ะมันง่าย...ยังไงก็ชนสนิท
ทำของจริง เดี๋ยวก็รู้ครับ
เริ่มด้วยการเตรียมไม้ จากเศษเหลือการตัดในโครงงานครั้งก่อนๆ
(สำหรับผู้ที่หาไม้ใหม่ เลือกใช้ไม้สนโครงก็ได้ครับ เขามีขายเป็นมัด มัดละ 10 ท่อน)
ไม้แต่ละท่อน เล็กใหญ่ต่างกันบ้าง ก็ไสเก็บ ปรับระดับ ปรับฉากให้เท่ากันทั้งหมด 12 ท่อน
ฝั่งบนคือเสร็จแล้ว 8 ท่อน และต้องปรับขนาดต่ออีก 4 ท่อน
การบากร่อง ผมใช้กบฉีหัวของธรรมศักดิ์การช่าง
สุดยอดดังเช่นทุกที ยิ่งใช้ยิ่งชอบครับ
เราเลือกเซาะร่องให้ลึกตามที่ต้องการ ขาดเหลือเติมได้ ที่สำคัญ ไม่มีฝุ่นกวนใจแบบทริมเมอร์เลย
ผมทดลองจะเข้ามุมไม้สักมุมนึงก่อน โดยใช้เศษไม้มาซ้อมมือ
เมื่อบากร่องเสร็จ เราก็ตัด 45 องศา โดยประดิษฐ์จิ๊กขึ้นมาช่วยตัด
จิ๊กเวอร์ชั่นแรกนี้ ติดแม่เหล็กไว้ชิ้นเดียว เพื่อดูดใบเลื่อยให้แนบติดกับระนาบ 45 องศาตลอดเวลา
เวลาใช้งาน เราเพียงแค่ดึงใบเลื่อยเข้าออกเบาๆ ใบเลือยก็จะแนบกับระนาบและตัดชิ้นงานดังรูป
เราต้องทำจิ๊ก 45 เอียงทั้งสองมุมนะครับ รูปนี้คืออีกมุมนึง
(แม่เหล็กที่นูนยื่น ได้ปรับแก้ในเวอร์ชั่นสองแล้ว)
ทดสอบการชนมุม 45 (จะเห็นรอยเส้นดำเล็กๆอยู่ ถ้าบีบสักนิด ก็สนิทพอได้อยู่ครับ)
การชนมุม 45 องศาทั้ง 3 แกน ก็ต้องหั่น 45 ชิ้นละ 2 ครั้ง เพื่อประกบกัน
และเมื่อประกอบกัน
ก็พอไหวนะครับ...
แต่ผมคิดปรับปรุงจิ๊กให้แม่นยำกว่านี้อีกสักนิด ด้วยการเพิ่มจุดตรึงใบเลื่อยอีกจุด
แม่เหล็กสองชิ้น ก็จะดูดใบเลื่อย รักษาระนาบใบเลื่อยให้ตรง ตัดไม้ไม้เหวอะ
ดังรูปนี้ครับ เวอร์ชั่นสอง
มีแม่เหล็กตรึงไว้อีกจุด ก็จะดูดใบเลื่อยให้ติดกับระนาบ 45 องศาตลอดเวลา
ถ้าไม่ได้กระชากใบเลื่อยแรงเกินไป เลื่อยแบบนี้ ช่วยเรื่องการตัดเป๊ะได้ดีทีเดียว
(แต่ก็ต้องทำจิ๊กเป๊ะด้วยนะครับ)
รอบนี้ แก้ไขการเจาะรูสำหรับแม่เหล็กให้ลึกอีกสักหน่อย แม่เหล็กจะได้จมเข้าไปเต็มเม็ด
ช่วงที่ตัดไม้นี้ ไม่ต้องจับด้ามเลื่อยเลยครับ แม่เหล็กดูดคาไว้แบบนั้น
คลองเลื่อยที่ได้ จะบางเป็นเส้นเดียว ไม่เหวอะ
เบื้องหลังการปรับตั้งจิ๊กนี้ ก็คือใช้ฉากตายมาช่วยกะระยะครับ
งานซ้อมมือเสร็จไปแล้ว ทั้งการบากร่องด้วยกบฉีหัว และการตัด 45 องศาเพื่อชนมุม 3 แกน
ครั้งหน้า เราจะลุยกับชิ้นงานจริง และทดลองประกอบครับ
คำถามที่อาจจะสงสัยกันว่า แล้วตอนทำจิ๊ก ใช้อะไรทำ 45 องศา
คำตอบคือ ผมใช้เลื่อยมือตัดหยาบๆก่อน แล้วใช้กระดานไสฉากช่วยปรับแต่งอีกทีครับ
No comments:
Post a Comment