Thursday, January 16, 2014

กลึงด้ามสิ่วกันเถอะ

งานกลึงไม้เป็นศาสตร์สาขานึงในงานไม้ทั้งหมดครับ
เครื่องมือที่ใช้ก็จะฉีกแปลก แตกต่างจากเครื่องมือเบสิคงานไม้
กระบวนการคิด การทำงาน การแก้ปัญหา ก็จะแตกต่างไปด้วย
และการกลึงไม้ ก็มีเสน่ห์มากทีเดียว ถึงขนาดช่างงานไม้บางท่าน ทำแต่งานกลึงไม้ทั้งชีวิต ผลิตผลงานเป็นที่น่าประทับใจมากมาย

เนื่องด้วยที่ช็อป มีสิ่วไม่มีด้ามอยู่หลายชิ้น ได้เวลาเหมาะเจาะ เราก็กลึงด้ามไม้ไว้ใช้งานซะเลย
ไม้ที่ใช้ ก็เป็นเศษไม้ที่เหลือจากงานประกอบแบบ ไม้ราคาไม่แพง แข็ง ก็คือ ไม้เต็ง นั่นเอง

เริ่มจากการตัดไม้ 4x2 ผ่าครึ่งออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
สีเข้มๆรูปวงรีบริเวณกลางๆไม้ นั่นคือ ไม้เปียก ครับ
ชิ้นนี้ ตัดหัวไม้ออกมา จึงพบว่า ยังมีความเปียกอยู่มาก....เปียกสุดๆ
จริงๆ เราควรจะผึ่งไม้ชิ้นนี้ไว้อีกสักพักใหญ่ๆ (ตามสูตรคือ หนา 1 นิ้ว ผึ่งลม 1 ปี)
แต่วันนี้ เรามาลุยงานกลึงสนุกๆเลยดีกว่า

โฉมหน้าเครื่องกลึงงานไม้ ยี่ห้อ JET

เครื่องกลึงที่ดี ให้เราเลื่อนหัวจับมาแตะใกล้ๆกันนะครับ
จุดยอดของหัวจับทั้งสอง ควรจะชี้ตรงกันเป๊ะๆ ไม่ควรเคลื่อนเลย
มิฉะนั้น งานกลึงของเรา เบี้ยวๆแน่นอนครับ


ผ่าไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสเสร็จ จะเป็นรอยเปียกชื้นในไม้ ยาวเป็นทาง ทั้งท่อน

จากนั้น เราก็ไสมุมให้เป็นแปดเหลี่ยม เพื่อให้มีทรงใกล้เคียงทรงกระบอกมากที่สุดครับ
จริงๆ เราจะกลึงไม้ท่อนสี่เหลี่ยมเลยก็ได้ แต่เราเลือกลดโหลดเสียก่อน โดยใช้กบไสไม้ ไสให้ได้ทรงใกล้เคียงทรงกระบอกที่สุด แล้วไปทำงานกลึง จะง่ายยิ่งขึ้น


ได้แปดเหลี่ยม ก็ขึ้นเครื่องกลึงกันเลย

กลึงกลมไปสักพัก จะเห็นรอยเปียกตลอดแนว

มีดสิ่วกลึงคมๆ สักไม่เกิน 5 นาที เราจะได้ท่อนไม้ทรงกระบอกครับ
แล้วเราก็ใช้ดินสอ ขีดเส้นร่างสัดส่วนของด้ามสิ่วไว้ตามระยะต่างๆ เพื่อที่เราจะได้ทราบตำแหน่งโค้งงอสำคัญๆของด้าม

เริ่มขึ้นรูป โดยการใช้สิ่ว ขีดเส้นระยะสำคัญต่างๆ

จากนั้น ก็ไล่กลึงให้ระยะต่างๆ มาบรรจบกัน

ส่วนรอยหยักลึกๆ ก็ใช้สิ่วปลายแหลม จี้เข้าไป

เมื่อได้รูปทรงที่ต้องการ เราก็ใช้กระดาษทรายขัดไปทั่วๆด้าม

เช็คสัดส่วนต่างๆ และหมั่นวัดขนาดบ่อยๆ

ตามด้วยกระดาษทรายละเอียด

เรียบร้อยแล้วครับ สภาพก่อนปลดชิ้นงานจากเครื่องกลึง

เมื่อตัดชิ้นหัวท้ายออก ก็สวมกับสิ่ว ใช้งานได้แล้วครับ

ทำอีกสักด้าม สำหรับสิ่วแกะสลัก

ต้นแบบสิ่วทรงนี้ นำมาจากสิ่วยี่ห้อ Lie Nielson นะครับ รูปทรงกระชับมือ น่าใช้งาน

**หมายเหตุ ไม้เต็งเปียกชิ้นนี้ จริงๆแล้ว เราไม่ควรรีบนำมาใช้งานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อน้ำระเหยออกมาเรื่อยๆ ไม้จะหดตัว และเกิดรอยแตกที่ชิ้นงานแน่นอน
เราควรจะผึ่งลมทิ้งไว้อีกสักพักใหญ่ๆ

ส่วนด้ามสิ่วนี้ เราลองกลึงออกมา และจะเก็บข้อมูลว่า ด้ามดังกล่าว จะมีอาการแตกร้าวเมื่อไหร่ ซึ่งคาดว่าหน้าร้อนนี้ คงมีอาการให้เห็นครับ แล้วจะนำสภาพแตกร้าวมาวิเคราะห์ให้ชมกัน

No comments:

Post a Comment