Thursday, October 11, 2012

ค้อนหางเหยี่ยว ตอนที่ 01 แนะนำตัวกันก่อน


วันนี้นำผลงานมาให้ชมกันครับ ชื่อ ค้อนไม้หางเหยี่ยวยก ตราแซมซั่น (Double Raising Dovetail mallet; made by Samson)


 

ต้นเรื่องเกิดจาก การที่ครั้งนึงผมเคยทำค้อนไม้แบบง่ายๆ
ครั้งนี้คิดกับช่างเชนกีตาร์ว่า เราน่าจะทำค้อนไม้หางเหยี่ยว และนำผลงานนี้ไปจัดแสดงในงานชมรมคนรักงานไม้ครั้งที่ 7 นี้ด้วย

เราจึงเริ่มทำการค้นคว้า หาข้อมูล และคัดเลือกวัสดุ

เกริ่นนำ
ค้อนไม้หางเหยี่ยวนี้ ว่ากันว่า ในอดีตท่านปธน.อับราฮัม ลินคอร์น เป็นผู้คิดค้น นั่นเพราะท่านก็เคยเป็นช่างไม้มาก่อน และมีปัญหาขณะใช้งาน หัวค้อนหลุดจากด้ามอยู่บ่อยๆ

คุณสมบัติที่ดีของค้อนหางเหยี่ยว
  • ค้อนด้ามนี้ แตกต่างจากค้อนอื่นทั่วๆไปตรงที่ การเข้าด้ามเป็นแบบหางเหยี่ยว ใช้สลักของหางเหยี่ยวเป็นตัวยึดชิ้นส่วนกันไว้ ไม่ต้องใช้กาวประสานแต่อย่างใด  เมื่อประกอบด้ามเข้ากับหัวค้อนแล้ว ไม่สามารถถอดออกได้อีก เวลานำค้อนไปใช้งาน หัวค้อนจึงไม่มีทางหลุดจากด้ามอย่างแน่นอน
  • ด้ามค้อนออกแบบให้เป็นทรงรี กระชับมือในขณะใช้งาน เมื่อผู้ใช้คว้าค้อนขึ้นมา จะรู้สึกได้ทันทีว่า หน้าค้อนจะอยู่ฝั่งใดและสามารถหันหน้าค้อนเพื่อใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องละสายตาจากชิ้นงาน
  • ลายไม้เป็นแบบควอเตอร์ ซอล (quarter sawn) ทำให้หัวค้อนสามารถรับแรงกระแทกได้ดีมาก และที่ตัวด้าม สามารถรับแรงเหวี่ยงค้อนได้ดีกว่าการวางลายไม้แบบอื่นๆ ค้อนไม้แบบนี้ จึงมีความแข็งแกร่งทางโครงสร้างมากที่สุด
  • สร้างคำถามให้กับผู้พบเห็นเสมอๆว่า ค้อนนี้ประกอบด้ามได้อย่างไร



วัสดุที่ใช้
สำหรับหัวค้อน เราเลือกไม้วอลนัทด้วยคุณสมบัติที่มีเนื้อไม้แข็ง, แกร่ง , ดูดซับแรงกระแทกได้ดีมาก เป็นไม้ที่ค่อนข้างทรงตัว ไม่หดตัว บิด หรือโก่งง่าย และมีสีน้ำตาลที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสีน้ำตาลวอลนัท ในปัจจุบัน ไม้วอลนัทถูกเลือกมาสร้างชิ้นงานที่ทรงคุณค่าเสมอๆ

ตัวด้ามค้อน เราเจาะจงเลือกไม้เมเปิ้ล ด้วยคุณสมบัติที่มีเนื้อไม้และลายไม้ที่แน่น เป็นไม้ที่ทรงตัว มีความแข็งแรงและมีความเหนียวเพื่อรองรับแรงกระแทกและให้ตัวได้ดีในขณะใช้งาน นอกจากนี้แล้วไม้เมเปิ้ลยังมีผิวไม้ที่เรียบเนียน มีความวาวเล็กน้อยเมื่อกระทบกับแสง ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล กระชับมือ เมเปิ้ลเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ดังตัวอย่างงานไม้ เช่น ด้ามมีดพก, ด้ามอุปกรณ์กีฬา/ด้ามสนุกเกอร์

เทคนิคงานไม้ที่ประยุกต์ใช้

  • เตรียมไม้ทั้งหมดด้วยการไสกบมือ ประกอบและเก็บชิ้นงานด้วยฝีมือทั้งหมด เพื่อให้ค้อนแต่ละด้ามเข้าเดือยกันอย่างพอดี
  • การเข้าเดือยไม้แบบหางเหยี่ยวระหว่างหัวค้อนและด้าม สร้างความแข็งแรงทางกายภาพสูงสุด
  • การกลึงไม้แบบเยื้องศูนย์ (offset turning) เพื่อให้ได้ด้ามทรงรี กระชับมือ
  • เช็ดผิวชิ้นงานด้วยน้ำมันชา เพื่อปกป้องเหงื่อและรักษาผิวไม้ให้ดูสะอาดตาอยู่เสมอ

คุณสมบัติทางกายภาพ
  • หัวค้อนเป็นไม้วอลนัทชิ้นเดียว สีตามธรรมชาติ
  • ด้ามค้อนเป็นไม้เมเปิ้ลชิ้นเดียว สีตามธรรมชาติ
  • ขนาดหัวค้อน กว้าง 5 1/2” ยาว 3 1/4” หนา 1 7/8”
  • ความยาวเฉพาะตัวด้าม ยาว 9” ความยาวทั้งหมด 12 1/2"
  • น้ำหนักหัวค้อน ประมาณ 220 กรัม และน้ำหนักรวมทั้งหมด 440 กรัมโดยประมาณ
แล้วพบกันที่งานชมรมคนรักงานไม้ วันอาทิตย์ที่ 28 ตค 2555 เวลา 1000-1600 น.
ที่อาคารเอนกประสงค์ กรมราชองค์รักษ์ แยกเกียกกาย ครับ





No comments:

Post a Comment