Monday, October 15, 2012

ค้อนหางเหยี่ยว ตอนที่ 01/01 หางเหยี่ยวยก (Raising Dovetail Joint) คืออะไร

ความน่าสนใจของค้อนไม้นี้ คือ การเข้าเดือยแบบหางเหยี่ยวยก ซึ่งไม่ค่อยมีใครนำมาใช้งาน

ไหนๆก็คุยเรื่องหางเหยี่ยวแล้ว เลยต้องขอเกริ่นย้อนหลังกันว่า 


เดือยหางเหยี่ยว หรือที่ภาษาฝรั่งเรียกกันว่า Dovetail joint จัดเป็นหนึ่งในการเข้าเดือยไม้ที่แข็งแรงที่สุดประเภทหนึ่ง

ช่างไม้รุ่นก่อนๆ นิยมใช้เดือยหางเหยี่ยวในการประกอบลิ้นชักและตู้ที่รับน้ำหนักมากๆ เพราะโครงสร้างการเข้าเดือยแบบนี้ มีคุณสมบัติทางกายภาพช่วยรับน้ำหนักได้มาก และยิ่งลงกาวด้วยแล้ว พื้นที่ผิวสัมผัสก็เอื้อให้มีพื้นที่กาวมากทีเดียว

ประเภทเดือยหางเหยี่ยวมีทั้งหมด 5 ประเภท ดังรูป


1) Through dovetail หางเหยี่ยวทะลุ เป็นหางเหยี่ยวแบบที่ทำง่ายที่สุด

2) Half-blind dovetail หางเหยี่ยวไม่ทะลุ (ส่วนตัว ผมเรียกว่า หางเหยี่ยวโจรสลัด เพราะแปลตามศัพท์ มันคือ ตาบอดข้างนึง) นิยมใช้ประกอบลิ้นชักฝั่งด้านหน้า เพื่อซ่อนหางเหยี่ยวส่วนที่โผล่เป็นหัวไม้ไว้

3) Mitered dovetail หรือ Secret mitered dovetail ใช้ในการเข้าเดือยไม้ของเฟอร์นิเจอร์สุดหรู เพราะจะซ่อนรูปทรงหางเหยียวไว้ทั้งหมด ดูภายนอกเสมือนว่า เข้าเดือยชน 45 ปกติ

4) Sliding dovetail/French dovetail เป็นการเลื่อนหางเหยี่ยวไปตลอดทาง เช่น การเข้าเดือยที่ชั้นวางของ การเข้าคอกีตาร์

5) Puzzle dovetail/Impossible dovetail เป็นการเข้าหางเหยี่ยวที่ดูเป็นไปไม่ได้ ดังเช่นค้อนไม้ที่ผมเลือกนำ
เสนอ หรือดังชิ้นงานตัวอย่าง

ในเบื้องต้นที่เราคิดทำค้อนไม้นี้ เรามีภาพในใจที่งงๆว่า จะเข้าหางเหยี่ยวได้อย่างไร ดังรูปที่เราจินตนาการไว้

แต่เมื่อหาข้อมูลประกอบ และทดลองวาดแบบ จึงจะเข้าใจหลักการเข้าเดือยดังนี้

ฝรั่งเรียกการเข้าเดือยแบบนี้ให้เฉพาะเจาะจงไปว่า Raising Dovetail Joint หรือหางเหยี่ยวยก นั่นเอง
เวลาประกอบชิ้นงาน เราต้องสอดหางเหยี่ยวจากด้านล่าง สไลด์ตัวเข้าไปตามเดือยตัวเมีย

แต่....
สำหรับหัวค้อนนั้น เราไม่สามารถสอดเฉียงในลักษณะแบบนี้ได้ เพราะเรามีหางเหยี่ยวทั้ง 2 ฝั่ง
จากรูป จะเห็นว่า ถ้าสอดเข้าตรงๆ ก็จะติดหางเหยี่ยวทั้ง 2 ด้าน
ถ้าจะสอดเข้าเฉียงๆ ก็จะสอดได้เพียงหางเดียว และติดอีกด้าน

แล้วทำไงดีล่ะ?

ทำได้ครับ...ทำด้ามทรงแบบนี้่ล่ะ แต่ต้องมีเทคนิคเพิ่มเติมอีกนิด

เราจะเฉลยตอนประกอบค้อนครับ




No comments:

Post a Comment