Sunday, February 16, 2014

โคมไฟญี่ปุ่น Japanese Lamp ตอนที่ 04



ต้นฉบับใช้กระดาษสาสีขาว/ครีม ผมเองก็ลองจับคู่กระดาษสาสีอื่นๆ เผื่อจะมีอะไรแปลกใหม่
แต่เมื่อลองเปิดหลอดไฟส่องจากด้านใน พบว่า กระดาษสาสีครีม นั่นล่ะ นวลสุด ดูเหมาะสมที่สุด

ใช้คัทเตอร์ ตัดกระดาษสาให้พอดีกับกรอบ
ใช้เศษไม้ ทากาวบางๆตามซี่ไม้ ขั้นตอนนี้ต้องระวังกาวเยิ้ม เพราะเช็ดยากมาก

เมื่อติดกระดาษสา ทั้งสองด้าน

ส่วนอีกสองด้าน ผมตัดกระดาษเตรียมไว้แล้ว และต้องนำไปให้คนจีนใช้พู่กันเขียนตัวหนังสือสักหน่อย
โดยเราทำจิ๊ก วางช่องไฟทาบไว้ เมื่อให้คนเขียนพู่กัน เขาก็เขียนตัวอักษรให้อยู่ในกรอบกระดาษ A4 แผ่นนี้ก็พอ ตัวอักษรที่ได้ ก็จะมีระยะห่างจากกรอบไม้ และมีขนาดที่เหมาะสม ดังที่เราออกแบบไว้

จากนั้น ลุยตัวฐานไม้ครับ
ใช้เศษไม้ที่เหลือ มาเตรียมไม้ ไสปรับ 4 ด้าน เก็บงานให้เรียบร้อย


ตัดมุม 45 และไสบางๆด้วยกระดาษไสฉาก 45

รอบนี้ ผมทำจิ๊กชน 45 ขึ้นมาซะเลย (จริงๆควรทำตั้งแต่ประกอบโคมไฟแล้ว)
เราตั้งใจเว้นช่วงมุมไว้ เพื่อตอนที่ทากาว กาวจะได้ไม่เยิ้มไปติดกับจิ๊กชิ้นนี้

รั้วจิ๊กต้องตั้งฉากกับพื้นด้วยนะครับ

ทดลองชนเข้ามุม จะเห็นว่า มีรอยเปิดๆเล็กน้อยบริเวณปลายยอด

เราก็ไสเก็บ และทดลองชนอีกครั้ง
สนิทละ...

วิธีใช้งาน ดังรูปนะครับ ทากาว และใช้แคลป์ยึดทั้งสองชิ้นงานอัดคาจิ๊กไว้

ลืมเล่าให้ฟังไปว่า การชน 45 นี้ เป็นบริเวณหัวไม้ ซึ่งจะดูดเนื้อกาวไปมากทีเดียว (กาวไหลเข้าท่อน้ำของชิ้นไม้) ดังนั้น เราใช้กาวผสมน้ำ ทาบางๆทิ้งไว้ก่อน เพื่อให้เนื้อกาวไหลลงไปอุดตามท่อน้ำ
เมื่อแห้งแล้ว จึงทากาวและประกอบชิ้นงานอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อกาวแห้งแล้ว ผมรู้สึกว่า ชิ้นงานไม่ค่อยแข็งแรง (แน่นอน เพราะมันเป็นการชนไม้ธรรมดา)
ผมจึงตัดสินใจ ใส่ลิ่มเข้าไปด้วยซะเลยโดยใช้เลื่อยตัดมุมไม้ดังในรูป

ภาษาช่างไม้ เรียกเดือยชนิดนี้ว่า spline miter joint (ไม่แน่ใจว่า ชื่อไทยว่าอะไรนะครับ)
บางท่าน ก็ทำลิ่มเป็นรูปหางเหยี่ยว เวลาใส่เข้าไปก็จะเห็นเดือยเป็นรูปปีกผีเสื้อ
หรือหากจะซ่อนลิ่ม ก็ทำได้นะครับ แต่ขอเก็บไว้เล่าตอนโครงการอื่นๆ

จากนั้นผมก็ตัดเศษไม้แดง เป็นแผ่นบางๆ หนาเท่ากับความกว้างคลองเลื่อย

ทากาว และอุดเข้าไป

เมื่อกาวแห้ง เราตัดเศษลิ่มทิ้งไปก่อน

และไสเก็บให้เรียบ


 ก็จะเห็นหัวไม้ของลิ่ม เป็นลายแปลกตา
ตอนนี้ มุมชน 45 ก็มีความแข็งแรงมากๆ หล่นพื้นก็ไม่แตกหัก

เรื่องมุมไม้ทู่ๆ ดูไม่สวยงาม เดี๋ยวจัดการได้นะครับ
ตอนนี้ปล่อยไปก่อน เราจะไสเก็บ ตกแต่งผิวทั้งหมดตอนสุดท้าย

เมื่อได้ทำไป 2 มุม ก็จะได้ตัวแอล 2 ตัว ลำดับ่ต่อไป ก็ประกอบอีก 2 มุมสุดท้ายพร้อมกันทีเดียว

แล้วจะยึดกันอย่างไรล่ะ?

ระหว่างนี้ ต้องสร้างจิ๊กตัวช่วยขึ้นมาอีกชุดครับ เป็นจิ๊กจับมุม 45 โดยเฉพาะเช่นกัน
ที่เมืองนอก มีขายเป็นชุดคิท แต่ก็พอทำเองได้
หน้าตาแบบนี้ เหมือนๆธง
ผมทากาวและยึดน็อตไว้เพียงตัวเดียวนะครับ เอาไว้สู้กับแรงบีบแคลป์ตอนถูกใช้งาน

ส่วนขั้นตอนก็สร้าง ก็ตัดเศษไม้ง่ายๆ ตามรูป และใช้แคลป์ยึดทากาว


ส่วนการใช้งานจริง เป็นดังนี้
ดูจากรูป เราจะแนบธงไว้กับผนังกล่องด้านนอก ใช้แคลป์ตัวเล็กยึดแนบไว้ ทำแบบนี้ ทั้งสองผนัง
จากนั้น ใช้แคลป์ใหญ่ มาบีบธงสามเหลี่ยมไว้ ก็จะสร้างแรงบีบผ่านทางมุมกล่อง หนีบกันแน่นแน่นอนครับ จริงๆแล้ว เราจะทำแบบนี้กับทุกๆมุมก็ได้ แต่กล่องเล็กๆ มันจะติดด้ามแคลป์ซ้ายขวา

ผมจึงผสมผสานจิ๊กทั้งสองแบบ ได้ผลลัพธ์ดังรูป

มุมซ้ายบน คือ จิ๊กธง
มุมขวาล่าง คือ จิ๊กเข้ามุม
เมื่อบีบแล้ว กาวปลิ้นๆออกมา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีครับ




ที่เหลือก็ประกอบฐานเข้ากับโคม และติดกระดาษสาอีกสองด้านที่เหลือครับ
ส่วนของหลอดไฟ ก็ใช้ฐานหลอดไฟทั่วไป แปะกับแผ่นไม้ ติดกับฐานด้านในครับ

กระดาษสาที่ว่างๆอีกสองด้าน เราใช้พู่กันเขียนตัวอักษร
ผมเลือกคำว่า เฉิง cheng แปลว่า จริงใจ sincerity ครับ

คนที่เขียนเป็นอย่าเพิ่งรำคาญนะครับ ฝีมือพู่กันยังต้องคัดลายมืออีกเยอะครับ

เมื่อสีแห้งก็ทากาวติดขอบกระดาษสาเข้าไป

ส่วนตอนกลางคืนก็มีแสงแบบนี้ครับ

Thursday, February 13, 2014

โคมไฟญี่ปุ่น Japanese Lamp ตอนที่ 03

ครั้งนี้ เราจะทากาวและขึ้นโครงกรอบทั้งสองฝั่ง
เป็นการหมุนแคลป์เพียงเบาๆนะครับ ให้พอตึงไม่ขยับ

เราบีบบน-ล่างก่อน เพราะมีก้านไม้ตรงกลางดันไว้อยู่แล้ว
จากนั้นก็ทากาว และติดด้านข้างทั้งสอง

พอแตะๆ ไม่ให้ดิ้นก็พอ


จากนั้นก็เลื่อยตัวกรอบอีก 4 ชิ้น เพื่อประกบโคมทั้งหมด

วาดไปเลื่อยไปด้วย เพราะต้องระวังการเลื่อย 45 ผิดฝั่ง
1 ชิ้นต้องตัดมุม 45 มุมละ 2 ครั้ง ทั้งหมด 4 ชิ้นก็ 8 ครั้ง

จิ๊กเจ้าเดิม
ขาดเหลือ ใช้กระดานไสฉาก 45 เก็บอีกนิดนะครับ

แล้วเราก็ประกอบโครงได้เลย
ผมใช้กาวร้อนแต้มๆนำไว้ด้วย เพราะประกอบสดเลย ไม่ได้ทำจิ๊กอะไรมาจับมุม 3 แกน
(หากทำหลายโคม คงต้องทำจิ๊กจะดีกว่า มั่นคงกว่า)

ไสเก็บบริเวณมุมที่เลอะกาว และเก็บงานให้เรียบสนิท

รอกระดาษสา ทำฐาน และติดตั้งหลอดไฟ ในตอนหน้าครับ

Monday, February 3, 2014

โคมไฟญี่ปุ่น Japanese Lamp ตอนที่ 02

ตอนที่แล้ว เราซ้อมมือกับชิ้นงานตัวอย่างไปบ้าง รอบนี้เอาจริงสักที

เริ่มที่การไสบากร่องด้วยกบฉีหัวบริเวณกรอบทั้งหมด 12 ท่อน

ไสไปเรื่อยๆ เริ่มมีขี้กบเยอะ


ครบแล้วครับ 12 ท่อน

จากนั้น เราก็บากร่องเพื่อเป็นตัวรับกับก้านซี่ไม้ กรอบนึง จะมีทั้งหมด 14 ก้าน

โคมญี่ปุ่น เราก็ใช้เลื่อยญี่ปุ่น โดซูกิ (Dozuki= เลื่อยมีสัน) หั่นเป็นบั้งๆ

แล้วใช้สิ่วแทงเพื่อแกะชิ้นไม้ที่ไม่ต้องการออกไป


ด้ามสีน้ำเงิน คือสิ่ว Irwin ขนาด 1/8" นะครับ สิ่วไซส์นี้หาซื้อยากทีเดียว
หากใครพบเห็น ให้รีบซื้อไว้นะครับ เพราะหาไม่ค่อยมีแล้ว
อีกทางคือทำเองครับ อาจจะใช้มีดกลึง หรือตะไบมาลับคมก็ได้

ไม้สน จะทำงานยากสักนิด เพราะเนื้อไม้อ่อนนุ่ม เดือยเล็กๆแบบนี้ ตอกสิ่วไม่ได้เลย เพราะจะกระแทกชิ้นงาน บล็อคที่คั่นไว้อาจจะกระเด็นหลุด
ก็ต้องใช้สิ่วกด เพื่อตัดใยไม้ และแซะๆออก เก็บมุมด้านในให้หมด


ถัดจากนั้น เราจะเตรียมก้านไม้ครับ กรอบนึงใช้ 14 ก้าน 2 กรอบก็ 28 ด้าน
คำนวณมิติแล้ว ก็หาไม้หน้า 8 x 3/4" มาใช้งาน

เราเตรียมไม้สองแผ่นนะครับ โดยต้องลดความหนาลงจาก 3/4" --> 1/2"
แผ่นนึง ผมไสให้บางครับ ไสไปเรื่อยๆ ก็จะได้ไม้หนา 1/2" ตามที่ต้องการ

แต่อีกแผ่น ผมขอฝึกฝีมือเลื่อยเรียวบะ ด้วยการผ่าไม้ให้บางใกล้ขนาดแล้วค่อยไสเก็บเรียบครับ

ชิ้นบนคือ ไม้หนา 3/4" ส่วนชิ้นล่าง คือการไสบางแล้ว
เรากำลังจะผ่าชิ้นบน ให้หนาใกล้ๆเท่าชิ้นล่างครับ

เลย์เอาท์เสร็จแล้ว ก็เริ่มผ่า สร้างคลองเลื่อยกันเลย ใกล้ๆเส้นดินสอ

เลื่อยญี่ปุ่น เน้นใช้แรงน้อยๆ กำด้ามหลวมๆ ไม่ต้องอัดแรง จะทำให้เลื่อยได้ตรงครับ
เราก็เลื่อยเปิด เลาะเส้นดินสอไปเรื่อยๆ

เมื่อเลื่อยลงไปลึกๆแล้ว ให้หาเศษไม้ที่หนากว่าคลองเลื่อยสักนิด
เอามาปักเป็นลิ่ม ถ่างไม้ไว้ครับ จะทำให้เราเลื่อยได้คล่อง
หากไม่ปักไว้ เราจะดึงเลื่อยสะดุดในบางจังหวะครับ


ผ่านไป 10 นาที เราก็จะผ่าไม้ เปิดออกมาดั่งบุ๊คส์แมทช์ (bookmatch)
แผ่นซ้ายคือที่จะใช้งานครับ ส่วนแผ่นขวาคือไม้บางที่ทิ้ง
หากเราไสกบ แผ่นด้านขวา ก็จะโดนแปรรูปเป็นขี้กบทั้งหมด

เมื่อไสเรียบเสร็จทั้งสองแผ่น ผมก็ใช้เลื่อยวงเดือน ตัดไม้เป็นซี่ๆ กว้าง 1/4" ครับ
เตรียมไว้ทั้งหมด 30 ก้าน (ใช้จริง 28 ก้าน)
หากมีรอยคลองเลื่อยบ้าง เราก็ไสเก็บบางๆนะครับ

จากนั้นก็เริ่มเสียบก้านเข้ากับกรอบ ผมเขียนเบอร์กำกับไว้ เพราะบางเดือยใหญ่บ้างเล็กบ้าง เราก็ไสก้านไม้ให้เข้ากับเดือยตัวเมีย


บริเวณมุมกรอบ ทำแบบที่อธิบายไว้ในตอนที่แล้วนะครับ ใช้จิ๊กตัด 45 มาช่วย

เปิดใบเลื่อยออกมา จะเห็นแม่เหล็ก ที่ดูดตรึงใบเลื่อยไว้

เป็นอันเสร็จหนึ่งกรอบครับ
ยังไม่ได้ทากาวนะครับ เดี๋ยวจะประกอบอีกบานให้เสร็จหมด และซ้อมใหญ่สักที
เผื่อต้องปรับแก้ ก็ยังถอดออกมาแก้ไขได้ครับ