Wednesday, September 18, 2013

หีบเครื่องมือช่างไม้แบบดัชท์ (Dutch Tool Chest) ตอนที่ 01

หีบเครื่องมือช่างไม้ เป็นหีบที่ไม่มีขาย เพราะช่างไม้ทุกคนจะต้องสร้างมันขึ้นมาเองเพื่อเก็บเครื่องมือที่ใช้ประจำ และสะดวกพกพาไปทำงานนอกสถานที่ ขณะเดียวกัน เมื่อทำงานในช็อป หีบก็ทำหน้าที่เก็บเครื่องมือให้พ้นจากฝุ่นไม้ ยืดอายุการใช้งานเครื่องมือ

ช่างแต่ละคน จะกำหนดรูปทรง และฟังก์ชั่นของหีบตามแต่งานที่ตนเองต้องพบปะอยู่บ่อยๆ ใครใช้เครื่องมืออะไรประจำ ก็จะพยายามจัดหาเก็บเครื่องมือใช้ประจำเหล่านี้เข้าไว้ในหีบ เช่น กบไสไม้ขนาดต่างๆ สิ่ว อุปกรณ์วาดแบบ ฉาก สว่านมือ

ผมเลือกรูปทรงหีบมาได้สักระยะนึง และชอบอยู่สองแบบ หนึ่งก็คือ Anarchist tool chest ที่ถูกรวมรวมข้อมูลตั้งแต่สมัยก่อนๆและนำเสนอขึ้นมาใหม่โดย Christopher Schwarz และสอง Dutch tool chest โดย Schwarz เช่นกัน

ผมไม่มีข้อมูลว่าช่างไม้ไทยเรา มีหีบประจำตัวกันแบบไหนบ้าง จึงไม่สามารถมาเทียบเคียง เปรียบเทียบกับช่างไม้จากนานาประเทศ แต่เชื่อว่า เครื่องมือหลักของช่างไม้น่าจะคล้ายๆกัน มีมิติใกล้ๆกัน ถ้าช่างไทยจะมีหีบช่างไม้ ก็น่าจะใช้หีบเก็บขนาดไม่ต่างกัน


ผมเลือกทำหีบ Dutch tool chest ดังรูป เพราะชอบในขนาดที่พกพาได้ และสามารถเปิดช่องด้านหน้า เพื่อเข้าถึงเครื่องมือต่างๆได้อย่างสะดวก ฝาเปิดด้านบนตัดเฉียง 30 องศา เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องด้านบนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ผมเลือกทำทรงดังกล่าว แบบไซส์ใหญ่สักหน่อย นั่นคือ สูงขึ้นอีก 7 นิ้ว เพื่อให้มีชั้นวางของได้สองชั้น และความสูงเมื่อติดตั้งล้อแล้ว ก็จะได้หีบที่สูงประมาณ 35-36" ใกล้ๆความสูงโต๊ะช่างไม้ เวลาทำงาน ก็น่าจะเลื่อนเข้ามาใกล้ๆโต๊ะทำงาน และสามารถเข้าถึงเครื่องมือได้สะดวก

เมื่อมีข้อมูล เราก็ไปโหลดหาแบบกันเลยครับ ที่นี่
Schwarz บอกไว้ว่า หีบเครื่องมือ ควรจะเบา เพราะว่าหากหีบที่มีน้ำหนักมากรวมกับเครื่องมือที่หนักๆทั้งหลายแล้ว มีแต่จะถ่วงให้ขนย้ายลำบากเข้าไปอีก เขาจึงแนะนำให้ใช้ไม้สน แต่ให้มีความหนาสักหน่อย เพื่อให้สมบุกสมบันกับการกระแทกของเครื่องมือขณะขนย้าย

เมื่อเลือกประเภทไม้ได้แล้ว ก็มาวางแผนกันว่า เราจะเพลาะไม้สน หรือจะซื้อกระดานไม้สนสำเร็จรูป
แน่นอนว่า การใช้ไม้สนมาเพลาะกัน จะมีราคาวัสดุถูกกว่า แต่ต้องใช้เวลานาน ในการผึ่งไม้สนให้เข้าที่ เพราะไม้สนที่ใช้ในเมืองไทย เป็นไม้นำเข้าทั้งหมด

โดยธรรมชาติไม้สน ก็เป็นไม้ที่โก่ง บิด แอ่น ได้ง่ายอยู่แล้ว หากจะใช้งานจริงๆ คงต้องผึ่งรอกันเป็นปี
อย่ากระนั้นเลย...ใช้กระดานไม้สนสำเร็จรูปดีกว่า

เมื่อเปิดจากโปรแกรม sketch up ผมจึงสามาถคำนวณจำนวนไม้ที่ต้องใช้งานได้ทั้งหมด


เมื่อมีวัสดุครบ งานเราก็เริ่มจากการตัดไม้ให้ได้มิติตามแบบ จากนั้น ก็ไสปรับหน้า เพื่อให้เรียบเสมอกัน
วางไม้บรรทัด เพื่อให้เห็นว่า แม้จะเป็นกระดานไม้สนสำเร็จรูปจากเมืองนอก ก็มีแอ่น
หากมองจากระนาบ จะเห็นอาการแอ่นอย่างชัดเจน ประมาณ 5 มม. ครับ

เมื่อตัดไม้ได้ขนาด ก็ไสด้วยกบบรรทัด (กบผิว 22" ของธรรมศักดิ์การช่าง)

เริ่มที่การทำเดือยด้านผนังของหีบ โดยผมใช้เลื่อยวงเดือน ตัดผ่านเป็นเส้นนำ
จากนั้น ก็ใช้สิ่วเก็บทั้งหมด

จริงๆ จะใช้เราท์เตอร์ หรือทริมเมอร์ ก็ได้นะครับ แต่ฝุ่นจะฟุ้งเยอะมาก
ผมเลือกใช้สิ่ว เพราะรู้สึกว่าสนุกกว่า และเพลิดเพลินมากกว่า

ถ้ามีกบเราท์เตอร์ (router plane) คงจะได้พื้นเดือยที่เรียบกว่านี้ แต่ไม่เป็นไรครับ ส่วนนี้ยังไงก็ประกบกับชั้นวางอยู่แล้ว

ส่วนของหิ้งชั้นวางเครื่องมือ ผมเลือกที่จะฝังไม้แดงสักเส้นเข้าไป เมื่อเปิดฝาหน้าหีบออกมา ก็จะเห็นเส้นแดงๆนี้ คาดผ่านหิ้งครับ น่าจะสวยแปลกตาดี



จากนั้น ก็ทดสอบการประกบชั้นหิ้งเข้ากับผนังหีบ

ตอนแรกๆ ชั้นวางจะหนากว่าร่องเดือยที่ทำไว้เล็กน้อย เราก็จะไสชั้นวางให้บางลงๆ จนสามารถเสียบประกบกับร่องเดือยได้สนิท

หากบริเวณสันหิ้งไม่ฉาก ก็เป็นหน้าที่เขาคนเดียวในช็อปนี้...กระดานไสฉาก

จากนั้น ก็เป็นการทำเดือยหางเหยี่ยว บริเวณชั้นล่างสุดของหีบ
เนื่องจากก้นหีบต้องรับน้ำหนักมาก และเป็นโครงสร้างของหีบด้วย เดือยที่อึดสุด ก็เดือยหางเหยี่ยวล่ะครับ


การถ่ายแบบจากเดือยตัวผู้ (tail) เพื่อทำเดือยตัวเมีย (pin) เราก็ได้ปากกาสกรูคู่ (moxon vise) นี่ล่ะครับ
**ผมเอาก้อนเหล็กทับไว้ เพื่อเป็นน้ำหนักกดแผ่นไม้ เวลาวาดแบบจะได้ไม่ขยับ


หายไปอีกครึ่งชั่วโมง กลับมาพร้อมกับเดือย


การทำเดือยกับไม้สน ต้องระวังค่อนข้างมากครับ เพราะไม้สนเป็นไม้เนื้ออ่อน และฉีกง่าย เครื่องมือเกี่ยวนิดหน่อย ขอบไม้ก็พร้อมจะฉีกตลอดเวลา และไม่ควรประกบเดือยเข้าออกบ่อยนะครับ เพราะเดือยจะช้ำ ส่งผลให้ปากเดือยไม่สนิท


ดรายฟิต (dry fit) ก่อนทากาว

กบบรรทัด ขอจองชั้นบนก่อนเลย...ไวจริง

โซล่าร์ครับ...มาจองชั้นบนไม่ทัน

หรือจะชั้นล่างสุดไปเลย...

แต่อยากได้ชั้นบนมากกว่า

เสร็จจากดรายฟิต เราก็จะถอดออกมาทั้งหมด ทากาว และประกอบเข้าไปใหม่ ยึดด้วยแคลป์ครับ

ครั้งหน้า เราจะยิงสกรูยึดฝาหน้า ฝาหลัง และฝาบนครับ

No comments:

Post a Comment