Monday, July 22, 2013

Cross cut sled กระบะตัดขวาง

ผมตั้งชื่อ "กระบะตัดขวาง" มาจากศัพท์ฝรั่ง Cross cut sled
(เครดิตภาพ ค้นจากอินเตอร์เน็ตนะครับ)



ปกติ เวลาเรามีท่อนไม้ยาวๆสักท่อน และต้องการตัดให้สั้นลง
เราสามารถใช้เลื่อยมือ ตัดได้เลย หรือใช้เลื่อยมือคู่กับจิ๊กกล่อง เพื่อตัด ดังรูปข้างล่าง



หรือหากเป็นเครื่องมือไฟฟ้า ช่างไม้ก็จะใช้ miter saw หรือเลื่อยองศา มาหั่นท่อนไม้ดังกล่าว ดังรูป


สำหรับคนที่มีแต่โต๊ะเลื่อยวงเดือน ก็ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย นั่นก็คือ กระบะตัดขวาง ที่เราทำในวันนี้ครับ

ทำไมต้องกระบะนี้ด้วย??
ปกติ เราตัดท่อนไม้ด้วยเลื่อยวงเดือน หากเราตัดแบบชนรั้วปกติ มันยากที่จะรักษาเส้นตัดให้คงที่ตลอดเวลา
ก่อนเริ่มเข็นไม้เข้าตัด

พอเริ่มเข็น มือเราจะรักษาระดับไม่ได้

วิธีการเข็นแบบนี้ อันตรายมากครับ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเลื่อยจะดีดไม้เข้าหาผู้ใช้

การมีกระบะตัวขวาง จึงมาช่วยอุ้มชิ้นงานทั้งหมด ให้เลื่อนผ่านเข้าหาใบเลื่อยได้อย่างมั่นคง และปลอดภัย ที่สำคัญคือ ช่วงที่เลื่อยออกจากชิ้นงาน ไม้จะไม่ฉีกด้วย

อุปกรณ์ที่ใช้
ผมใช้ MDF 15mm เป็นแผ่นรองพื้น และหาไม้อัดที่เหลือในช็อปมาทำรั้ว
ส่วนราง ก็ใช้ไม้จริงที่เหลืออีกเช่นกัน โดยรางมีขนาด 3/4"


การประกอบ เราจะติดตั้งรางเสียก่อน เพื่อทดสอบการวิ่งขนานในราง
จากนั้น เราจะติดตั้งรั้วหลัง และไขหลวมๆ เพื่อให้ปรับได้

จุดสำคัญของกระบะตัวขวาง ก็คือ 
1) ราง 2 รางต้องขนานกัน
2) รางต้องขนานกับใบเลื่อย
3) รั้วหลัง ต้องฉากกับใบเลื่อย

ไม้อัดที่จะทำรั้วหลัง ไม่ค่อยเรียบ จึงต้องไสบางๆ เพื่อให้หน้ารั้วทั้งหมด เรียบเสมอกัน

ประกอบตัวรางให้วิ่งได้พอดีกับรางบนโต๊ะเลื่อยวงเดือน

ยิงน็อตครบหมด ผมหงายท้องกระบะให้ดูนะครับ
น็อตที่รั้วหลัง มีทั้งหมด 4 ตัว โดยจะเป็นน็อตยึดตาย 1 ตัว และเป็นน็อตที่ปรับได้อีก 3 ตัว (เพื่อให้เราสามารถตั้งรั้วให้ฉากได้)

ทำเสร็จ เราทดสอบการตัด ผ่านไม้เต็งหน้า 3"

ขณะที่เราเข็นกระบะซึ่งบรรจุชิ้นงานเราไว้ด้านใน พิงกับรั้วหลัง
กระบะก็จะเคลื่อนไปทั้งหมด พาชิ้นงานเข้าตัดอย่างมั่นคง

ข้ออันตรายสำหรับการใช้กระบะนี้ก็คือ ต้องระวังใบเลื่อยที่โผล่ หลังจากเราเข็นกระบะพ้นไปแล้ว

ผมจะได้ติดตั้งบล็อกไม้อีกครั้งหนึ่ง และทาสีแดงบริเวณนี้ไว้ เพื่อเตือนตัวเองเสมอ เวลาใช้งานกระบะชิ้นนี้

กระบะเล็กนี้ มีไว้ทำงานเล็กๆ เช่น ตัดไม้สำหรับทำกล่อง หรือเตรียมงานอินเลย์ ซึ่งต้องมีการตัดขวางเยอะมากๆ
มีเวลา จะได้ทำกระบะใหญ่ๆอีกชุดนึง สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลายครับ

Saturday, July 20, 2013

ม้านั่งสไตล์เชคเกอร์ 2013_July_20

หลักสูตรม้านั่งสไตล์เชคเกอร์ (Shaker Bench) เป็นหลักสูตรทำงานไม้วันเดียว
เน้นการทำงานไม้แบบง่ายๆ แต่เสร็จได้จริง

เช้ามา เราก็เริ่มวาดแบบ เพื่อเตรียมตัดไม้ให้เข้าทรงกันเลยครับ 



ถัดไปก็เตรียมเลื่อยขึ้นแบบด้วยเลื่อยอก


 ถัดจากเลื่อยอก ก็เลื่อยญี่่ปุ่น

และเก็บด้วยกบผีเสื้อ

ส่วนของโค้งเว้า เราสามารถใช้เลื่อยฉลุเลี้ยวไปมา (Coping Saw)


 จากนั้น เราจึงเจาะรูผ่าน ตามจุดต่างๆที่ได้มาร์กไว้

 เราจะปิดหัวน็อตทั้งหมดด้วยปลั๊กไม้
จึงต้องเจาะดอกสว่านดอกใหญ่ เพื่อให้ตอกปลั๊กไม้ที่หัวน็อตในภายหลัง
ในรูป คือเตรียมท่อนไม้สวมกับดอกสว่าน เพื่อให้ระยะดอกพ้นออกมาได้นิดหน่อย
ซึ่งก็คือระยะที่ปลั๊กไม้จะตอกลงไป

เมื่อเจาะรูครบทั้งหมด เราก็ใช้แคลป์ยึด เพื่อจับชิ้นงานสองชิ้นมาชนฉากกัน
เราจะทำจิ๊กฉากขึ้นมา เพื่อประกอบม้านั่งตัวนี้โดยเฉพาะ

ทำงานไม้ หนีไม่พ้นแคลป์แน่นอนครับ....

ประกบไม้สองชิ้น ใช้แคลป์ไป 4 ตัว

แคลป์ช่วยจับฉากแบบนี้ ยิงน็อตตรงและฉากแน่นอนครับ

จากนั้น เราก็ทำพนังหน้าหลัง





 ตัวมาร์กสปริง ช่วยการมาร์กจุด เพื่อเตรียมเจาะ

 ส่วนที่ไม่เรียบ เราจะเก็บด้วยสิ่ว





บ่ายแก่ๆ เราเตรียมตัวติดตั้งบานพับแล้วครับ

 บากตื้นๆ สำหรับช่องติดบานพับ

 เก็บด้วยสิ่ว






 เช็คระยะ


 อธิบายเรื่องการติดตั้งน็อต รูผ่าน รูเกลียว ผายหัวดอก ผายประกบ

 เมื่อประกอบทั้งหมดเสร็จ เราก็จะปิดหัวน็อตด้วยปลั๊กไม้


 หัวที่เกินๆ เราก็เก็บด้วยสิ่ว เพื่อให้ผิวงานเรียบเนียน





เสร็จไปอีกหนึ่งวัน กับงานไม้สนุกๆ
ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกันสร้างงานไม้ครับ :D