Friday, May 24, 2013

Pandora Box Day01 เตรียมไม้ขั้นแรก แบบหยาบ

ผมมีความคิดจะทำกล่องไม้สวยๆมานานแล้ว ไปที่ไหนๆจะคอยสังเกตตามท้องตลาดว่ามีกล่องสวยๆโดนๆหรือไม่
สุดท้าย ค้นในเน็ตน่าจะสะดวกที่สุด และเห็นฝีมือช่างเทพๆหลายๆท่่าน

ปีนี้เลยคิดจะทำกล่องไม้หรูๆสักเซ็ต มีไม้ประดู่มือสองจากบางบาล ตั้งไว้ที่บ้านได้สักพัก
ก็เลยหยิบมาใช้งานสักหน่อย

หน้าตากล่องจะเป็นอย่างไร จะใช้เทคนิคการเข้ากล่องอย่างไร และจะตกแต่งอย่างไร
เอาไว้เล่ากันตอนทำจริงแล้วกันครับ

ผมตั้งชื่อรหัสกล่องว่า แพนโดร่า (Pandora) ซึ่งเป็นชื่อกล่องในเทพนิยายกรีก
(กล่องในเทพนิยาย ก็คือไห นั่นเอง คงเพราะสมัยโน้นยังไม่มีการประดิษฐ์กล่องไม้ แต่เป็นการปั้นดินรูปทรงไห)

ลุยเลยดีกว่า...

สเต็ปแรกของงานไม้ ก็คือการเตรียมชิ้นไม้นั่นเอง
กล่องที่จะทำ เป็นกล่องเครื่องประดับ มีขนาดประมาณ 5"x8"x2 1/2" และหนา 1/4"
ฝายกเปิดเหมือนๆกล่องเบนโตะของอาหารญี่ปุ่น
เราก็เริ่มตัดไม้ด้วยเลื่อยลันดา Bahco


มีบางท่านรู้ บางท่านไม่รู้
เราสามารถใช้สันของเลื่อยลันดาเป็นฉากขีดเส้นได้นะครับ ดังรูป
(และสามารถใช้สันเลื่อย ขีดเส้น 45 องศาได้ด้วย)

กล่องยาว 8" และกว้าง 5" รวมเป็น 13"
ผมจึงวัดความยาวไม้ไว้สัก 14" เพื่อที่จะแบ่งได้เป็นผนังสองชิ้น
และเมื่อผ่าไม้เป็น bookmatch ออกมา ก็จะได้ผนังอีกสองชิ้น
ทั้งหมดนี้ เราก็จะได้ผนังกล่องทั้ง 4 ด้าน และมีลายในทางเดียวกันทุกๆด้าน

เลื่อยลันดาบาร์โก้ คมจริง

จากนั้น เราก็จะไสหน้าไม้สักด้านให้เรียบ
แล้วก็ผ่าไม้ครับ
ด้วยความหนาตั้งต้น เราสามารถผ่าได้เป็น 3 ชิ้น โดยใช้เลื่อนริวบะ (ryoba) ของญี่ปุ่น

ในช่วงก่อนผ่านี้ เราพบว่ามีตะปูฝังอยู่ในสันไม้ด้านข้างทั้งหมด 3 ตัวครับ
ตอนผ่าไม้ก็ต้องระวังกันสักหน่อย


สร้างคลองเลื่อยเริ่มต้น ขั้นตอนนี้สำคัญมากครับ
ถ้าเริ่มเบี้ยว ไปต่อยังไงก็เบี้ยวครับ

จากรูปจะเห็นว่า เราผ่าเปิดออกมา และจะไสหน้าไม้ที่เพิ่งเลื่่อยเมื่อสักครู่ ทั้งสองหน้า
จะเห็นร่องรอยตะปูเก่า ที่เขาดึงถอนกันออกไปแล้ว สนิทจากตะปูเกาะอยู่ที่รูไม้เป้นร่องดำๆ
การทำงานกับไม้มือสอง เราต้องเผื่อไม้ไว้เยอะสักหน่อยครับ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเจอตำหนิอะไรบ้าง
บางท่าน ก็จะเก็บรอยตำหนิไว้ แล้วจัดวางให้ดูแนวของเก่าเก็บ
บางท่านก็ตัดส่วนตำหนินี้ทิ้งไปเลย

กรณีของผม ขอดูภาพรวมทั้งหมดหลังจากเตรียมไม้ก่อนดีกว่าครับ เดี๋ยวตอนนั้นค่อยมาตัดสินใจอีกที

ตะปูตัวแรกครับ
ช่วงที่ผ่าไม้ ผมจะระวังการใช้เลื่อยญี่ปุ่น ไม่ให้เข้าใกล้ตะปู และเมื่อต้องเลื่อยเข้าใกล้ๆ
ผมจะเปลี่ยนไปใช้เลื่อยตัดเหล็ก เพื่อตัดไม้ช่วงดังกล่าว
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ตะปูจะวางตัวในไม้อย่างไร
มันจะแทงชี้ไปมาอย่างไร มันจะยาวแค่ไหน


จากนั้น ก็จะลากเส้นแบ่งครึ่ง และเตรียมผ่าไม้ส่วนที่เหลือ
ไม้ประดู่ หน้า 6" หนา 1 1/2" ต้องใช้แรงอึดมากครับ กว่าจะผ่าเปิดไปได้ทั้งหมด
ดีว่ามีเลื่อยญี่ปุ่นทุนแรงได้ดีจริงๆ


เมื่อเข้าใกล้ตะปูตัวที่สอง ก็ต้องเปลี่ยนเลื่อยครับ
เหล็ก ก็ต้องเจอใบตัดเหล็ก
ผมจะเอียงชิ้นงานให้ได้องศา เพื่อที่เลื่อยจะสามารถทำงานตัดในบริเวณดังกล่าวให้เราได้

ตะปูตัวที่สองนี่ ตัวแสบมาก
ก่อนหน้านั้น พยายามจะขุด และใช้คีมดึง แต่คงทำไม่ได้
ดังนั้น ช่วงการผ่าตรงนี้ เราจะตัดผ่านไปเลย

โฉมหน้าคู่กรณีของเรา
ขืนใช้เลื่อยญี่ปุ่นตัดผ่านไป คงเสียคมเลื่อยอย่างแน่นอน


จากนั้น เราก็แงะออกมา

ในขั้นตอนนี้ เราได้ไม้ทั้งหมด 3 แผ่นแล้วครับ
เราก็ไสไม้ทั้ง 3 แผ่น (6 หน้า) โดยให้เหลือความบางไว้ก่อนความหนาที่เราต้องการ

ยังมีตะปูตัวที่สามปักคาอยู่ เดี๋ยวค่อยมาหาวิธีจัดการครับ

รูปเปรียบเทียบ ชิ้นบนคือไม้ทั้ง 3 แผ่นเรียงกันตามลำดับที่ผ่า
ชิ้นล่างคือไม้ต้นฉบับ
ความหนาที่หายไป คือคลองเลื่อยญี่ปุ่นจำนวน 2 ครั้ง และการไสไม้เพื่อปรับหน้าไม้ในแต่ละชิ้น

หมดไปอีกหนึ่งวัน กับกองขี้กบขนาดย่อมๆ
โต๊ะช่างไม้ใกล้เอื้อม ทำงานได้ดีมากๆครับ ช่วยจับชิ้นงานได้มั่นคง และสะดวกจริงๆ

โฉมหน้า ไม้ประดู่ทั้ง  3 ชิ้น หนา 8mm
ชิ้นซ้ายสุด น่าจะเป็นประดู่ปุ่มด้วยครับ แจ๋วจริงๆ

กลิ่นไม้ที่เพิ่งไสเปิดใหม่ๆ จะหอมมาก





No comments:

Post a Comment