Monday, September 3, 2012

การไสไม้ 3 ระดับ: หยาบ เรียบ ลื่น ตอนที่ 1

การทำงานไม้ในยุคสมัยนี้ หลายๆท่านคงพิจารณาเครื่องมือไฟฟ้าเป็นหลัก และอีกหลายๆท่านก็ยังนิยมชมชอบแฮนด์ทูลทั้งหลาย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การทำงานไม้ให้มีประสิทธิภาพ โดยรู้ว่า เครื่องมือประเภทไหน เหมาะสำหรับขั้นตอนการทำงานไม้ในช่วงไหน

เราจึงแบ่งการทำงานเตรียมไม้ออกเป็น 3 ช่วง อันได้แก่
1) ช่วงหยาบ เป็นการนำเนื้อไม้ออกให้ใกล้เคียงกับขนาดที่เราต้องการ
2) ช่วงเรียบ เป็นขั้นตอนต่อจากช่วงหยาบ ถือเป็นการปรับหน้าไม้ให้เรียบ, ตรง, ระนาบให้มากที่สุด
3) ช่วงลื่น เป็นช่วงสุดท้ายในการเก็บผิวไม้ เตรียมพร้อมสำหรับการประกอบ, เคลือบผิว, การทำสี

เมื่อเราทราบการเตรียมไม้ออกเป็น 3 ช่วงดังกล่าวแล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่า
1) เราต้องการใช้เครื่องมือใด (ไม่ว่าจะเป็น power tool, hand tool) สำหรับงานไม้ในแต่ละช่วง
2) เราจะมั่นใจว่า ควรใช้เครื่องมือใดเป็นลำดับก่อน/หลัง ไม่ทำงานซ้ำซ้อน ทำงานย้อนกลับไปกลับมา
3)  เราควรจะใช้เครื่องมือนั้นๆเตรียมไม้นานเท่าใด ก่อนที่จะขยับไปใช้เครื่องมือชิ้นต่อๆไป

และด้วยการคิดแบบนี้  เราจะทำงานไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและได้คุณภาพชิ้นงานที่ดีไปพร้อมๆกัน

ผมขอยกตัวอย่าง เครื่องมือฝรั่งก่อนนะครับ แล้วท้ายๆบทความเรามาเปรียบเทียบกับเครื่องมือไทยๆของเรา ท่านที่มีกบเหล็กอยู่แล้ว จะทราบดีว่า กบฝรั่งเขามีการตั้งเลขรหัสตามผู้ประดิษญ์กบเชิงพาณิชย์ยี่ห้อ Stanley โดยที่ Bench plane ของ Stanley นั้น ไล่ตั้งแต่ หมายเลข 1 ถึงหมายเลข 8 และจะมีเลขครึ่ง อันได้แก่ 4 1/2, 5 1/4, 5 1/2 จึงรวมเป็น 11 bench planes.

เขาเปรียบเทียบการเตรียมไม้ 3 ช่วง กับเครื่องมือแต่ละชิ้น
1) ช่วงหยาบ ให้ใช้ Fore plane เช่น กบหมายเลข 5, 6 ถ้าเทียบกับ power tool ก็คือ เครื่องรีดไม้ และเครื่องไสชิด
2) ช่วงเรียบ ให้ใช้ Jointer plane เช่น กบหมายเลข 7, 8 หรือ power tool ก็คือ เครื่องขัดกระดาษทรายแบบวงกลม หรือเครื่องขัดสายพาน
3) ช่วงลื่น ให้ใช้ Smoothing plane เช่น กบหมายเลข 3, 4 หรือ power tool ก็คือ เครื่องขัดกระดาษทรายแบบแผ่นๆ, การขัดกระดาษทรายด้วยมือ หรือการใช้แผ่นสแครปเปอร์ (scraper)

**ภาพแสดงกบมาตรฐานทั้ง 8 ของ Stanley

ช่วงหยาบ :: Fore plane
การทำงานไม้ในช่วงนี้ จะเป็นการเตรียมไม้ให้มีขนาดใกล้เคียงกับที่เราต้องการ, ปรับไม้ที่โก่ง นูน บิด ให้มีความเรียบตรงในแบบที่พอรับได้
ดังนั้นเครื่องมือที่จะใช้ ควรจะตอบโจทย์ดังกล่าว นั่นก็คือ กบที่มีความยาวตั้งแต่ 14" - 20"
เพราะเราใช้มันทำหน้าที่เป็นกบลุย ไสไม้ในลักษณะหยาบๆ เป็นขาลุยๆไปก่อน
(กบหมายเลข 5 ยาว 14" และถูกเรียกว่า Jack plane ในขณะที่กบหมายเลข 6 ยาว 18" ถูกเรียกตรงๆเลยว่า fore plane)


แล้วงั้นไม่เอากบยาวๆกว่านี้ไปเลยล่ะ...
กบยาวๆหน่ะ ดีครับ แต่มันหนักมาก ยิ่งถ้าเราใช้ปรับความหนาไม้ออกมากๆ เราเหนื่อยมากแน่นอนครับ

สำหรับท่านที่มีเครื่องรีดไม้/ชิดชิดอยู่แล้ว ก็เลือกใช้เครื่องรีดไม้/ไสชิดได้เลย และไม่จำเป็นต้องใช้กบ fore plane นี้อีก (ถือว่าเป็นการทำงานแทนที่กันได้)

เมื่อเรารู้ว่า เราเริ่มทำงานช่วงหยาบแบบนี้ กบดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องมีท้องเรียบเป๊ะสุดๆ เอาเป็นว่า ถ้าเราวางกบบนโต๊ะเรียบๆ (เช่น แกรนิต) แล้วกบไม่กระดกไปมา ก็คือว่า ใช้ได้แล้วครับ
สำหรับใบมีดนั้น ก็ควรจะมีปลายโค้งนิดๆ เพื่อที่จะไสไม้ออกได้อย่างง่ายดาย ไม่กินแรง


ขณะเดียวกัน ช่องเปิดก็ควรจะมากพอที่จะไสไม้ออกได้ทีละมากๆ แต่ก็ไม่ถึงกับฉีกไม้ออกมา

การใช้งาน fore plane เราจึงมักจะไสเฉียงๆ (การไสเฉียงจะเบาแรงกว่าการไสตรงๆ) เพราะเราต้องใช้แรงไสสู้กับเนื้อไม้หยาบๆออกไปก่อน

ไสไปนานแค่ไหนดี?
ก็เท่าที่หน้าไม้จะเรียบพอรับได้ (เช็คระนาบด้วย winding stick) ผิวไม้โดยรวมตรง ราบ ไม่มีปุ่มนูนหรือแอ่งที่ชัดเจนจนเกินไปและได้ความหนาของชิ้นไม้ใกล้เคียงกับที่เราต้องการ

นี่ ขนาดเริ่มๆนะครับ...ไว้มาต่อตอนหน้าครับ

No comments:

Post a Comment