Friday, May 22, 2015

Day05_Drawer_Gerstner41D

ครั้งที่แล้ว เราได้โครงหีบ และช่องเก๊ะ
ตอนนี้ว่ากันด้วยเรื่องของ "เก๊ะ"

เริ่มด้วยการเตรียมไม้

ผมเลือกไม้ชิ้นเดียวกัน สำหรับเก๊ะ 5 ชิ้นบน เพื่อให้หน้าเก๊ะ มีลายไม้ทางเดียวกันหมด และต่อลายกัน
ดังในรูป ซึ่งเป็นการตัดแบบใกล้เคียงขนาด แล้วเราจึงมาไสเก็บให้พอดีขนาดช่องเก๊ะ

เก๊ะสำหรับเก็บเครื่องมือ เขาจะไม่เก็บเครื่องมือวางซ้อนๆกันในเก๊ะนะครับ แต่จะวางแบนราบไล่ๆกันไป

ดังนั้น ทรงเก๊ะจึงเป็นเก๊ะเล็กๆ สูงแค่ 1 1/4" กว้าง 6" เมื่อหักท้องเก๊ะออกไป ช่องในเก๊ะจึงสูงประมาณ 1" เท่านั้น สามารถวางไม้ฉาก เวเนียร์คาลิปเปอร์ ที่วัดองศา วงเวียน และอุปกรณ์เทียบวัดอื่นๆ

ขั้นตอนการสร้างเก๊ะให้พอดี ก็คือ
1) วัดขนาดหน้าเก๊ะเสียก่อน โดยไสให้ได้ฉาก และวางจรดกับช่องเก๊ะ จากนั้นเราจึงวัดเทียบความยาวของหน้าเก๊ะ และความสูงของเก๊ะ

ความยาวที่พอดี คือ เราสามารถเสียบกระดาษพับทบ แล้วยังหนีบกระดาษชิ้นนี้ได้อยู่

2) ตัดชิ้นหลังเก๊ะ ให้มีขนาดเท่าหน้าเก๊ะที่เพิ่งได้มา ทั้งความยาวและความสูง
(ใช้กระดานไสฉาก เป๊ะชัวร์ครับ)

3) ตัดชิ้นด้านข้างเก๊ะ ทั้งชิ้นซ้ายและขวา
ดังในรูป คือ ยังยาวเกินออกมา เราก็วัดความลึกของเก๊ะ ตัดและปรับด้วยกระดานไสฉาก

ก็จะได้ชิ้นส่วนเก๊ะ 1 เก๊ะ มีทั้งหมด 4 ชิ้น (หน้า ข้างซ้าย ข้างขวา และด้านหลัง)

รวมถึงเก๊ะอื่นๆอีก 3 เก๊ะ เพราะมีขนาดเดียวกันทั้งหมด
(ขั้นตอนนี้ ให้เขียนเบอร์กำกับไว้เลยครับ จะได้ไม่สับสน หยิบไม้ผิดชิ้น ระวังทำงาน)


เริ่มที่เก๊ะแรก เราใช้กบเซาะร่องกระจก ไสร่อง เพื่อใช้เป็นที่เสียบท้องเก๊ะ
เนื่องจากเก๊ะเราเตี้ยมากๆ ผมเลือกใช้ไม้อัดแปะวีเนียร์ หนาประมาณ 5 มม. พอดีกับร่องมีดเป๊ะครับ
ไม้เก๊ะหนา 6 มม. เราไสเซาะร่องลึกประมาณ 2 มม.


ชิ้นส่วนเสร็จ ก็เริ่มทำเดือยหางเหยี่ยวครับ

การทำเดือย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเลย์เอาท์เส้นของเดือยนะครับ
เลย์เอาท์ผิด ฝีมือดียังไง ก็ประกอบไม่เข้าครับ

การทำเดือยหางเหยี่ยว จะทำฝั่งตัวผู้ (หางเหยี่ยว) หรือฝั่งตัวเมีย (ฝั่งพิน) ก่อนก็ได้ แล้วแต่ถนัด
ผมเป็นพวกทำหางก่อนครับ (tail first)

ทำไมต้อง 3 หาง??
คือแบบนี้ครับ การทำเก๊ะ หางเหยี่ยวจะต้องบังร่องที่เซาะไว้เสมอ ดังรูปข้างล่าง เมื่อประกอบเป็นเก๊ะแล้ว เราจะไม่เห็นรูร่องนี้ ที่ด้านข้างเก๊ะครับ แต่จะไปเห็นที่ด้านท้ายเก๊ะ (ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นรูนี้กันบ่อยนัก)


เมื่อผมวาดหางทับร่องนี้แล้ว ก็พบว่า 1-2 หาง มันจะดูตลก และดูใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับไซส์
พอทำ 3 หาง แล้วสเกลมันจะดูสวยกว่าครับ กำลังน่ารัก (แต่คนทำ ตาจะบอดเอา)

เมื่อได้ฝั่งหาง เราก็ลอกแบบไปที่ฝั่งเดือยตัวเมีย (ฝั่งพิน)

ดูไกลๆ

ทาบและใช้มีดปลายแหลมขีดเส้น

ระบายสีดำ เพื่อให้ทราบว่า เราจะตัดส่วนนี้ทิ้งออกไป

ใช้เลื่อยบั้งทิ้งไม้ส่วนใหญ่ออกไป จากนั้น ใช้สิ่วกดเฉือนทีละนิดๆ จนได้พอดีกับเส้นที่ขีดไว้

ทดสอบการประกอบครั้งแรกครับ (มีแหว่งนิดๆ แหะๆ)

 เมื่อได้สองเก๊ะ ผมลองเสียบกลับเข้าที่ช่องเก๊ะ พบว่ายังฝืดๆอยู่บ้าง
แต่ถือว่ายังดีนะครับ เพราะฝืด คือ เราไสบางๆออกไปได้ (ดีกว่าหลวม ซึ่งแก้ไขไม่ได้)

ระหว่างรอท้องเก๊ะ

ไล่ทำเก๊ะอื่นๆไปเรื่อยๆครับ

หีบนี้ มี 7 เก๊ะ ทำเดือยหางเหยี่ยวทั้งหมด 28 คู่ครับ สนุกจริงๆ ได้ฝึกฝีมือจนคล่อง



หน้าเก๊ะ ผมทำเดือยหางเหยี่ยวแบบไม่ทะลุนะครับ (half blind dovetail)
เมื่อมองจากหน้าเก๊ะ จะไม่เห็นเดือยอะไรเลย เป็นการซ่อนเดือย เพื่อโชว์หน้าเก๊ะสวยๆ

ชิ้นทางซ้าย คือ ด้านข้างและด้านหลังเก๊ะ ใช้ไม้สัก --> คือเดือยหัวผู้ (ฝั่งหางเหยี่ยว)
ชิ้นทางขวา คือ ด้านหน้าเก๊ะ ใช้ไม้มะฮอกกานี --> คือเดือยตัวเมีย (ฝั่งพิน)


เดือยหางเหยี่ยวไม่ทะลุ จะยากตรงการควักไม้ออกที่ฝั่งพินครับ
เราจะบั้งเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใช้สิ่วกดตัดออกไปทีละเล็กทีละน้อย

ทดสอบประกอบ

นูนออกมานิดๆ เดี๋ยวไสปรับบาง จะเนียนครับ

อีกฝั่ง

ตอนหน้าทำท้องเก๊ะ แล้วทากาวประกอบครับ


Thursday, May 14, 2015

Day04_Divider_Runner

เมื่อโครงหีบเสร็จ เราทำตัวคั่นหีบ เพื่อแบ่งช่องเก๊ะต่างๆครับดังรูป



ครั้งที่แล้ว เราทำโครงหีบ และฝาบาน ดังรูปนี้ครับ

เราวัดขนาดตามแบบที่เราวาดไว้ โดยทำตัวคั่นบนก่อน ดังแสดงในรูป คือไม้ชิ้นที่ลอยกลางๆหีบ

วัดขนาดจากฝาบนลงมา และลากเส้นด้านในหีบไปรอบๆครับ

จากนั้น ก็ถอดชิ้นส่วนออกมา ทำเดือยตัวเมียทั้ง 3 ด้าน (ด้านข้างหีบ 2 ชิ้น และด้านหลังหีบ 1 ชิ้น)

ส่วนตัวคั่น ก็ตัดไม้ให้ได้ขนาด และใช้กบฉีหัว ทำเดือยตัวผู้ ไสไปจนเสียบได้สนิทพอดี

ตัวคั่นชิ้นแรกนี้ เป็นตัวแบ่งหีบออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนบนเหนือตัวคั่น เป็นช่องกว้างๆ

ส่วนล่างจะเป็นเก๊ะทั้งหมด
ดังนั้น การหาระยะของตัวคั่นที่สอง เราสามารถปรับช่องให้แคบกว้าง ดังรูปแสดงตัวอย่าง

ช่องกว้าง

หากเลื่อนตัวคั่นที่สองขึ้นไปชิดๆตัวคั่นบน ก็จะได้ช่องเก๊ะแคบลงมาอีกสักหน่อย

เรื่องความสูงเก๊ะ เป็นเรื่องที่คำนวณไว้ตั้งแต่วาดแบบครับ

จุดประสงค์ของหีบ คือ เก็บเครื่องมือวัด ดังนั้นเก๊ะควรจะเป็นเก๊ะสูงระหว่าง 1" - 1 1/2"
เพราะเครื่องมืองานวัด จะไม่หนาเกิน 1"
เมื่อเราเผื่อท้องเก๊ะ เราก็จะทำเก๊ะสูง 1 1/4" ครับ
เราจะมี 2 เก๊ะซ้อนกัน ดังนั้น ตัวคั่นจะห่างกันประมาณ 2 1/2"




เมื่อลอกขนาดลงมาแล้ว เราก็ใช้ทริมเมอร์เซาะร่องตัวเมีย และกบฉีหัวเซาะร่องตัวผู้

ทดลองประกอบ

เสร็จตัวคั่นแนวนอน 2 ตัว ก็เป็นตัวคั่นแนวตั้งครับ

หีบใบนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงๆละ 6"
เราใช้เดือยเซาะร่องเหมือนเดิม (ฝรั่งเขาเรียกเดือยแบบนี้ว่า dado ดาโด้)
ในรูป เห็นมีช่องว่างด้านบน
ทำพลาดครับ...ตอนวัดขนาด ไม่ได้ชดเชย ตัดไม้ไปแล้ว ทำเดือยไปแล้ว จึงมารู้ว่าเตี้ยไปสักนิด

แต่ไม่เป็นไรครับ...เพราะฝาหน้า จะมาบังรอยต่อตรงนี้พอดี

แล้วชิ้นสุดท้าย ก็ทำฝาหน้าปิดเข้าไป

ทดลองประกอบทั้งหมด หน้าตาหีบ จะเป็นดังรูป

เมื่อเปิดฝาบานออกมา จะเห็นช่องเก๊ะรอไว้แล้ว


**ช่องด้านบน เดี๋ยวตอนสุดท้าย จะใช้เลื่อย หั่นตัดทิ้งออกไปทั้งหมด ก็จะได้ฝาหีบ และช่องใหญ่ๆด้านบนครับ

เราได้โครงหีบหมดแล้ว ตอนหน้า มาทำเก๊ะครับ

Wednesday, May 6, 2015

Day03_ทำหน้าบาน

หีบใบนี้ มีลูกเล่นตรงฝาหน้าบานครับ เราสามารถเปิดฝาออกมา และเปิดปิดเก๊ะต่างๆภายใน
แต่หากเราใช้ไม้ชิ้นเดียว รับรองมีบิดโก่งแน่นอน คุณ Gerstner จึงออกแบบหน้าบานไว้ ทำให้แก้ปัญหาเรื่องฝาบิด ดังรูปตัวอย่างนี้ครับ

หน้าบานแบบนี้ เป็นแบบเดียวกันกับหน้าบานตู้เก็บจานชาม และตู้ใบใหญ่ๆครับ
หลักการคือ เข้าไม้ 4 ชิ้นไว้เป็นกรอบ และมีบานลูกฟักชิ้นในตรงกลางอีก 1 แผ่น

เดือยเซาะร่องเหมือนเดิม...

เริ่มจากกบเซาะร่องกระจก
ผมไม่ได้ให้ร่องกระจกอยู่ตรงกลางนะครับ เพราะอยากให้ด้านหลังฝาตื้นๆสักนิด
(เดี๋ยวจะแปะกำมะหยีสีเขียว เวลาเปิดฝามา ใช้วางของมีค่าได้)

ด้านแนวตั้ง ก็กบฉีหัว
ไสโลด...หนาบางเท่าไหร่ ปรับได้ตามใจชอบ ทำจนพอดี

ทดลองประกอบ

บานกลาง ใช้กบลูกฟัก ของธรรมศํกดิ์การช่าง
ไม่ผิดหวังครับ


เมื่อทากาวแห้งดีแล้ว ก็ไสปรับขนาดให้พอดีๆ กับหน้าหีบครับ
ขณะปิดฝาหน้า

ขณะเปิดฝาหน้า

รอบหน้า เราจะตีช่องด้านใน สำหรับวางเก๊ะครับ