รอบนี้ เราจะทำหีบสุดหรู ต้นแบบจากหีบยี่ห้อดัง Gerstner & Sons ซึ่งสนนราคาขายอยู่เฉียด 30,000 บาท เป็นไม้จริงทั้งหมด
ผมไม่มีแบบอยู่ในมือเลยนะครับ เลยแกะแบบจากมิติที่ทราบเท่านั้น โดยค้นจากเว๊บไซด์ของ Gerstner ดูที่รุ่น Classic 41D และวาดใน Google SketchUp ซึ่งจะได้อธิบายรายละเอียด ที่มาที่ไป และการเข้าเดือยของชิ้นส่วนต่างๆ ตอนทำเดือยครับ
ครั้งนี้ เราจะมาเลือกไม้, เตรียมไม้กันก่อน
ขนาดของหีบใบนี้ หน้ากว้าง 20", ลึก 10 1/2" และสูง 13 1/2" ครับ
พวกเราไปบางโพ และไปได้ไม้ Sapele Mahogany มาชิ้นนึง หน้ากว้าง 11" หนา 1 1/8" ยาว 4 เมตร ลายไม้ควอเตอร์ซอล ถือว่าเข้าสเปคเลยครับ
ในกลุ่มไม้มะฮอกกานี จะแบ่งแยกสายพันธุ์ย่อยๆออกไป ดังเช่นชิ้นที่ซื้อมานี้ คือ Sapele Mahogany ซึ่งทางโรงไม้จะนิยมตัดควอเตอร์ ซอล (Quarter Sawn) เพื่อให้เกิดลายไม้สลับ เหลือบๆ ดังในรูป (ribbon strip)
หรือบางท่านอาจจะเคยพบเห็น Khaya Mahogany ซึ่งก็จะมีสีคล้ายๆกัน แต่จะไม่สลับลายเหลือบๆ มักจะพบเป็นไม้ชิ้นกว้างมากๆ หรือในเมืองไทย ก็มีมะฮอกกานีไทยเหมือนกัน
เนื่องจากผมเขียนแบบไว้ก่อนแล้ว จึงสามารถกะขนาด, จำนวน และความยาวไม้ที่ต้องการใช้งานได้เลย
เครื่องนี้ คือ เครื่องวัดความชื้นครับ เป็นแบบไม่มีเข็ม ใช้คลื่นความถี่ในการอ่านค่าความชื้นในไม้
ค่าที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง 5-15% ครับ
ดังในรูป ในเนื้อไม้ 100% จะมีส่วนของน้ำอยู่ในเนื้อไม้ ประมาณ 11% เท่านั้น
ถ้ามากกว่านี้ แสดงว่า ไม้ยังไม่แห้งพอ ถ้าขืนใช้งานไป ไม้อาจจะหด บิด โก่ง เพิ่มได้อีก
จากนั้น ตัดไม้เป็นชิ้นๆ โดยใช้กะบะตัดขวางมาช่วย..
ไม้หนักมากครับ เวลาเข็นเข้าตัด ต้องมีคนช่วยรับไม้ที่ขาดออกจากกันไว้ด้วยในรูป คือเลื่อยวงเดือน Makita 16" ครับ เป็นรุ่นที่ทนมากๆ
เกรนไม้ควอเตอร์ซอล ดังภาพ
เกรนไม้แบบนี้ ไม้จะหด ขยาย เข้าออกในทิศทางซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายเท่านั้นครับ
จะไม่บิด แอ่น โก่งจนเสียรูป ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้เกรนแบบนี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องไม้บิดในภายหลัง
อยู่ทนกันเป็นสิบๆปีละครับ
ไม้ทั้งหมด 5 ชิ้น เราก็เริ่มจากการไสเปิดหน้า 1 หน้า 2 เสียก่อน
แหม...เห็นลายแบบนี้ ถ้าอยากรู้ว่า ลงเคลือบผิวแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ให้เอาน้ำเปล่าลูบดูก่อนได้เลยครับ
เนื่องจากไม้หนา 1 1/8" ผมจึงนำไปผ่าแบ่งครึ่ง เพื่อให้ได้ความหนาประมาณ 1/2"
ทดลองชั่งน้ำหนัก ไม้ 1 ชิ้น ประมาณ 3 กก.
เรามี 5 ชิ้น หีบใบนี้ก็หนักประมาณ 15 กก. ยังไม่รวมเก๊ะนะครับ
แต่เดี๋ยวไสปรับแล้ว นน.จะลดลงเหลือเท่าไหร่ เราจะมาดูกันอีกที
เมื่อผ่าแล้ว เราจะเปิดบุ๊ทแม็ทช์ครับ (book match)
แล้วก็ถึงเวลาออกแรงอีกแล้ว...ไสไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเรียบ และหนาเท่ากันทุกแผ่น
เรามีไม้ตั้งต้น 5 แผ่น
ไปผ่าครึ่ง ก็เป็น 10 แผ่น
ทุกแผ่น ไสหน้าหลัง ก็เป็น 20 หน้า
ตัวเล็กสุด คือกบจิ๋ว 3"
ไล่จากล่างขึ้นบน คือ กบล้าง 6", กบบุก 9", กบล้าง 14" และกบล้าง 22"
โจทย์ของเราคือไม้ยาว 20" ผมจึงเลือกกบ 14", 22" เป็นหลักครับ
เอาตัว 14" ไสเปิดให้หมด และใช้ 22" ปรับระนาบไม้ให้เรียบสนิททั้งหน้ากระดาน
หมดวัน...
เราได้ไม้มา 4 จาก 10 ชิ้น ลายพร้อยๆ เหลือบๆ
อดใจไม่ไหว หากอยากเห็นลายไม้เมื่อทำสำเร็จ ให้เอาน้ำเช็ดๆหน้าไม้ ส่องกับแดด
ผมยังไม่ได้เก็บหมดจดนะครับ...เรียบประมาณ 90% เพราะต้องดูความหนาไม้ของทุกๆแผ่นก่อน ว่าแผ่นใดบางสุด เราก็ต้องปรับความหนาแผ่นอื่นๆ ให้ลดลงมาตามแผ่นที่บางสุด
และนั่นจะเป็นสเปคความหนาของหีบครับ
ย้อนขั้นตอนกลับขึ้นไป...
จริงๆแล้ว เราได้กำหนดความหนาหีบไว้ที่ 1/2" ก่อนแล้วครับ
แต่ข้อจำกัดคือ เราได้ไม้หนา 1 1/8" มาตั้งแต่ทีแรก เมื่อไสปรับ 4 หน้า รวมถึงคลองเลื่อยจากการผ่า ก็คงจะได้ไม่เต็ม 1/2" เป๊ะ อาจจะจบที่ 3/8 หรือ 7/16 ครับ เดี๋ยวดูกันอีกที
แรงที่หมดไป ได้กองขี้กบไม้ฟูๆ
ระหว่างนี้ เราจะเตรียมไม้แผ่นที่เหลือให้ครบ แล้วมาเล่าให้ฟังกันต่อครับ
นับถือในความอดทน
ReplyDeleteก็คงไม่ต่างกับงานผ้าเนาะ
:)