Sunday, April 20, 2014

ตกแต่งชิ้นงานด้วยแบนดิ้ง (Banding Inlay)

แบนดิ้งคืออะไร (Banding Inlay)
 แบนดิ้ง คือศิลปะการตกแต่งชิ้นงานไม้จากทางชาติตะวันตก โดยการนำไม้หลายๆชนิด หลายสี มาสลับลาย สลับสี จากนั้นเราจะเซาะร่องชิ้นงานที่ต้องการตกแต่ง และฝังแบนดิ้งลงไป
 แบนดิ้งเป็นการตกแต่งประเภทเดียวกันกับการทำอินเลย์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝังลายมุก (Perl Inlay) การฝังชิ้นโลหะ (Metal Inlay) คำว่า แบนดิ้ง จะหมายถึง การตกแต่งรูปทรงทางยาวๆเท่านั้น
  หลายๆท่าน เป็นรูปแล้วร้องอ๋อ เพราะสามารถซื้อแบนดิ้งแถบๆแบบนี้ได้ที่บางโพ ขายเป็นเส้น ยาวประมาณ 1 เมตร ราคาหลักร้อย ลายที่ยากๆก็จะแพงขึ้นไปอีก เพราะทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ


  การตกแต่งแบนดิ้ง ต้องดูภาพรวมของเฟอร์นิเจอร์ด้วย เพราะแบนดิ้งเป็นที่นิยมในเฟอร์นิเจอร์ยุคนึงของอเมริกา มักนิยมฝังไว้ที่โต๊ะ วิ่งเป็นเส้นเล็กๆตามขอบโต๊ะ ขอบขาโต๊ะ การนำแบนดิ้งเข้ามาผสมผสานกับชิ้นงาน ไม่มากไป ไม่น้อยไป และการต่อลายแบนดิ้ง การจบลาย จึงนับเป็นศิลปะขั้นสูงทีเดียว

  บทความนี้ เราจะทำแบนดิ้งใช้เองครับ เราสามารถออกแบบลาย, ความกว้าง และความหนา ตามที่เราต้องการ เพื่อให้สามารถสอดรับกับแบบชิ้นงานที่เราเตรียมไว้ได้

ลุยเลยดีกว่า...

ตอนที่สร้างแคลป์ Moxxon ผมได้เซาะร่องหน้าแคลป์ไว้ กะว่าจะทำแบนดิ้งตกแต่งสักหน่อย วิ่งเป็นเส้นเล็กๆ ยาวไปตลอดหน้าแคลป์
จากรูป ส่วนที่เราเซาะร่องไว้ประมาณ 6 มม. เป็นเส้นเล็กๆวิ่งทั้งซ้ายและขวา คือจุดที่เราจะตกแต่งด้วยแบนดิ้ง


และนี่คือ เมื่อตกแต่งแล้ว

ตอนที่ออกแบบ กะทำลายแบนดิ้ง ดำขาวดำ วิ่งสลับกัน โดยมีช่วงหยุด ซ้ำช่องขาวสักหน่อย

หากไม่ทราบมาก่อน หลายๆท่านอาจจะคิดว่า คงตัดไม้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ เหมือนโมเสก แล้วไล่ติดทีละชิ้นไปเรื่อยๆ
แต่จริงๆ มีวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั้นครับ...

วัสดุที่จะใช้ตัดเส้น ผมเลือกใช้วีเนียร์ไม้สัก หนา 0.6มม. กว้าง 2 นิ้ว (หาซื้อได้ทั่วไปที่บางโพ)
ส่วนลายแบนดิ้ง ดำขาวดำ ผมใช้ไม้วอลนัทแทนสีเข้ม ไม้เมเปิ้ลแทนสีอ่อน
คำนวณถอยหลังกลับมา เราจึงต้องเตรียมไม้แผ่นบาง 4.8 มม. สำหรับช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆแต่ละช่อง



เราเตรียมไม้ท่อนใหญ่ด้วยกบไสไม้ ไสเรียบ
จากนั้น นำเข้าเลื่อยวงเดือน ตัดสไลด์ออกเป็นแผ่นบาง 4.8มม.

ทากาวทุกแผ่น ประกบซ้อนสลับสีกันกัน (เรียกว่า ลามิเนต- laminate)

ผมทำกล่องแม่พิมพ์จาก MDF เป็นกล่องทรงยาวๆ หน้าตัดรูปตัว U
ทำหน้าทีบีบแผ่นไม้ให้อยู่ในทรง ไม่ดิ้นไปมา ดังในรูป


ทิ้งไว้ 1-2 คืน จึงแกะออกจากแม่พิมพ์

ตามสภาพ กาวแห้งเขรอะๆ ก็ต้องไสปรับทั้ง 4 ด้าน





ในขั้นตอนการทำแบนดิ้ง เราต้องละเอียดทุกขั้นตอน ไสก็ต้องเรียบ ต้องฉาก ปล่อยนิดหน่อยไปไม่ได้หากเราละเลยไปจนถึงตอนสุดท้ายแล้ว ความไม่เรียบร้อย ลายไม้ต่อกันไม่สนิท จะฟ้องออกมาทั้งหมด และแก้ไขไม่ได้ครับ...ต้องทิ้งและทำใหม่เท่านั้น

จากนั้น เราจะตัดขวางท่อนไม้สลับสีชิ้นนี้ (cross cut) ให้มีความกว้าง 4.8มม. เช่นกัน

จะเลือกใช้เลื่อยวงเดือน+กะบะตัดขวาง ตั้งจิ๊กชนทำระยะก็ได้นะครับ เลื่อยวงเดือนมีคลองเลื่อย 2.5มม. การตัดขวางทุกครั้ง จึงจะเสียเนื้อไม้ตามคลองเลื่อยเสมอ

ช่วงนี้สงกรานต์ครับ วันหยุด ไม่ควรส่งเสียงดัง ผมเลยเลือกใช้เลื่อยญี่ปุ่น ตัดด้วยมือนี่ละครับ

จิ๊กตัด 90 ตัวนี้ ก็ทำขึ้นมาใหม่ ใช้ระบบแม่เหล็กดูดๆเหมือนเคย
ไม้ชิ้นทางขวา เป็นตัวชน สำหรับวัดระยะให้ชิ้นลามิเนต พ้นออกมา 4.8มม. (อย่าลืม หักลบคลองเลื่อยไปด้วย)
เอาเวอร์เนียแตะชนเบาๆ วัดระยะห่างจากคลองเลื่อยออกมา 4.8มม. แล้วล็อคชิ้นงาน เตรียมตัด


สภาพชิ้นงานที่ถูกตัดออก

ลองวัดชิ้นงาน เช็คความถูกต้อง

ผมลองตัดอยู่หลายครั้ง ปรับจิ๊ก ปรับตัวชน และมั่นวัดบ่อยๆ
ไม่ต้องไปหวังว่าจะตัดได้ 4.8มม. ทุกชิ้น ทุกรอบนะครับ เพราะแค่เราหนีบแคลป์แรงๆ ไม้ก็ขยับนิดๆหน่อยๆ หรือแม้แต่เราออกแรงเลื่อยมากไป เลื่อยก็จะกินเลยนิดๆไปบ้าง
(หนักสุด เลื่อยๆอยู่แม่เหล็กหลุด..ดีว่า ไม่สร้างความเสียหายอะไร)

เฉลี่ยๆความกว้างที่ตัด อยู่ระหว่าง 4.65 - 4.95 มม. ครับ นั่นคือ 4.8 มม. บวกลบ 15/100 มม.

**นอกเรื่องสักนิด หากเป็นมาตรวัดไทย
1 ไข่เหา ประมาณ 4/100 มม.
ดังนั้น ระยะผิดพลาดของเราตรงนี้ 15/100 มม. ก็ประมาณ 4 ไข่เห่า
ฟังสนุกๆดีครับ

มาว่ากันต่อ...
ตัดมือแบบนี้ ประมาณ 50 ครั้ง หมดไปค่อนวัน ได้ชิ้นงานเป็นบั้งๆ เป็นแว่นๆ ดังรูป




เลื่อยญี่ปุ่น (Ryoba) ใช้งานได้ดี ไม่ผิดหวังครับ รอยเลื่อยเรียบกริ๊บ
ขอบชิ้นงานไม่เหวอะ รอยตัดเรียบตรงเป๊ะ
(นึกในใจว่า ใช้เครื่องอาจจะไม่ดีแบบนี้ เพราะมอเตอร์กำลังแรง มักจะเฉือนขอบชิ้นงานเล็กขนาดนี้ให้เหวอะเสมอ)

หากเราเอาแต่ละชิ้นมาวางนอน และเรียงต่อๆกันไป เราจะได้ลายแบบนี้
เหมือนๆ ดำขาวดำ สลับกันไปเรื่อย (แต่ของผม มีสีขาวซ้ำทุกๆ 8 ช่อง)
หรือหากเราวางซ้อนกัน 3 ชั้น เหลื่อมๆกัน เราก็จะได้ลายหมากรุก

เริ่มมองภาพออกแล้วใช่มั๊ยครับ...

ดังนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียไม้ช่วงแรก
เราตัดไม้หนาบางไม่เท่ากัน ก็จะได้ตารางไม่เท่ากัน เล็กใหญ่บ้าง
ไสไม่เรียบจริง ก็จะเกิดช่องว่างเป็นเส้นเล็กๆ
ทากาวไม่ทั่ว ชิ้นงานก็จะหลุด
ปัญหาร้อยแปด จะผุดขึ้นมา

ถัดไป เราจะเตรียมไม้วีเนียร์ ตัดให้ได้ความกว้าง/ยาวที่เราต้องการ
ผมเอาแคลป์สปริง หนีบไม้บรรทัด และหนีบแผ่นวีเนียร์ให้เรียบ ใช้คัตเตอร์กรีด ตัดขอบเส้นให้ตรง และให้กว้าง 2 นิ้วพอดีๆ (ความยาวประมาณ 75 ซม. เท่ากับเส้นเซาะร่องที่หน้าแคลป์)

จากนั้น ซ้อมดราฟฟิต (Dry fit) วางชิ้นไม้แว่นๆนี้ บนวีเนียร์
ทุกชิ้นจะถูกทากาว และหนีบอัดไว้ในกล่องแม่พิมพ์

ระหว่างนี้เอง ก็พบว่า มีบางชิ้น ชนกันไม่สนิทจริง
หากไม่แก้ไขตอนนี้ สุดท้าย จะเกิดช่องโหว่ เป็นเส้นกาวเล็กๆ

ก็เลยได้เวลาของพระรองประจำช็อป...กระดานไสฉาก นั่นเองครับ
ไสแล้วมั่นวัดฉากบ่อยๆ ขาดนิด ขาดหน่อย เติมได้เสมอ...
เราไสบางๆ นิดเดียวนะครับ หากไสไปมาก เดี๋ยวช่องดำขาวดำ จะไม่เท่ากันอีก

ทดสอบการชนสนิทของแต่ละแว่น ผมต้องเขียนเบอร์กำกับไว้ด้วย เพราะบางชิ้นได้มีการไสปรับไปบ้าง

แล้วก็ทากาว และยึดแคลป์ ทิ้งไว้ข้ามคืน

ดังในรูป แว่นๆไม้ที่โผล่ออกมา จะมีวีเนียร์บางๆ ขนาบทั้งสองฝั่ง ซ้ายและขวา

ผมทิ้งให้กาวแห้งสัก 2 วันนะครับ เพราะชิ้นงานถูกขังอยู่ในแม่พิมพ์ กาวที่อยู่ด้านในๆ จะแห้งช้ากว่าปกติ เพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

ผ่านไป 2 วัน แกะแม่พิมพ์ออกมา จะได้ชิ้นงานแบนๆ กว้างๆ
ผมจึงนำมาหนีบที่แคลป์ เพื่อเตรียมไสหน้าตัด ขูดคราบกาวทิ้งไป

พอไสไปสัก 2-3 ครั้ง ลายเริ่มชัดเจน


วัดระยะกว้างสักหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถใส่ลงในร่อง 6 มม.ได้
หากใหญ่เกิน เราจะขัดแบนดิ้งนี้ไม่ได้ เพราะวีเนียร์ไม้สักบางมาก ต้องไปแก้ไขที่การเซาะร่องให้กว้างขึ้นอีกนิดแทน

จริงๆ การฝังอินเลย์ที่ถูกต้อง เราควรจะทำตัวอินเลย์เสียก่อน แล้วจึงไปเซาะร่องมารับกับขนาดอินเลย์
(ในโปรเจ็คท์นี้ ผมทสลับขั้นตอนนะครับ เพราะเซาะร่องก่อน)

ได้ดังชิ้นงานตามที่ออกแบบลายไว้



เริ่มนำมาตกแต่งแคลป์ ชน 45 ที่มุม

มองจากมุมกว้าง เริ่มมีสีสัน

และผมก็แปะไม้ประดู่ ปิดพื้นที่สี่เหลี่ยม เพื่อไปรับกับด้ามไม้ประดู่

มองจากด้านหน้า

และเมื่อใส่ด้ามจับประดู่ (เอาแบบด้ามจับจากด้ามไขควงยี่ห้อ Grace Gun Smith ไขควงสุดคลาสิค)
ก็จะไม่เห็นชิ้นส่วนเหล็กอีกต่อไป



ด้านหลังที่สกรูยื่นออกมา ผมทำวงแหวนไม้ประดู่ปิดทับอีกที เพื่อความเรียบร้อย



No comments:

Post a Comment