Friday, August 30, 2013

กระดานไสแปดเหลี่ยม Octagon Shooting Board

ผมกำลังจะทำด้ามจับเครื่องมืองานไม้ และยังไม่มีเครื่องกลึงไม้
จึงคิดทำด้ามจับเป็นทรงแปดเหลี่ยม น่าจะเหมาะมือ

ได้ไอเดียกระดานไสแปดเหลี่ยมจากคุณร็อบ เพื่อนงานไม้โคราช


การใช้งานเหมือนกับกระดานไสฉากปกติ แต่เราจะเพิ่มราง 45 องศามารับชิ้นงาน
การวางชิ้นงาน จึงจะพลิกชิ้นงานหันเอียง 45 ทาบลงบนราง
แล้วเราก็ไสมุมเหลี่ยมฉาก ตามปกติ


รางทางด้านซ้าย เราจะยึดติดตายไว้ไม่ขยับ (ผมถนัดขวา จึงล็อคทางซ้ายไว้ เพื่อยันกับแรงเฉือนขณะไสกบจากขวามือ)
รางทางขวา ทำให้ปรับเข้าออกได้ และที่สำคัญคือ ปรับเอียงได้
การปรับรางเอียงแบบนี้ เราจะทำด้ามแปดเหลี่ยมแบบลาดๆได้ นั่นคือ ที่โคนด้ามฐานแปดเหลี่ยมจะกว้าง และลู่เข้าไปยังยอดด้าม

เมื่อพลิกกระดานไสแปดเหลี่ยมขึ้นมา จะมีฮุคไว้เกี่ยวกับขอบโต๊ะ เวลาไสชิ้นงาน ตัวกระดานเองก็จะยึดเกาะขอบโต๊ะตลอดเวลา


ผลงานกระดานเขาละครับ ชอบจริงๆ

ขาดเหลือ ไม่แปดเหลี่ยม ก็เติมได้ ไสกินไปทีละนิด จนพอใจ

ด้ามดำ คือไม้พยูงดำ จะกลายไปเป็นส่วนประกอบของเลื่อยอก (ในตอนหน้า)
ส่วนด้ามออกส้ม เสี้ยนสีขาว คือไม้แคมปัส (คล้ายๆไม้แดงบ้านเรา) จะกลายไปเป็นด้ามหมุนสำหรับ hand screw

Sunday, August 25, 2013

Moxon Vise ปากกาสกรูคู่

วันนี้มาแนะนำ Moxon vise หรือภาษาไทยน่าจะเรียกว่า ปากกาสกรูคู่ ครับ

อ้างอิงจากคลิปการใช้งานของคุณรอย อันเดอร์ฮิล (Roy Underhill) ดังลิงค์ นี้

ทำไมต้องปากกาสกรูคู่??

คืออย่างนี้ครับ...ปากกาจับชิ้นงานที่เราคุ้นเคยกันดี จะมีสกรูเพลาเพียงตัวเดียว  ซึ่งก็สามารถช่วยจับชิ้นงานได้อรรถประโยชน์มากมาย แต่ปากกาสกรูคู่ จะช่วยเราจับชิ้นงานแผ่นใหญ่ๆได้ดี ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการทำเดือยสำหรับการประกอบหีบไม้ หรือตู้ ซึ่งถ้าเราใช้ปากกาสกรูเดียว เราก็ต้องหาแคลป์มาจับปลายชิ้นทางอีกฝากนึง

ดังในรูปตัวอย่างด้านบน จะเห็นว่า ปากกาสกรูคู่ ช่วยจับแผ่นไม้ทั้งแผ่นได้ โด้ยการสอดแผ่นไม้ทั้งแผ่นผ่านปากกาลงไปเลย หรือแม้แต่ใช้ปากกาจับแผ่นไม้ให้มั่นคง เพื่อให้เราสามารถวาดแบบเดือยลงบนสันไม้ตลอดทั้งหมดได้เลย

อุปกรณ์การทำปากกาสกรูคู่ หาได้ไม่ยากครับ เพลาสกรูหาได้จากโอเดียน ซึ่งผมใช้ขนาด 1 1/4" ยาว 12" ตอนซื้อ ก็ซื้อครบเซ็ตมาพร้อมกับเดือยหกเหลี่ยมได้เลยครับ

ส่วนไม้ทำปากกา ก็ควรจะหนาอย่างน้อย 1 1/2" ขึ้นไป และความสูงของปากกา ก็ตั้งแต่ 4" - 6"

พอดีผมมีไม้แดงทำเสา ขนาด 4 1/2" x 4 1/2" ยาว 62"
ผมจึงจะทำปากกา สูง 4 1/2", ปากกาชิ้นหน้า หนา 2 1/2" และปากกาชิ้นหลัง หนา 4 1/2"
ความยาวทั้งหมด คือ 31"

แล้วเราก็ตัดด้วยเลื่อยญี่ปุ่น Ryoba


จากนั้น เราก็ไสไม้ปรับหน้าที่ 1

ตามด้วยหน้า 2 3 4
เราจะไสเสาแบบนี้ทั้งสองท่อน (ตามที่ตอนแรกสุด เราหั่นแบ่งชิ้นยาวออกมา)

เนื่องจากธรรมชาติของไม้แดง จะมีร่องเสี้ยนใหญ่ หรือมีท่อน้ำใหญ่นั่นเอง ดังนั้น ไม้แดงจึงมีการหดตัว หรือการขยับตัว บิด ได้ง่ายมาก เพราะน้ำระเหยออกไปได้มาก

เมื่อไม้หดตัวเร็วเกินไป ก็จะมีอาการแตก ร้าว โดยเฉพาะบริเวณหัวไม้ เพราะบริเวณนั้นเป็นด้านเปิดของปลายท่อน้ำนั่นเอง
เราจึงจัดการความเสี่ยง ด้วยการทากาวผสมน้ำบริเวณหัวไม้ เพื่อให้เนื้อกาวเข้าไปอุดปลายเปิดท่อ ป้องกันไม่ให้น้ำระเหยเร็วเกินไป หรือหากมีเทียนไข เราจะลนเทียนลงไปทั่วๆหัวไม้เลยก็ได้ครับ
ไอเดียก็คือ เราจะป้องกันการระเหยของน้ำในท่อ บริเวณปลายเปิดทั้งสองฝั่งของท่อนไม้ครับ

จากนั้น เราจะผ่าไม้ให้ได้ขนาดสำหรับทำปากกาชิ้นหน้า...หนา 2 1/2"
การผ่ากับโต๊ะเลื่อยวงเดือน เราต้องตั้งความสูงใบทีละนิดนะครับ เช่น ให้กินไม้ทีละ 1"

ในรูป ผมลองตั้งใบให้ขึ้นสูงที่สุด เพื่อดูว่าสามารถผ่าไม้ได้สูงเท่าใด
การผ่าไม้ที่สูงมากๆ ก็ต้องกลับชิ้นงานครับ ให้รอยผ่ามาเจอกันตรงกลาง

หลังจากผ่าเสร็จแล้ว

ผมแบหน้าไม้ที่ผ่าให้เห็นรอยคลองเลื่อย
จะเห็นว่า เราผ่าไม้จากทั้งสองฝั่ง มาเจอกันตรงกลาง
เดี๋ยวเราจะไสเก็บหน้านี้ทั้งหมดครับ ให้เรียบเนียน

ลองวางเทียบชิ้นงาน ทั้งปากกาชิ้นหน้า และปากกาชิ้นหลัง
เราต้องไสปรับความสูง ความหนา ในหน้าต่างๆทั้งสองชิ้น ให้ได้เท่าๆกัน


ปรับไม้เสร็จเรียบร้อย...งานจริง เริ่มจากนี้ครับ

เราวาดหาตำแหน่งสกรูทั้งสองชิ้นเสียก่อน และใช้วงเวียนวาดวงกลม เพื่อกะขนาด ตำแหน่งของสกรูเพลาบนชิ้นงาน

แล้วก็ใช้ดอกขูดตาไม้ (forstner bit) เจาะรูผ่านปากกาชิ้นหน้าไปเลย
เนื่องจากขนาดเพลาคือ 1 1/4" เราก็จะเจาะรูผ่านที่ 1 3/8"

ทดสอบการวางตำแหน่งเพลาสกรู

จากนั้น เราจะมากำหนดตำแหน่งของรูเพลาบนปากกาชิ้นหลัง
ผมวาดวงกลมขนาดต่างๆไว้หลายๆวง เพราะเดี๋ยวเราต้องเจาะหลายๆขนาด
1) รู 2 1/8" ลึก 2 หุน สำหรับเตรียมฝังลายไม้ เพื่อบังหัวน็อตหกเหลี่ยม
2) รู 1 5/8" ลึก 2" สำหรับฝังน็อตตัวเมืยทั้งตัว ให้จมลงในชิ้นงาน
3) รู 1 3/8" เจาะทะลุผ่านทั้งหมด เพื่อให้เพลาร้อยผ่านไปได้
ทั้ง 3 รู จะมีจุดศูนย์กลางร่วมกันนะครับ

ช่วงที่เจาะดอก forstner ดอกจะร้อนทีเดียว ให้เราใช้เทียนไขมาทาที่ดอก เพื่อลดการเสียดสีกับไม้ครับ

เมื่อเจาะรูเพลาทั้งหมดแล้ว เราก็จะมาติดตั้งเหล็กยึดหัวเพลา
ในรูป ผมใช้ดอก self-centering มาช่วย เพื่อจะได้รูน็อตที่กึ่งกลางของรูแผ่นเหล็กจริงๆ


เมื่อติดตั้งเพลาเสร็จ ก็จะได้ดังรูป
จากนั้น เราจะไปลุยที่น็อตตัวเมียหกเหลี่ยมกัน

ผมจะขยับปากกาทั้งสองชิ้นให้ตรงกัน และทดลองหมุนฟรีๆ เพื่อดูว่าเราสามารถหมุนเพลาคู่กับน็อตตัวเมียได้ลื่นไหล สะดวกหรือไม่
จากนั้น เราจึงกำหนดตำแหน่งของหัวน็อตหกเหลี่ยม วาดดินสอตามขอบน็อตได้เลย
ในรูป จะเห็นว่า มันไม่กึ่งกลางเป๊ะๆ เพราะสว่านแท่นของผมมีค่าเบี่ยงเบนอยู่บ้าง
แต่ไม่เป็นไรครับ...เดี๋ยวเราจะปิดหัวน็อตตัวนี้อีกชั้นนึง ก็พอจะประดับประดาสวยงามไหว

วาดเสร็จ ก็ลุยด้วยสิ่ว 1" เลยครับ ในรูปนี้คือ น็อตลงไปได้ครึ่งทางละ

ลุยไปอีกครึ่งทาง ก็จะได้ดังรูป
 จะเห็นว่า ผมเซาะร่องวงกลมรอไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว...
เพราะสุดท้าย ผมจะหาไม้แผ่นวงกลม มาปิดอีกชั้นนึง เพื่อบังน็อตตัวเมียครับ

ทดสอบการหมุนใช้งาน ปากกาสกรูคู่ตัวนี้ สามารถเปิดปากกาได้กว้างสุดที่ 4" ครับ

เมื่อปิดสนิท

ทดสอบการหนีบชิ้นงาน แผ่นไม้อัด


เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
รายละเอียดลึกๆ ผมไม่ได้เล่าละเอียดทั้งหมดนะครับ เพราะเกรงจะงง และเดี๋ยวบทความจะน่าเบื่อ
หากท่านใดสนใจจะสร้างปากกา Moxon ตัวนี้ สามารถส่งอีเมลล์มาสอบถามได้เลยครับ
ยินดีให้คำปรึกษา และแบ่งปันประสบการณ์ครับ



Thursday, August 22, 2013

สว่านไร้สาย แบตไม่เสื่อม

เชื่อว่าทุกท่านที่ซื้อสว่านไร้สาย (Cordless drill) ต้องมีปัญหาเรื่องแบ็ตเสื่อมกันทั้งโลก
การซื้อแบ็ตก้อนใหม่ แพงมากๆครับ แพงขนาดว่า ซื้อใหม่คุ้มกว่า

แน่นอนว่า ของแบบนี้ คงกินเงินช่างทั่วโลกอีกไม่ได้เช่นกัน เพราะช่างจะดัดแปลงสว่านดังกล่าวให้เชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์ได้

แล้ววันนี้ ก็ถึงคราวสว่านไร้สายของผมบ้าง....

ความจริง ตอนซื้อสว่านตัวนี้ มันลดราคาลงมาถูกมากๆ จนต้องซื้อหน่ะครับ และทำใจไว้ตั้งแต่ตอนโน้นว่า วันนึง ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องแบ็ตเสื่อมแน่นอน

สว่านไร้สาย Black & Decker รุ่นนี้ สีเทา ใช้ไฟ DC 12 Volt กระแสไฟ 1 Amp.

ดังนั้น ผมจึงเลือกซื้อหาอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน 220 โวลต์ --> 12 โวลต์ โดยที่ให้กระแสได้ 1 Amp ดังเช่นสเปค

ความจริง ถ้าสังเกตอะแดปเตอร์ที่เสียบไฟกับเราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตที่บ้าน อันนั้น ก็ใช้ 12 โวลต์ กระแสไฟ 1 แอมป์ เช่นกัน แต่หากผมใช้่อันนั้น ก็คงจะเล่นเน็ตไม่ได้ เลยต้องออกเสาะหาอีกตัวมาใช้งาน

ฟลุคมากครับ เดินคลองถม คุ้ยๆหากองอะแดปเตอร์มือสอง พบว่า 12 โวลต์ กระแสไฟ 1 แอมป์ เท่ากันพอดิบพอดี อันละ 50 บาท


จากนั้น ก็หาซื้อขั้วต่อกับอะแดปเตอร์ดังกล่าว ที่บ้านหม้อ อันละ 10 บาท

เมื่ออุปกรณ์ครบ ก็เริ่มได้


ตัวฐานของสว่านไร้สาย จะเป็นน็อต 3 ตัวดังรูป ก็ไขสกรูออกมาเลยครับ รื้อออกมาให้หมด
ก้อนแบตเตอร์รี่ เขาจะห่อไว้มิดชิด ก็แกะออกให้หมด ใช้ไขควงแงะจุดเชื่อมต่อสายไฟกับแบตออกมา ก็จะได้ดังรูป


เราก็ต่อสายไฟ เชื่อมขั้วต่อ ด้วยการบัดกรี

ไอเดีย ก็คือ เอาสายไฟคู่นี้ มาเชื่อมต่อกันครับ

ผมใช้ดอกใบพาย 12มม. เจาะตรงฐาน เพื่อยึดขั้วต่อ ดังรูป เปรียบเทียบกับฐานปกติทางด้านซ้าย

แล้วก็บัดกรี จับคู่ครับ...
ใครไม่แน่ใจ ให้ใช้โวลต์มิเตอร์ทดสอบนะครับ ขั้วบวกลบ เช็คได้เลย

ประกอบทุกอย่างกลับเข้าไปที่เดิม แต่ไม่ต้องเอาแบตเข้าไปด้วยนะครับ เพราะมันจะยัดไม่ลงแล้ว และจะหนักซะเปล่าๆ

เท่านี้ เราก็มีสว่านมือแบตไม่เสื่อมครับ