Thursday, February 21, 2013

ปฐมนิเทศ ใบกบใหม่, สิ่วใหม่ ตอนที่ 1

วันนี้ จะเล่าเรื่องการปรับหน้ามีดสิ่ว มีดใบกบครับ

ปรับหน้ามีดคืออะไร?
สิ่ว หรือใบกบ ที่เราได้มาใหม่ ไม่ว่าจะยี่ห้อใด ถูกแพงแค่ไหน เราควรจะตรวจสอบความเรียบของผิวเหล็ก และเช็คด้านฉาก ทั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้ทราบว่า สิ่วหรือใบกบใหม่นี้ มีจุดที่ต้องปรับแก้ เพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง

อย่างที่เราทราบดีกันว่า ความคมของสิ่ว หรือใบกบ เกิดจากผิวเหล็กสองหน้ามาจรดกัน ยิ่งแต่ละผิวเรียบมากเท่าใด ก็จะส่งผลให้สิ่วหรือใบกบนั้น มีความคมมากเท่านั้น ดังรูป


ความคมในอุดมคติของเรา ก็คือในรูปด้านขวา สีแดง
ผิวเหล็กที่เรียบ สองผิวมาจรดกันเป๊ะ ส่งผลให้เราได้สิ่วที่คม และจะทำงานไม้ได้ง่าย+สนุก...

งั้นจะรู้ได้ไงว่า ผิวเหล็กเรียบจริง?
ในแล็ปหรือโรงงานระดับเทพๆ จะมีกล้องส่องระดับไมโคร ราคาสูง เพื่อดูภาพขยายของผิวเหล็ก
หรือมีเครื่องวัดการสะท้อนแสง เพื่อวัดค่าการสะท้อนเป็นมาตรฐานสากล

แต่ช็อปจิ๋วแบบเราๆท่านๆ คงดูด้วยตาเปล่าเท่านั้น โดยดูจากความมันเงาของผิวเหล็ก
เมื่อผิวหน้าของมีด ส่องกระทบกับแสง สะท้อนชัดมากเท่าใด เราก็อนุมานได้ว่า ผิวเหล็กนั้นเรียบมากๆ

รูปเริ่มต้น แสดง ด้านหลังของสิ่วใหม่จากโรงงานผลิต เราจะเห็นรอยเจียรของเครื่องจักร


ช็อปแบบจิ๋วๆของเรา ยังไม่มีหินลับมีดนะครับ
เรามาดูกันว่า มือ+กระดาษทรายน้ำ จะพาเราไปได้ไกลแค่ไหน

เมื่อใช้กระดาษทรายน้ำเบอร์ 120 ขัดไปได้สักพัก (10-15 นาที) และใช้กระดาษทรายน้ำเบอร์ 600 ขัดไปอีกสักหน่อย เพื่อให้เห็นระดับความสูงต่างของผิวเหล็ก
ผิวที่เริ่มสะท้อนวัตถุ(ด้านขอบๆในรูป) แสดงว่า บริเวณนี้มีความสูงกว่าผิวที่ยังดูมัวๆ (ตรงกลางๆ)

เราจึงยังคงใช้กระดาษทรายน้ำเบอร์ 120 ขัดไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ...เกือบชั่วโมงละครับ
และใช้เบอร์ 600 ขัดสัก 1 นาที เพื่อดูความเงาสะท้อน
เงาสะท้อนเริ่มมาแล้วนะครับ....
มีแค่มือกับกระดาษทราย เราก็ต้องอึดครับ อึดเท่านั้น...

ไม่ใช่รูปติดวิญญาณที่ไหนนะครับ มันคือ กล้องถ่ายรูป สะท้อนกับผิวเหล็ก

และสุดท้าย ท้ายสุด ผ่านไปอีกชั่วโมง เราจะได้ผิวเหล็กมันเงาทั่วทั้งหน้า

สำคัญที่สุดว่า ความเงา ต้องทั่วทั้งหน้านะครับ ยิ่งบริเวณขอบมีด บริเวณนั้นสำคัญมากที่สุด
เพราะที่เราขัดให้เรียบทั้งหมด ก็เพื่อให้ขอบเรียบที่สุด เท่าที่จะเรียบได้
ถ้าขอบยังไม่เงาสะท้อน เราก็ต้องขัดทั้งหน้าผิวไปเรื่อยๆ จนกว่าขอบจะเงาสะท้อน

ตัวอย่างที่ทำในวันนี้ เพื่อให้เห็นภาพเงาชัดเจน ผมจึงขัดเป็นบริเวณค่อนข้างกว้างนะครับ ใช้เวลานานทีเดียว แต่ในความเป็นจริง เราขัดเงาบริเวณขอบมีดเท่านั้น เช่น จากขอบมีดเข้ามาประมาณ 1-2 ซม.ก็เพียงพอแล้ว เพราะเราต้องการขอบเรียบ

เมื่อขอบด้านนี้เรียบ ไปเจอกับขอบอีกด้านที่เรียบ เราก็จะได้สิ่วที่คมมาก ส่งผลให้เราทำงานไม้ได้อย่างสนุกมือ ผลงานเนี๊ยบได้ใจ

No comments:

Post a Comment