รอบนี้ ขอเลือกใช้ลูกประคบ หรือฝรั่งเขาเรียกเทคนิคนี้ว่า French Polishing
เป็นเทคนิคดั้งเดิมจากช่างฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนำผ้ามาพับเป็นลูกประคบ และใช้ชแลคหยดเข้าไปในผ้า จากนั้นก็เอามือกำลูกประคบและขัดไปบนบริเวณชิ้นงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้น้ำยาชแลคซึมเข้าไปในเนื้อไม้ทีละนิด เป็นฟิลม์บางๆที่สุด ทำแบบนี้ไปหลายๆชั้น ก็จะได้การเคลือบผิวที่สวยงาม
ข้อดีของวิธีการนี้ ก็คือ เราสามารถได้ผิวเงาที่เราต้องการโดยที่ใช้วัสดุสิ้นเปลืองน้อย, ไม่มีกลิ่นติดค้างรุนแรง, อุปกรณ์ราคาไม่แพง และได้งานคุณภาพดีทีเดียว
และนี่เป็นกระบวนการทำมือ ต้องอดทนครับ ทำซ้ำๆไปหลายๆรอบต้องใจเย็น
อ้อ ผมเคลือบผิวโดยไม่ได้ถมร่องเสี้ยนนะครับ หากต้องการถมร่องเสี้ยน ไว้จะได้เล่าให้ฟังในชิ้นงานอื่นๆครับ (ทำลูกประคบแบบนี้ ก็ถมร่องเสี้ยนได้ และคุณภาพระดับส่องหน้าสะท้อนกันเลยทีเดียว)
เริ่มเลย...
ตัวลูกประคบ เราใช้ผ้าฝ้ายละเอียดๆ พับเป็นทบๆ จากนั้น ใช้ผ้าลินินขนาดสัก 6x6 หรือถ้าลูกใหญ่ก็ 8x8 นิ้ว มาห่อไว้
ส่วนชแลคในเมืองไทย ยี่ห้อดังๆ ก็คือ ชแลคมหาชัย แต่ก็ให้ระวังว่ามีของปลอมขายเยอะมาก
ผมซื้อจากบางโพ ขายเป็นเกล็ดๆ เป็นกิโลละประมาณ 450 บาท
เวลาใช้ ก็ผสมกับแอลกอฮอล์ สัดส่วนนี่ เอาจริงๆ ก็มีสูตรจากฝรั่งนะครับ
แต่รอบนี้ เชนช่วยผสมให้ กะๆเอา ให้มันอิ่มๆ (ค่อนข้างข้น) โดยเราตั้งทิ้งไว้หลายคืน ให้ตกตะกอน และเทส่วนน้ำๆ ออกมาใช้
วิธีใช้งาน เราก็หยดชแลคลงบนผ้าฝ้ายด้านใน แล้วจึงห่อลูกประคบ จากนั้นก็ถูวนๆ หมุนๆที่ชิ้นงาน
แอลกอฮอล์ จะระเหยเร็วมากครับ ถูๆไปจนชักฝืดๆ ก็หยดชแลคเข้าไปอีก ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ฟิลม์แต่ละชั้น ก็จะถูกรีดให้บางๆ ค่อยๆเคลือบผิวไปทีละน้อย ดังในรูป สีประดู่ว่าส้มอยู่แล้ว เคลือบผิวลงไปก็ส้มขึ้นไปอีก (แสงกล้องไม่ค่อยแน่นอน บางรูปสีสด บางรูปสีซีด)
ทำแบบนี้ไปสักบ่ายนึง ชิ้นงานจะเริ่มเงาๆละ
ผมต้องการเงาแค่นี้นะครับ หากต้องการเงากระจกเลย ต้องถมร่องเสี้ยน และถูชแลคไปอีกหลายๆรอบ เคลือบไปจนเริ่มสะท้อนหน้าตัวเอง
การเก็บลูกประคบ ให้เราเก็บทั้งก้อนไว้ในขวดโหลเล็กๆ ปิดให้สนิท เท่านี้เราก็สามารถหยิบมาใช้ได้อีกในวันรุ่งขึ้น หรือในอาทิตย์ถัดๆไป
แต่หากลูกประคบแข็งเป๊ก เราก็เอาไปแช่ในแอลกอฮอล์ เพื่อให้ชแลคเดิมละลายออก ลูกประคบก็จะนิ่มๆ นำมาใช้ซ้ำได้อีก
ขั้นตอนถัดไปก็เข้ากระบวนการ เซาะร่องด้านในฝา (เพราะเราทำฝายกเปิดแบบกล่องเบนโตะ)
จากรูป จากหน้าตัดด้านผนังกล่อง ทั้ง 4 ฝั่ง เราใช้ทริมเมอร์ (หรือกบเซาะร่องกระจกก็ได้) เซาะร่องสีแดง ดังลูกศรสีแดงชี้ไว้
เมื่อประกอบกล่องทากาวเสร็จ เราจึงจะเซาะด้านนอกอีกร่อง ดังสีเขียว
ขั้นตอนเซาะร่องสีเขียว ต้องระวังนะครับ เราจะไม่ตั้งความสูงทริมเมอร์ จนไปแตะกับร่องสีแดงไว้
เพราะไม่งั้น ตอนเราเซาะร่องผนังกล่องด้านที่ 3 หรือด้านที่ 4 เราจะมีปัญหาว่า ชิ้นงาน มันจะหลุดจากกัน และโดนทริมเมอร์ตีเสียหายครับ
กรณีที่ใช้กบเซาะร่อง เราสามารถค่อยๆไสกินลงไปเรื่อยๆได้ แต่ก็จะไม่กินลงไปจนแตะร่องสีแดงเช่นเดียวกัน
เมื่อเซาะร่องเขียวเสร็จแล้ว ร่องแดงและเขียวของเรา แทบจะเกือบขาดจากกัน เราก็ใช้คัตเตอร์ หรือเลื่อยบางๆ เลื่อยให้ขาดจากกันได้เลยครับ ก็จะได้ฝาเสียบกัน ดังรูป
ตอนตัดขาดออกจากกัน ฝากล่อง และตัวกล่อง มันจะไม่สามารถเสียบกันได้พอดีนะครับ ให้ใช้กระดาษทรายขัดบางๆ เพือให้ทั้งสองชิ้น สามารถสวมทับกันได้
ทิ้งไว้ค่อนวัน ก็ปลดแคลป์ และเซาะร่องด้านนอก
ทดสอบการยกฝาปิดเปิด
จากนั้น ก็ใช้ลูกประคบ เคลือบผิวทั้งหมดอีกสักหน่อย เก็บงาน ตามมุมต่างๆ
สุดท้าย ก็ติดตั้งเครื่องดนตรี กระจก เป็นอันเสร็จ
**อ้อ รั้วกั้นด้านใน ผมได้ตัดและเตรียมไว้ตั้งแต่ทำผนังกล่องแล้ว โดยเซาะร่องเล็กๆสำหรับรับกับกระจกบาง 2่ มม. และเซาะร่องรับกระจกที่ผนังกล่องไว้ด้วย ชิ้นกระจกเราจึงมีไม้จับทั้ง 4 ด้าน
กระจกจริง บาง 2 มม. ให้ความรู้สึก ใสปิ๊ง มากกว่าอะคริลิค แต่ก็แลกกับความเปราะบาง
หากกล่องตก ก็มีแววว่ากระจกจะแตกไปด้วยครับ (แต่ผมชอบนะ)