Sunday, September 6, 2015

Wood chess board กระดานหมากรุก Day02

ครั้งที่แล้ว เราตัดไม้ไป 4 ชิ้นแรก
ครั้งนี้ เราตัดอีก 4 ชิ้นที่เหลือ
แล้วก็ทากาวประกบทีละคู่ๆ

ช่วงทากาว ต้องระมัดระวังมาก เพราะรอยต่อของแต่ละสี ต้องชนกันเป๊ะทั้งหมด ผมเลือกทากาวทีละคู่ เพราะต้องการลดความผิดพลาดของการขยับเขยื้อนของชิ้นงาน และเราก็มีแคลป์เพียงไม่กี่คู่ครับ

เมื่อกาวติด 4 ชิ้นแรก

และอีก 4 ชิ้นที่เหลือ ก็ได้เวลาประกบกระดานใหญ่

หลังจากปลดแคลป์ออกมา เราก็ต้องไสเก็บนะครับ แน่นอนว่าผิวชิ้นงานมันไม่ได้เสมอพอดีกันทั้งหมด
ก็ไสกบมือล้วนๆ

เริ่มเนียนได้ที่

มีบางจุด ไสไปแล้วไม้เปิด ไม้ฉีกดังรูป ก็เป็นสัญญาณว่า ใบกบอาจจะไม่ค่อยคมแล้ว
หรือต้องระวังบริเวณนี้เป็นพิเศษ เพราะลายไม้อาจจะย้อนจริงๆ

วิธีแก้ไขคือ ลับใบกบ และให้กินทีละบางๆครับ

หมดไปชั่วโมงนึง ได้ขี้กบสีสันสลับไปมา

ชุดลับใบมีดกบ ดังรูปครับ
หิน King เบอร์ 800 กินเหล็กได้ดี และไวครับ

ลับใบกบใหม่ๆ สนุกมากครับ กินไม้บางๆ และเนียน


เงาสะท้อนแสงอ่อนๆ แบบนี้ เคลือบผิวสวยแน่นอนครับ


ความยากของการทำตารางหมากรุกคือ ถ้าไม่เป๊ะ มันจะสะท้อนออกมาตอนนี้ครับ
คือ เส้นตารางแต่ละเส้น จะไม่ฉากกับขอบ

เราเช็คได้โดยเอาฉากวางเทียบกับขอบครับ ไล่ไปทีละเส้นเลยครับ
ชิ้นนี้คือว่าผ่าน...

อ่ะ ฝั่งนี้ก็พอได้

พลิกกระดาน 90 องศา เช็คด้านแนวตั้ง ก็ได้อยู่...

ยากสุด ตรงนี้ครับ
เราเอาไม้บรรทัด คาดทะแยงมุมเลย โดยจรดตรงมุมสุดปลายทั้งสองฝั่งพอดี เพื่อดูว่า ช่วงกลางกระดานมีมุมตารางใดไม่ตรงมุมบ้าง

เทียบทั้งสองมุม ทะแยงทั้งซ้ายและขวา

สังเกตดีๆ มีหลุดๆขาวๆ ออกมาให้เห็นนิดๆครับ


ดูอีกรูป ช่วง 63.5 ทาบมุมสนิท ไม่มีสีขาวเกินออกมา
แต่พอ 56.5 และ 49.5 จะเห็นนิดๆ

ไม่ต้องอะไรมากครับ ทำใจครับ แก้ไขอะไรไม่ได้แล้วนาทีนี้

หากดูด้วยตาคนทั่วๆไป มองไม่ออกว่า มันขาดเกินนิดหน่อย
(แต่เราก็ควรตรวจสอบไว้ เพื่อปรับปรุงตัวเอง)

กระดานเสร็จ เราก็เลือกไม้มาทำขอบครับ
ผมว่าจะใช้ประดู่ ไสออกมา สีจะสดสักหน่อย ออกสัมๆ

เราก็ไสปรับไม้ประดู่ และตัดออกมาเป็นชิ้นบางสักหน่อยครับ

ตั้งใจทำขอบบาง เพราะไม่อยากให้ชิ้นงานทั้งหมดหนักไปมากกว่านี้, กระดานจะได้ไม่ดูเทอะทะ
และสีประดู่สดพอที่จะบางแค่นี้ล่ะ หากใช้ไม้ประดู่หนากว่านี้ สีไม้จะตีกัน กลายเป็นไม่สวย

เข้ามุม 45 ก็ใช้จิ๊กตัด 45 องศาร่วมกับเลื่อยญี่ปุ่นเรียวบะ

หน้าตัดจากใบเลื่อยครับ

จากนั้นก็ทากาวประกบขอบกระดาน เป็นอันเสร็จ

ครั้งหน้า เราเคลือบผิวครับ




Friday, August 28, 2015

Wood chess board กระดานหมากรุก Day01

คนชอบเล่นหมากรุก จะชอบชุดหมากรุกสวยๆ
และชุดหมากรุกสวยๆ จะยิ่งสวย ถ้าเล่นบนกระดานหมากรุกที่สวยเช่นกัน

ทำเองเลยแล้วกันครับ

หลักการตัดไม้เพื่อทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นแบบนี้ครับ
1) คือ เตรียมไม้สองสี ให้หนาเท่าๆกัน จากนั้น เราก็ซอยไม้ออกมาเป็นท่อนๆ
นำมาทากาวประกบกัน ดังรูป
2) จากนั้น เราก็นำแผ่นสลับสีนี้ เข้าไปตัดขวาง (cross cut) ดังเส้นแดง


3) แล้วก็พลิกกลับ

4) ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ (สีครีมเข้มๆอ่อนๆ ไม่มีผลอะไรนะครับ)

ข้อควรระวังคือ เรื่องลายไม้ครับ คือ เราอาจจะเลือกลายให้ตรงๆทั้งหมดไม่ได้
แต่ถ้าลายจะมั่ว ก็ให้มันมั่วอย่างมีสไตล์นิดนึง ต้องวางแผนดีๆครับ

กรณีของผม มีการพลิกไม้ ก็จะมีลายไม้แปลกๆหลุดมา เดี๋ยวตอนทากาวต้องจัดอีกทีครับ

**บางเทคนิค ก็ใช้วิธีเลื่อนขยับนะครับ ดังรูป
วิธีนี้ ต้องเพลาะไม้เผื่อไว้ครับ เพื่อที่เลื่อนแล้ว ช่องว่างๆยังเต็ม ก็จะเปลืองไม้เพิ่มนิดหน่อยครับ

==================

ในทางปฏิบัติ ก็เลือกไม้ที่มีขนาดใกล้เคียง แล้วก็ไสปรับหน้าไม้ทั้งสองชิ้นเลย ให้มีความหนาเท่ากัน

เริ่มที่เมเปิ้ล

กบล้าง 14" ของธรรมศักดิ์การช่าง ลุยคนแรกเลย

สักพัก เรียบเนียนกิ๊ง ก็ทำแบบนี้ 4 ด้าน

จากนั้น ก็เป็นคิวไม้วอลนัท


ถึงขั้นตอนนี้ ไม้ทั้งสองชิ้น ต้องมีความหนาเท่ากัน เพราะมันจะเป็นความกว้างของช่องตารางหมากรุก
จากนั้น เราจะซอยไม้ หนาประมาณ 1" นิ้วนิดๆ

เมื่อซอยไม้แล้วนำมาวางสลับกัน ก็จะได้ดังรูป

เนื่องจากทางหัวไม้เมเปิ้ลด้านนึง มันย้อนลาย ถ้าผมยืนยันทากาวไปแบบนี้ เวลาไสเก็บ ผมจะมีปัญหาว่าลายไม้ย้อนเสี้ยน ผมจึงตัดสินใจ จะหั่นไม้เมเปิ้ลช่วงปลายออก แล้วพลิกไม้กลับลงมา เพื่อให้ลายไม้วิ่งทางเดียวกัน

แล้วเราก็ทากาวประกบไม้วอลนัท+เมเปิ้ลไปทีละคู่ ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างเป็นแผ่นกระดานใหญ่ๆ




เมื่อกาวแห้งทั้งหมด ก็ได้เวลาตัดขวาง ซึ่งเราต้องมีการไสหน้าตัดไม้ออกบ้าง เพื่อปรับความเรียบ ตรง
เราก็หยิบม็อกซ่อน (moxxon vise) มาหนีบ และไสปรับ

เมื่อตรง+ฉากด้านนึง เราก็เข้าเลื่อยวงเดือนตัดแบ่งไม้ออกมา และวางพลิกกลับ ดังรูป
ก็จะได้ลายตารางหมากรุกสลับสีกัน

หั่นไปเรื่อยๆ 4 ชิ้น

ทดลองการวางสลับสี

เสร็จแล้วครึ่งกระดาน

อีกครึ่งกระดาน เรามาต่อตอนหน้าครับ

Friday, May 22, 2015

Day05_Drawer_Gerstner41D

ครั้งที่แล้ว เราได้โครงหีบ และช่องเก๊ะ
ตอนนี้ว่ากันด้วยเรื่องของ "เก๊ะ"

เริ่มด้วยการเตรียมไม้

ผมเลือกไม้ชิ้นเดียวกัน สำหรับเก๊ะ 5 ชิ้นบน เพื่อให้หน้าเก๊ะ มีลายไม้ทางเดียวกันหมด และต่อลายกัน
ดังในรูป ซึ่งเป็นการตัดแบบใกล้เคียงขนาด แล้วเราจึงมาไสเก็บให้พอดีขนาดช่องเก๊ะ

เก๊ะสำหรับเก็บเครื่องมือ เขาจะไม่เก็บเครื่องมือวางซ้อนๆกันในเก๊ะนะครับ แต่จะวางแบนราบไล่ๆกันไป

ดังนั้น ทรงเก๊ะจึงเป็นเก๊ะเล็กๆ สูงแค่ 1 1/4" กว้าง 6" เมื่อหักท้องเก๊ะออกไป ช่องในเก๊ะจึงสูงประมาณ 1" เท่านั้น สามารถวางไม้ฉาก เวเนียร์คาลิปเปอร์ ที่วัดองศา วงเวียน และอุปกรณ์เทียบวัดอื่นๆ

ขั้นตอนการสร้างเก๊ะให้พอดี ก็คือ
1) วัดขนาดหน้าเก๊ะเสียก่อน โดยไสให้ได้ฉาก และวางจรดกับช่องเก๊ะ จากนั้นเราจึงวัดเทียบความยาวของหน้าเก๊ะ และความสูงของเก๊ะ

ความยาวที่พอดี คือ เราสามารถเสียบกระดาษพับทบ แล้วยังหนีบกระดาษชิ้นนี้ได้อยู่

2) ตัดชิ้นหลังเก๊ะ ให้มีขนาดเท่าหน้าเก๊ะที่เพิ่งได้มา ทั้งความยาวและความสูง
(ใช้กระดานไสฉาก เป๊ะชัวร์ครับ)

3) ตัดชิ้นด้านข้างเก๊ะ ทั้งชิ้นซ้ายและขวา
ดังในรูป คือ ยังยาวเกินออกมา เราก็วัดความลึกของเก๊ะ ตัดและปรับด้วยกระดานไสฉาก

ก็จะได้ชิ้นส่วนเก๊ะ 1 เก๊ะ มีทั้งหมด 4 ชิ้น (หน้า ข้างซ้าย ข้างขวา และด้านหลัง)

รวมถึงเก๊ะอื่นๆอีก 3 เก๊ะ เพราะมีขนาดเดียวกันทั้งหมด
(ขั้นตอนนี้ ให้เขียนเบอร์กำกับไว้เลยครับ จะได้ไม่สับสน หยิบไม้ผิดชิ้น ระวังทำงาน)


เริ่มที่เก๊ะแรก เราใช้กบเซาะร่องกระจก ไสร่อง เพื่อใช้เป็นที่เสียบท้องเก๊ะ
เนื่องจากเก๊ะเราเตี้ยมากๆ ผมเลือกใช้ไม้อัดแปะวีเนียร์ หนาประมาณ 5 มม. พอดีกับร่องมีดเป๊ะครับ
ไม้เก๊ะหนา 6 มม. เราไสเซาะร่องลึกประมาณ 2 มม.


ชิ้นส่วนเสร็จ ก็เริ่มทำเดือยหางเหยี่ยวครับ

การทำเดือย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเลย์เอาท์เส้นของเดือยนะครับ
เลย์เอาท์ผิด ฝีมือดียังไง ก็ประกอบไม่เข้าครับ

การทำเดือยหางเหยี่ยว จะทำฝั่งตัวผู้ (หางเหยี่ยว) หรือฝั่งตัวเมีย (ฝั่งพิน) ก่อนก็ได้ แล้วแต่ถนัด
ผมเป็นพวกทำหางก่อนครับ (tail first)

ทำไมต้อง 3 หาง??
คือแบบนี้ครับ การทำเก๊ะ หางเหยี่ยวจะต้องบังร่องที่เซาะไว้เสมอ ดังรูปข้างล่าง เมื่อประกอบเป็นเก๊ะแล้ว เราจะไม่เห็นรูร่องนี้ ที่ด้านข้างเก๊ะครับ แต่จะไปเห็นที่ด้านท้ายเก๊ะ (ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นรูนี้กันบ่อยนัก)


เมื่อผมวาดหางทับร่องนี้แล้ว ก็พบว่า 1-2 หาง มันจะดูตลก และดูใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับไซส์
พอทำ 3 หาง แล้วสเกลมันจะดูสวยกว่าครับ กำลังน่ารัก (แต่คนทำ ตาจะบอดเอา)

เมื่อได้ฝั่งหาง เราก็ลอกแบบไปที่ฝั่งเดือยตัวเมีย (ฝั่งพิน)

ดูไกลๆ

ทาบและใช้มีดปลายแหลมขีดเส้น

ระบายสีดำ เพื่อให้ทราบว่า เราจะตัดส่วนนี้ทิ้งออกไป

ใช้เลื่อยบั้งทิ้งไม้ส่วนใหญ่ออกไป จากนั้น ใช้สิ่วกดเฉือนทีละนิดๆ จนได้พอดีกับเส้นที่ขีดไว้

ทดสอบการประกอบครั้งแรกครับ (มีแหว่งนิดๆ แหะๆ)

 เมื่อได้สองเก๊ะ ผมลองเสียบกลับเข้าที่ช่องเก๊ะ พบว่ายังฝืดๆอยู่บ้าง
แต่ถือว่ายังดีนะครับ เพราะฝืด คือ เราไสบางๆออกไปได้ (ดีกว่าหลวม ซึ่งแก้ไขไม่ได้)

ระหว่างรอท้องเก๊ะ

ไล่ทำเก๊ะอื่นๆไปเรื่อยๆครับ

หีบนี้ มี 7 เก๊ะ ทำเดือยหางเหยี่ยวทั้งหมด 28 คู่ครับ สนุกจริงๆ ได้ฝึกฝีมือจนคล่อง



หน้าเก๊ะ ผมทำเดือยหางเหยี่ยวแบบไม่ทะลุนะครับ (half blind dovetail)
เมื่อมองจากหน้าเก๊ะ จะไม่เห็นเดือยอะไรเลย เป็นการซ่อนเดือย เพื่อโชว์หน้าเก๊ะสวยๆ

ชิ้นทางซ้าย คือ ด้านข้างและด้านหลังเก๊ะ ใช้ไม้สัก --> คือเดือยหัวผู้ (ฝั่งหางเหยี่ยว)
ชิ้นทางขวา คือ ด้านหน้าเก๊ะ ใช้ไม้มะฮอกกานี --> คือเดือยตัวเมีย (ฝั่งพิน)


เดือยหางเหยี่ยวไม่ทะลุ จะยากตรงการควักไม้ออกที่ฝั่งพินครับ
เราจะบั้งเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใช้สิ่วกดตัดออกไปทีละเล็กทีละน้อย

ทดสอบประกอบ

นูนออกมานิดๆ เดี๋ยวไสปรับบาง จะเนียนครับ

อีกฝั่ง

ตอนหน้าทำท้องเก๊ะ แล้วทากาวประกอบครับ