Sunday, March 16, 2014

กรอบกระจกบานใหญ่ Mirror Frame

โปรเจ็ทค์กรอบกระจก เป็นงานไม้ง่ายๆ ที่มือใหม่สามารถลุยได้เลยครับ (ไซส์อาจจะเล็กกว่านี้ก็ได้)
ผมเลือกซื้อกระจกเงาก่อน เพื่อจะได้ทราบขนาด กว้างxยาว และไปกำหนดความยาวไม้ได้

บานใหญ่ๆ ก็สัก 2x3 ฟุตครับ หนา 6 มิล แผ่นละประมาณ 200 บาท
กระจกที่หนา มีข้อดีคือ ภาพเงาจะไม่บิดเบี้ยวเหมือนกระจกบางๆ ทั้งหลายนะครับ

จากนั้น เราก็ไปลุยเลือกไม้

บังเอิญว่า ผมไปได้ไม้สนลายถี่ๆ และเป็นควอเตอร์ซอล (Quarter sawn) ซึ่งก็เยี่ยมเลยครับ ไม่มีอะไรเหมาะกว่านี้อีกแล้ว

สภาพไม้ที่ซื้อมาจากร้านขายไม้สน ริมทางรถไฟ ใกล้ทางขึ้นด่วนอาจณรงค์
หน้า 4x2  ยาว 2.2 เมตรขายประมาณ 80 บาท ไสด้วยกบไฟฟ้ามาให้แล้ว ดังรูป

ตามสภาพครับ ไม้ควอเตอร์ซอลจะมีอาการบิดโค้งเพียงทิศทางเดียว นั่นคือโค้งตามแนวยาวของไม้ ดังในรูป จะเห็นว่า ด้านบนห่าง และด้านล่างชิด

เราเริ่มด้วยการเตรียมไม้ ปรับหน้าเรียบและไสให้ได้ขนาดเท่าๆกัน

ภาพเปรียบเทียบ ไม้สนที่ไสปรับแล้ว ชิ้นทางด้านซ้าย และที่ยังไม่ได้ปรับหน้า ชิ้นทางด้านขวา

เรียบแบบนี้ มีแต่กบไสไม้ที่ทำให้ได้ครับ มันจะเรียบ ลื่น เงาๆ
(กระดาษทรายจะผิวลื่น แต่ไม่เงาแบบนี้)

บานกระจกหนา 6 มม. เราจะเซาะร่องกระจกด้วยกบไสไม้พิเศษจากอ.ดนัย แห่งธรรมศํกดิ์การช่างครับ

ผลงานเยี่ยมเหมือนเคย เครื่องมืออ.ดนัยใช้ได้ดีเสมอครับ

กบเซาะร่องกระจกตัวนี้ สามารถใช้ทำกรอบหน้าบานลูกฟักได้ด้วย
(ต้องมีกบบานลูกฟักอีกตัว ทำหน้าบาน)

กรอบซ้ายขวา เซาะร่องเสร็จไปแล้ว
กรอบบนและล่าง ผมจะเข้าเดือยเหลี่ยม ล็อคกับกรอบซ้ายขวาไว้
ใช้เลื่อยตัดตามเส้น และสิ่วเคาะเนื้อไม้ออกมา

เริ่มประกอบ 3 ด้านครับ

ลายไม้ถี่ เหมาะจริง

หน้าตาการเข้าเดือยเหลี่ยม ดังรูป


ยิงสกรูย้ำอีกที เพราะเดือยดังกล่าวต้องรับน้ำหนักกระจกทั้งบาน

ฝังตัวแขวนกระจก เพื่อปิดซ่อนหัวน็อตเวลาไปแนบชิดกำแพง

เสร็จแล้วครับ บานใหญ่มากๆ เกินครึ่งตัวได้ (เปรียบเทียบความสูงกับโต๊ะเลื่อยวงเดือน)

โดยทั่วๆไป การทำกรอบบานกระจก ช่างมักจะเซาะร่องให้วางกระจกลงไปได้
เผื่อกรณีกระจกแตก ก็สามารถเปลี่ยนบานได้ โดยมีตะปูหมุดตัวเล็กๆ ตอกหนีบบานกระจกให้ติดกับกรอบไม้ไว้

แต่ในบานของผม หากต้องเปลี่ยนกระจก จะใช้วิธีขันสกรู และถอดกรอบออกมา
ดังนั้น กรอบไม้ชิ้นนี้ จึงไม่ได้ทากาวไว้แต่อย่างใดครับ
ร่องกระจกที่เซาะไว้ ฟิตแน่นพอดีมาก หนีบกระจบไว้ทั้งสี่ด้าน ไม่สามารถขยับได้เลยครับ

Monday, March 10, 2014

เลื่อยสายพานทำเอง ตอนที่ 05 ก้านตัวปรับล้อบน และฐานเครื่อง

จากตอนที่แล้ว เราได้โครงตัวซี
ครั้งนี้ เราจะต่อก้านด้านบน และด้านล่าง โครงตัวซี

ก้านด้านบน จะเป็นก้านสำหรับยึดตัวปรับล้อบน

โดยจะยึดกับตัวปรับ ดังรูป


ก้านด้านล่าง จะเป็นก้านต่อฐานสำหรับวางมอเตอร์ และเป็นขาวางเครื่องด้วย


ในแบบของคุณ Matthias เขาจะต่อก้านเหล่านี้ไปพร้อมๆกับการต่อชั้นโครงตัวซีไปเลยนะครับ
แต่วิธีแบบนั้น เราจะเก็บงานลำบากมาก เพราะพื้นที่ไม่อำนวยให้เราใช้กบปรับเรียบได้เลย
ผมจึงแบ่งขั้นตอนงานออกมาทำต่างหากในตอนนี้

ก้านด้านบน ก็นำไม้ที่ตัดมาแล้ว มาเพลาะประกบกันไปชั้นๆ โดยผมใช้เดือยไม้กลม ช่วยยึดตำแหน่งชิ้นงานไม่ให้ดิ้นขณะที่ทากาว

เห็นเป็นทรงแบบนี้ได้ ก็ผ่านการไสเก็บหลังทากาวแล้วนะครับ

ส่วนฐานล่างนี้ ค่อนข้างมึนทีเดียว เพราะมีไม้ประกบกันประมาณ 25 ชิ้น!!!
ตอนทำไป ก็ต้องมั่นมาเปิดดูแบบเป็นระยะๆ ป้องกันการทากาวผิด ติดสลับชิ้นส่วน

เมื่อเสร็จ ขา 1 ข้าง จะได้ดังรูป
เห็นแบบนี้ ทุกอย่างไม่ได้พอดีเป๊ะมาแต่แรกนะครับ เราต้องใช้สิ่ว+กบ ไสปรับบางๆ เพื่อให้ไม้เสียบลงตัวกันพอดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 และเมื่อเสร็จ ทั้ง 2 ขา
การประกบไม้ช่วงนี้ มีบทเรียนว่า อย่าตัดไม้พอดีขนาด ครับ

ขาที่เห็นนี้ ผมต้องทำขานึงใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว เพราะทีแรก ตัดไม้พอดีตามแบบ
เมื่อทากาว ไม้ที่ประกบกัน กาวที่เหลวๆรวมกับแรงจากแคลป์ที่บีบ ทำให้เมื่อชิ้นงานแห้ง ไม้มันดิ้นเคลื่อนจากกัน มิติทั้งหมดจึงผิดเพี้ยน หากผมไสแต่งต่อไป ก็จะได้ขาที่เล็กลงไปเลยครับ

ตอนเจอปัญหานี้ เลยตัดสินใจ ทำใหม่เลยดีกว่า โดยตัดไม้ให้ใหญ่กว่าแบบสัก 5 มม.
แล้วเดี๋ยวทากาวเสร็จ ค่อยมาไสออกให้พอดีตามแบบ
เหนื่อยหน่อย แต่ชัวร์ครับ

และเมื่อขาสองแท่งเสร็จ เราก็ทำฐานล่างสุด ซึ่งเป็นฐานวางมอเตอร์ด้วยครับ

ผมไสไม้ให้บางพอดีๆกับเดือยทั้งหมด โดยทำไปวัดไปเป็นพักๆ

ชิ้นนี้ กำลังจะเสียบลงตรงกลางครับ ก็ทาบไม้และขีดดินสอให้พอดีเดือย

กำลังใจไม่เคยห่าง....

แล้วก็วางได้พอดีทั้งหมด ในการทดสอบ dry-fit
(ส่วนล้นๆ เกินๆ เดี๋ยวติดกาวทั้งหมด แล้วไสปรับให้พอดี)

อย่าลืม วาดสามเหลี่ยม และเขียนเบอร์กำกับไว้ ตอนทากาวจะได้ไม่หลง หรืองงทิศทาง

ชิ้นนี้ คือขาที่สอง ที่ต่อยื่นออกจากตัวเครื่อง ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานที่กว้างออกไปเพื่อวางมอเตอร์

ทำไป วัดขนาดไป ทากาวเสร็จ ก็ไสเก็บครับ เราตัดไม้เผื่อไว้ 5 มม. ไสปรับให้พอดีได้สบายมากครับ

ชิ้นส่วนของขาล่าง

ขณะยึดกาว

และเมื่อกาวแห้ง พลิกด้านฐานขึ้นมาดู
ส่วนเกินๆล้นๆ เดี๋ยวไสปรับเรียบทีเดียวครับ (เราเผื่อขนาดไม้ไว้แล้ว ไสลงได้อีกสบายมาก)

จะเห็นได้ว่า ผมยังไม่ได้ทากาวยึดขาล่าง เข้ากับโครงบอดี้นะครับ
คุณ Matthias เตือ่นไว้ว่า อย่าเพิ่งรีบยึดฐานล่าง เพราะตอนเราติดตั้งวงล้อชิ้นล่าง เราจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับเจาะรูเกลียวเพื่อติดตั้งบล็อคหิ้วล้อ และพื้นที่สำหรับการขันน็อตติดบอดี้
หากเราติดตั้งขาล่างเสร็จหมดเลย เวลายึดลงล้อชิ้นล่าง จะไม่มีพื้นที่พอสำหรับเจาะรูเกลียว และขันน็อตติดตั้งบล็อคหิ้วล้อครับ
งานขาล่าง+ฐานมอเตอร์ จึงมีทั้งหมดเท่านี้


กลับมาที่ก้านขาบนกันต่อ เพราะเราต้องทำตัวปรับวงล้อ
หน้าที่ตัวปรับวงล้อนี้ ทำหน้าที่ปรับวงล้อให้ตึง หรือหย่อนได้ เพื่อที่ให้เราสามารถเปลี่ยนใบเลื่อยสายพาน และขณะเดียวกัน ก็สามารถปรับล้อให้กดหน้า หรือแอ่นหลังได้ เพื่อการปรับจูนวงล้อส่าย ขณะเครื่องทำงาน


เริ่มที่กรอบวงล้อ ซึ่งคุณ Matthias เขาแจ้งเตือนไว้ว่า ควรใช้ไม้จริง และทำกรอบที่มีรอยต่อแข็งแรงมากๆ เพราะกรอบนี้ จะทำหน้าที่รั้งวงล้อบนทั้งหมด ต้องสู้กับแรงตึงของเลื่อยสายพานขณะทำงาน

ผมจึงเลือกใช้ไม้แดง ลายควอเตอร์ ซอล (QC-Quarter Sawn) ซึ่งเป็นไม้เหลือจากโปรเจ็คท์ Moxxon Vise
เริ่มจากการตัดให้ได้ขนาดใกล้เคียง
(**อย่าลืมว่า ผมเลือกใช้ไม้สนหนา 20 มม.เพลาะเป็นโครงบอดีตั้งแต่แรก ดังนั้น กรอบไม้จึงจะหนาออกมาอีกเล็กน้อยจากต้นแบบ เพื่อให้มีความหนาสมส่วนกับชั้นไม้บอดี้ ชั้นที่ 1-2 ครับ)


คิดอยู่นาน ว่าจะใช้เดือยอะไรดี ทางต้นแบบ เขาใช้เดือยไม้ประสาน ซึ่งไม้แดงแบบนี้ ทำเดือยแบบนั้นค่อนข้างยากครับ ไม้แดงแกร่งมากๆ การจะฝานบางๆ เพื่อตกแต่งเดือย ทำลำบาก
เลยตัดสินใจใช้เดือยเหลี่ยม แบบที่ช่างไทยใช้กับไม้แดงกันมานาน แบบที่เขาทำหน้าต่าง ประตูครับ
อันนี้เราไซส์เล็กลงมาสักหน่อย

 ไม้ไทย สีออกมืดๆ เขียนดินสอกำกับเลขไว้ ก็มองยากเหลือเกิน
เลยต้องติดเทปกาว แล้วเขียนกำกับอีกที


เมื่อพร้อม ก็ทากาว ยึดกับแคลป์
ชิ้นส่วนปีกไม้เสียบๆ แถวๆมุม ผมเสียบไว้เพื่อสร้างชั้นไม้ เสมือนๆไม้อัด โดยวางลายไม้สลับกับกรอบไม้ เพื่อลดอาการยึดขยายตัว


เมื่อกาวแห้ง ก็ไสเก็บอีกเล็กน้อย หน้าแปลนกรอบไม้นี้ ต้องระนาบจริงๆ และเมื่อทำการบากร่องแล้ว ทุกอย่างต้องฉาก เพราะเวลาเราปรับล้อขึ้นลง กรอบไม้จะเป็นตัวพาล้อเคลื่อนที่ทั้งหมด

อย่าลืมเซาะร่องกรอบด้านใน เพื่อรับกับบล็อคไม้หิ้ววงล้อ

เมื่อทำกรอบเสร็จ ชิ้นส่วนถัดไปก็คือ เสาค้ำกรอบ ซึ่งจะเป็นตัวล็อคกรอบไว้กับก้านไม้สน

หน้าตาวางกับก้านไม้สน เป็นแบบนี้ครับ

จากรูป จะเห็นว่า กรอบไม้จะสามารถเลื่อนขึ้นลงได้ อยู่ภายในเสาค้ำกรอบ และก้านไม้สน
ซึ่งเดี๋ยวเราจะเจาะรู ขันน็อตเกลียวปล่อย เพื่อยึดเสาค้ำกรอบเข้ากับไม้สนครับ

ถัดไปคือ ทำบล็อคหิ้ววงล้อบน
ใช้ไม้สน มาเพลาะประกบกัน โดยเลือกไม้สนชิ้นเดียวกัน พลิกมาประกบกัน สร้างความแข็งแรงทางลายไม้

แล้วก็เจาะรูนำ

ตามด้วย รูขนาด 1" สำหรับสอดแกนล้อทั้งหมด และปาดชิ้นส่วนต่างๆให้ได้ตามแบบ


เหตุที่ต้องปาดเป็นทรงแปลกๆ เพราะว่า บล็อคนี้ จะต้องสอดผ่านกรอบที่เราทำไว้ครับ
และติดตัว T-Nut (เวลาไปซื้อ เรียก ที นัท ตรงๆเลย) เพื่อเอาไว้ยันกรอบล้อ


น็อต 3/8" ที่ยันกรอบล้อ จะยันกับแผ่นเหล็กบางๆ
ที่ต้องใช้แผ่นเหล็กบาง เพราะหากใช้น็อตยันไม้ตรงๆ ขันน็อตเข้าออกไปนานๆ ไม้จะสึก (ไม้ไม่ได้บวช แต่ไม้จะสึก!! ตึง!)

ผมก็เลยใช้แผ่นมิเนียมบาง มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ดังในรูป
แล้วยิงน็อตแปะติดกรอบไม้ไว้


เมื่อทดลองวางชิ้นส่วนกลไกต่างๆเข้าด้วยกัน
ไม้ 3 แผ่นบางๆด้านบนกรอก เป็นเสมือนแหนบสปริงนะครับ
ทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งกรอบให้ตึงสู้กับแรงดึงของใบเลื่อยสายพานตลอดเวลา

หากดูจากด้านหน้าของเครื่อง

และมุมจากด้านหลังเครื่อง จะเห็นน็อต 3/8" ซึ่งตอนหลังเราจะทำก้านหมุนไม้ มาเสียบ
เพื่อให้สามารถบิดปรับตัวยันล้อให้แอ่นหน้า แอ่นหลังได้
ในส่วนของของน็อตตัวเมียยาวด้านบน เราจะต่อกับด้ามหมุน
กลไกตรงนี้ เอาไว้ปรับดึงวงล้อให้ขยับขึ้นลง เวลาต้องเปลี่ยนใบเลื่อนสายพานครับ

ผมก็ใช้เศษไม้ที่เหลืออยู่ มาทำด้าม เอาสิ่วเจาะรูปหกเหลี่ยม เพื่อให้จมน็อตตัวเมียเข้าไปได้
เราก็จะได้ก้านปรับหมุนวงล้อขึ้นลงครับ เป็นอันเสร็จกลไกตัวปรับวงล้อบน

ถึงขั้นตอนนี้ ผมยังไม่กาทาว หรือยิงน็อตยึดกับโครงบอดี้นะครับ
เดี๋ยวไปลุยติดตั้งล้อขึ้นมาก่อน แล้วอาจจะปรับแนวล้อทั้งบนและหลังก่อน
เมื่อมั่นใจตำแหน่ง เราค่อยทากาว ยิงน็อตยึดกลไกทั้งหมดครับ

อุปกรณ์ที่ใช้
ชุดดึงกรอบล้อ
1) สกรู 3/8" x 5" 6 บาท
2) แหวนอีแปะ 3 บาท
3) น็อตตัวเมียยาว 3/8" x 1 1/2" 20 บาท

ชุดยันกรอบล้อ
4) สกรู M10x50 6 บาท
5) ทีนัท M10x50 5 บาท