ช่วงเรียบ :: Jointer plane แบนได้แค่ไหน จัดมา!!!
การทำงานในช่วงนี้ เราจะจริงจังกับการปรับผิวมากที่สุด เรียกว่า มีฝีมือปรับไม้ได้แค่ไหนก็จัดมาให้เต็มสูบ เครื่องมือที่เลือกใช้ ก็คือ กบที่มีความยาวตั้งแต่ 22" ขึ้นไป (กบหมายเลข 7 ยาว 22" และกบหมายเลข 8 ยาว 24" ส่วนกบพี่ไทยเรา มีทั้ง 22", 24" และเคยเห็นยาวถึง 30"ครับ แม่เจ้า...)
หน้าที่ของมันก็ตอบโจทย์ในขั้นตอนนี้ คือ ปรับผิวไม้ให้เรียบตรงที่สุด
เราควรเลือกใช้กบที่ยาวเหมาะสมกับชิ้นงานของเราด้วยนะครับ เช่น ต้องการปรับผิวไม้ยาว 1 เมตร ก็สามารถเลือกใช้กบตั้งแต่ 22" ขึ้นไป หรือไม้สั้นหน่อย ก็สามารถลดหลั่นลงมาได้บ้าง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการไสไม้นะครับ ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
งั้นไม่ซัดกบยาวๆตั้งแต่แรกเลยล่ะ ปรับให้ตรงตั้งแต่ช่วงหยาบไปเลยได้ป่ะ??
เหตุผลเดียวเลยครับ...กบกลุ่มนี้ มันยาวมาก และก็เลยหนักมากๆครับ ลองคิดดูว่า เราใช้กบลุยซึ่งมีน้ำหนักที่เบากว่าเกือบครึ่ง เพื่อไสไม้ส่วนใหญ่ออกไปก่อน ปรับระดับให้พอรับได้ จากนั้น ค่อยมาใช้กบกลุ่มนี้ เก็บงานอีกที ย่อมจะเป็นการเลือกเครื่องมือทำงานได้เหมาะสมกว่า...เราก็เหนื่อยน้อยกว่า
และเมื่อกบยาวๆเป็นตัวพระเอกในการปรับเรียบ ดังนั้นท้องกบกลุ่มนี้ จึงต้องมีความเรียบเสมอจริงๆ
ใบกบสามารถมีความโค้งได้นิดหน่อย (ถ้าใบกบตรงเป๊ะ มันจะทิ้งรอยขีดไว้ แล้วงานช่วงหน้าจะลำบาก)
ส่วนช่องที่เปิดนั้น ก็เปิดเพียงพอให้ไสไม้เรียบเท่านั้น ไม่ควรเปิดมากจนไสแล้วไม้ฉีกตามกันออกมา
ทิศทางการไสไม้นั้น เราจึงมักจะไสตรงๆตามเสี้ยนไม้
จะมีกรณียกเว้นบ้าง เช่น การไส้ไม้ที่หน้ากว้างมากๆ เราอาจจะต้องไสเฉียงซ้าย/ขวาก่อนสัก 4-5 ครั้ง แล้วจึงค่อยไสตรงเป็นหลัก
ดังนั้น ในการไสไม้ของกบกลุ่มนี้ ช่วงแรกๆ มันจะกินส่วนผิวนูนออกมาก่อน จนสักพักกบจึงเริ่มกินไม้ออกมาเป็นแผ่นๆเท่าๆกัน
เราจะไสไม้ไปจนกระทั่งได้ความหนาที่ต้องการ และไสได้แผ่นออกมาเท่าๆกัน
เมื่อเช็คดูผิวไม้ ควรจะไม่มีแสงลอดผ่าน ผิวหน้าไม้เรียบเสมอกันทุกๆแนว (แนวตั้ง แนวนอน แนวทแยง)
จึงยุติขั้นตอนนี้ครับ
ต่อตอนหน้าครับ :D
No comments:
Post a Comment