Tuesday, January 1, 2013

อัศวินม้าไม้ ตอนที่ 04 จุดตายของม้าไม้

ตั้งชื่อแบบนี้ มันเป็นจุดตายของม้าไม้ตัวนี้จริงๆครับ
ท้าวความกลับไปกันก่อนว่า การทำม้าไม้ตัวนี้ ค่อนข้างยากทีเดียวสำหรับมือใหม่ ตั้งแต่การวาดแบบ โดยเฉพาะขาม้าไม้ที่ต้องมีการวัดองศา บิดสองแกน (9 และ 18 องศา), การเพลาะหน้าไม้ 3-4 ท่อนเพื่อทำหน้าโต๊ะ, การประกอบด้วยการยิงสกรูทะลุไม้, การทำเดือย 45 สำหรับตัวกันโยก, การทำเดือย lap joint สำหรับขาไม้ทั้ง 4 ท่อน และการทำรูผายที่ขาไม้
อย่างไรก็ดี มือใหม่ก็สามารถทำให้เสร็จได้แน่นอนครับ และทักษะจะเพิ่มพูนมากทีเดียว

จุดตายของม้าไม้ตัวนี้ ดักช่างไม้ตรงที่เดือย lap joint ต่อเชื่อมขาไม้และหน้าโต๊ะครับ

สิ่งที่ผมกำลังทำก็คือ ตัวต้นแบบขาไม้และเดือย ที่จะมาประกอบกัน ถ้าเปรียบเทียบกับโต๊ะสำเร็จของพี่เขมทัต ก็คือ เดือยบริเวณที่วางปากกา นั่นล่ะครับ

ที่ยาก ก็เพราะว่า เดือยนี้ เอาจริงๆแล้ว มันไม่ใช่เดือยที่เป็นฉาก 90 องศากันทุกด้านครับ
แม้ดูเผินๆ มันน่าจะเป็นขาไม้ที่ฉาก 90 องศากันทั้งสี่ด้าน แต่จริงๆ หน้าตัดของขาไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ประมาณ 87 องศาครับ เพราะรูปทรงมันต้องบิดสองแกน คือ 9 และ 18 องศา เพื่อให้สอดรับกับเดือยตัวเมียได้อย่างพอดี

เล่ายาก อ่านแล้วงง ดูรูปประกอบไปด้วยเลยครับ

เริ่มจากการวาดแบบเดือยตัวเมีย ขาไม้นี้จะเอียงไปทางด้านข้างหัวม้า และหางม้า ที่ 9 องศา ตามแบบ
ในรูปนี้ เราจะได้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
center ที่วาดไว้ ไม่ต้องสนใจนะครับ เพราะผมไม่ได้เจาะรูจริงๆ แต่ตอนทำที่ขาไม้จริงต้องคำนึงเรื่อง center สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนนี้ด้วย

สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ความกว้างของเดือยตัวเมียนี้ควรจะสั้นกว่าความกว้างเดือยตัวผู้สัก 5 มม.
ยกตัวอย่างเช่น ขาไม้มีความกว้าง 95 มม. ดังนั้น เดือยตัวเมียนี้ ควรวาดไว้ที่ความกว้าง 90 มม.
ตรงนี้สำคัญมากๆครับ ถ้าวาดให้เท่าๆกัน เวลาประกอบจริง มันจะหลวมครับ หลวมมากๆ
หลายๆท่านที่ทำม้าไม้ก่อนหน้านี้ ต้องทำขาใหม่กันหลายๆท่านทีเดียว

ลากเส้นลงมาที่ฝั่งใต้โต๊ะ ลึกเข้าไปประมาณ 1/2 นิ้ว

ที่ฝั่งหน้าโต๊ะ จะลากเข้าไปลึกหน่อย เพราะขาไม้ต้องเอียงทางด้านข้างด้วยเช่นกัน ที่ 18 องศา
วิธีวัดความลึกในฝั่งนี้นั้น ใช้ตัววัดองศาวัดฝั่งหางม้าเทียบเข้ามา ตามรูปที่พี่เขมทัตแสดงไว้





เมื่อเราวาดเส้นครบ ก็ใช้คัตเตอร์กรีดทำรอยไว้ก่อน จากนั้นก็ใช้เลื่อยมือตัดไม้ โดยเว้นห่างจากเส้นเข้ามาสักเล็กน้อย ดังรูปที่ผ่านๆมานะครับ

การลดโหลด เราก็ใช้เลื่อยมือนั่นล่ะ ตัดเป็นร่องๆไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวจะใช้สิ่วเคาะให้หลุด

ว่าแล้วหยิบสิ่วหน้ากว้างที่สุดในช็อป มาเคาะได้เลยครับ ช่วงเคาะนี้ สนุกมาก เพราะไม้จะกระเด็นหลุดเป็นชิ้นๆ คิดในใจว่า ถ้าใช้เราท์เตอร์ เนื้อไม้เหล่านี้ จะถูกใบมีดตัดให้เป็นฝุ่นกระจายให้เราสูดดม และเก็บกวาดอย่างยากลำบาก แต่ถ้าใช้สิ่ว มันจะออกมาเป็นชิ้นๆ เอามือหยิบทิ้งยังได้เลยครับ



งานหยาบผ่านไป ก็ตามด้วยงานละเอียดครับ กบกระดี่ ทำหน้าที่ขูดหน้าตัดของเดือย และใช้สิ่วตัดเก็บบริเวณขอบๆเดือยทั้งหมด

ช่วงที่กบกระดี่ขูดหน้าตัดนี้ จะเอียงลง 18 องศา ซึ่งต้องวัดบ่อยๆ และขูดหน้าตัดทีละนิดจนกว่าจะเอียง 18 องศา ต้องระวังการวัดองศาไว้ด้วยนะครับ ดังนี้
ดูตามรูปผิวเผิน เราก็วัด 18 องศา แบบที่เข้าใจกันทั่วๆไป

แต่....มีแต่ครับ
เราต้องวางตัววัด ตั้งฉากกับขอบโต๊ะนะครับ
นี่คือ การวัดที่ถูกต้อง




ซึ่งก็ควรจะได้มุม 18 องศา แนบสนิทแบบนี้




สิ่งที่จะวัดผิด ก็คือ รูปต่อไปนี้ครับ

นั่นคือ เราไปวางตัววัด เอียง 9 องศาไปด้วย
ดังนั้น การเทลาด มันจะไม่ใช่ 18 องศาแล้วนะครับ
ลองดูมุมแนบดีๆ
เห็นมั๊ยครับ ว่ามันไม่สนิท
และถ้าเราไม่ได้เอะใจ คิดว่า มุมยังไม่ได้ ก็ไสต่อไปอีก
ผลลัพธ์ก็คือ เจ๊งครับ...
มุมลาดเอียงจริงๆ มันจะไม่ใช่ 18 องศา และเดี๋ยวทำเดือยตัวผู้ตามขั้นตอนข้างล่าง
เวลาประกบเดือย ไม่สนิทแน่นอนครับ ตายแบบไม่รู้ตัว...


เมื่อผ่านจุดนี้มาแล้ว
อันดับต่อไป
 ถ้าสังเกตดีๆ เวลาเราแนบกบกระดีกับด้านข้างของเดือย จะพบว่า มันไม่ใช่ 90 องศาแล้วครับ เพราะทรงของเดือยมันบิด 2 แกน ทั้ง 9 และ 18 องศา
เมื่อกบกระดี่เก็บมุมๆไม่หมด ก็หน้าที่สิ่วอย่างเดียวครับ


หน้าตาเดือยตัวเมีย ดูดีๆจะเห็นว่าผนังข้าง มันไม่ใช่ฉากลงไปตรงๆ
 ความยากถัดมาก็คือ เราก็ต้องไสขาไม้ ให้มีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ที่ 87 องศาครับ
มองจากด้านใต้ขาไม้ จะเห็นหน้าตัด มันเอียงๆแบบนี้ล่ะครับ จึงจะใส่เข้าไปได้พอดีกัน

อย่างที่เล่าไปในช่วงแรกว่า ขาไม้กว้าง 95 มม. และทำเดือยตัวเมียรับไว้ที่ 90 มม. ก็เพื่อที่เราจะสามารถไสกินทีละนิด จนได้ความกว้างที่เท่ากัน และสอดเดือยกันได้ครับ
ในรูป จะเห็นว่า ขาไม้ยังคงกว้างกว่าเดือย

ดูใกล้ๆ ยัดยังไงก็ไม่ลง เราก็ต้องไสกินทีละนิด และหมั่นวัดบ่อยๆว่ามันเข้าไปหรือยัง
ทำแบบนี้เท่านั้น เราจึงจะได้เดือยที่เข้ากันสนิทครับ

เมื่อเดือยเข้ากันได้แล้ว เราก็จะบากขาไม้อีกสักหน่อย เพื่อให้เป็น lap joint ล็อคกัน

โดยทาบขาไม้กับเดือยตัวเมียให้สนิท แล้ววาดเส้นด้านใต้เลย ดังรูป ผมวาดให้ลึกประมาณ 1/2 นิ้ว และใช้เลื่อยญี่ปุ่นลุยโลด





เหมือนๆแล่เนื้อปลายังไงยังงั้น

สังเกตว่า รอยเลื่อยยังไม่ถึงเส้นดินสอ เราจะเก็บด้วยสิ่วครับ
 
รอยดังกล่าว จะเอียงๆลงไปเป็นมุม 18 องศานะครับ จะรับกับท้องโต๊ะพอดีกัน

แบบนี้ล่ะครับ ที่เราต้องการ เป็นขาโต๊ะแบบเอียงๆไปทางหางม้า
ตอส่วนบนที่เกิน ตอนทำจริง เราจะวาดเส้นแล้วเฉือนทิั้งด้วยเลื่อยมือนะครับ และเก็บด้วยกบให้เรียบเสมอหน้าโต๊ะอีกทีนึง

ของผมเอง ขนาดชิ้นตัวอย่าง ก็เฉือนเกินไปนิด มีรูดำๆตรงมุมด้านนี้

ส่วนด้านอื่นๆ ก็สนิท ดูสะอาดตาดีครับ







ด้านใต้ท้องโต๊ะ ที่เป็น lap joint พาดทับกัน


เมื่อทำตัวอย่างเสร็จ เราก็จะพอทราบจุดที่ควรระวังต่างๆ และทบทวนขั้นตอนการทำเดือยชิ้นนี้
เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดให้มากที่สุด สำหรับการทำเดือยจริงครับ

แถมท้าย เรื่องการวางสิ่วขณะทำงานไม้

ตามลำดับรูปนะครับ จากบนลงล่าง
1) วางสิ่วบนแผ่นไม้ให้ต่างระดับกับหน้าโต๊ะ เพื่อให้คมสิ่วไม่โดนอะไร และด้ามสิ่วไม่กลิ้งไปมาขณะทำงาน
2) หรือถ้าด้ามป้านๆ ไม่กลิ้งอยู่แล้ว ก็สามารถวางสิ่วที่หน้าโต๊ะได้เลย โดยใช้หันด้านหลังขึ้น เพื่อไม่ได้คมสิ่วไปโดนกับผิวหน้าโต๊ะ
3) ใส่ปลอกสิ่ว วิธีนี้ปลอดภัยกับสิ่วมากที่สุด แม้จะตกโต๊ะลงไป คมก็ไม่บิ่นเสียหาย แต่ต้องคอยหยิบใส่และถอดปลอกตลอดเวลาทำงาน








No comments:

Post a Comment