มีโอกาสไปเที่ยวโคราช และแวะฟาร์มจิมทอมสัน
เขามีจัดแสดงงานพื้นบ้าน ของเล่นไทยโบราณ การทำแคน พิณ
คนทำงานไม้แบบพวกเราๆ เห็นช่างทำงานไม้ ก็อดจะสังเกตเครื่องมือเครื่องใช้ของเขาไม่ได้
อย่างช่างท่านนี้ ใช้มีดตอก ฝานไม้ไผ่ให้เรียบ ไม่คมบาดมือ
ท่านอยู่บูทที่สอนทำคอปเตอร์ไม้ไผ่ วิธีเล่นก็คือ ดึงเชือกที่กระบอก ตัวคอปเตอร์ก็จะหมุน และสักพักก็จะหมุนเด้งกลับทิศ กว้านเอาเชือกกลับเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่อีกครั้ง เด็กๆก็จะดึงเข้าดึงออก เพื่อให้คอปเตอร์หมุนเพลินๆ ขายอันละ 10 บาท
ดูได้สักพัก ก็ตีซี้ซะเลย ขอเข้าไปฝึกใช้มีดตอก
ด้ามมีดตอก จะยาวมากๆ ยาวถึงศอก เพื่อให้เวลาใช้งานสามารถใช้ศอกหนีบตัวด้ามและออกแรงแกว่งท่อนแขนทั้งท่อน จะวาดวงได้ดีกว่าการใช้ข้อมือเพียงอย่างเดียว
มีกบด้วยนะครับ...
เห็นท้องกบ และช่องสำหรับขี้กบกว้างขนาดนี้...
ถัดมาอีกซุ้มที่จัดแสดง เป็นการทำพิณ ช่างมาจากบุรีรัมย์ ก็ใช้มีดตอกแบบเดียวกันทำงาน
อีกซุ้มสาธิตการประกอบแคนอีสาน
ที่น่าทึ่งก็คือ ช่างหล่อเงินและทำลิ้นแคนด้วยตัวเอง
โดยนำเงินมาเทให้เป็นแผ่น และใช้มีดตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ
จากนั้น ใช้สิ่วตอก 3 ด้านให้เป็นลิ้น
เมื่อนำไปแปะและเสียบเข้าที่เลาแคน ก็ต้องเป่าและขูดเนื้อเงินไปบ้าง เพื่อจูนเสียง จนกว่าเลาแต่ละคู่จะได้เสียงมาตรฐาน ตรงกัน เป็นงานละเอียดอ่อนมากๆครับ
ถัดมาอีกวัน เราไปหมู่บ้านมะค่า ต.หนองบัว โคราช เพื่อเยี่ยมช่างเชิญ ช่างตีมีดประสบการณ์ 30 กว่าปี
วัตถุดิบหลักในการตีมีดก็คือ เหล็กแหนบจากรถเก่าๆ ถ้าเป็นชิ้นเล็กๆก็มาจากรถกะบะ ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ หนา ก็มาจากสิบล้อ
ตัวอย่างชิ้นงานสำเร็จ คือ มีดเหน็บ เป็นมีดสารพัดประโยชน์ มีรูปทรงหักโค้งนิดหน่อย เวลาฟันจะทิ้งน้ำหนักไปที่ด้านปลายมีด
ช่างเชิญ ตีมีดมา 30 กว่าปี แขนขวาโตล่ำมากๆครับ
เก็บรายละเอียดใบมีดด้วยเครื่องเจียนคอหมู
ใบมีดเล่มนี้ ช่างเชิญตีให้ฟรีๆเป็นที่ระลึกครับ
เหล็กแหนบม้วนๆแบบนี้ ใช้งานได้ทั้งหมดนะครับ ช่างจะคีบไปผิงไฟแล้วใช้คีมง้างออกมาให้แบน แล้วจึงตีให้แผ่ๆ
อุปกรณ์สำหรับช่วยตีมีดให้แผ่ บาง (ช่วยลดโหลด)
แต่เมื่อจะขึ้นรูปใบมีด จึงจะใช้มือคน กำลังคน ในการตีครับ
ได้ถามช่างว่า ทำไมไม่ใช้เครื่องช่วย ช่างตอบว่า เครื่องมันปั๊มลงตรงๆ ผิวสัมผัสลงตรงๆตลอดเวลา
แต่ในการตีมีดขึ้นรูป สามารถใช้ข้อมือบิดเพื่อหันหน้าปะทะค้อน ควบคุมแรงและส่งกำลังตีแผ่ได้ดีกว่าเครื่องจักรครับ นั่นคือ สามารถตีลงไปเฉียงๆ เพื่อไล่เนื้อเหล็กให้ไปทางใดทางหนึ่งได้ ถ้าใช้เครื่องจักร มันก็จะตีแผ่ออกเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ไล่เนื้อเหล็กยาก...
การเข้าด้าม ก็จะทำด้ามไม้และเจาะรู้รอไว้
จากนั้นก็เสียบใบมีดลงไป และชันด้วยยางต้นก้ามปู
หรือจะใช้กาวร้อนเป็นแท่งๆก็ได้
มีดสำหรับตีขึ้นรูปเป็นดามยาวครับ ยังทำไม่เสร็จ
ใบมีดเหน็บ ระหว่างรอขัดตกแต่งและประกอบ ในหนึ่งวัน ช่างจะตีมีดได้ประมาณ 70 เล่มครับ
ช่วงการประกอบใบมีด เข้ากับด้าม
อ้อ ขั้นตอนการชุบแข็ง ช่างจะนำใบมีดไปแช่ไฟอีกสักพักให้แดง และจุ่มน้ำแตะๆบริเวณใบมีด
สีเนื้อเหล็กต้องเป็นสียางกล้วย คือ ออกม่วงๆมีเหลืองปน
บริเวณดังกล่าว เนื้อเหล็กจะมีความแข็งมาก (แต่เปราะ) ดังนั้นช่างจะจุ่มน้ำแค่บริเวณที่จะใช้เฉือนเท่านั้น และไม่ชุบแข็งสันมีด หรือเนื้อมีดที่เหลือ เพื่อยังคงความเหนียวของเหล็กไว้สู้กับความเหนียวของวัสดุที่จะใช้ตัด
นั่งกันได้อีกสักพักใหญ่ๆ เราก็ลาช่างเชิญ และแวะไปหาช่างเริ่ม ในบริเวณละแวกเดียวกัน
ช่างเริ่ม ก็เป็นช่างตีมีดเช่นกัน แต่เน้นงานพวก ขวาน สิ่ว กลุ่มที่มีใบมีดหนาๆ ใหญ่ๆ
ดังในรูป ช่างเริ่มกำลังทำมีดขวาน โดยใช้เครื่องมาช่วยทุบ
วัตถุดิบ เหล็กแหนบสำหรับทำขวาน หรือใบมีดหนาๆ สังเกตได้ว่า จะเป็นแหนบหนา ใหญ่
ขั้นแรก ช่างจะตัดแหนบให้เป็นก้อนๆ และใช้เครื่องทุบ ตอกลงไปเป็นช่องสำหรับใส่ด้าม
จากนั้น ก็นำไปสุมไฟ เพื่อทุบขึ้นรูป
ใช้เครื่องช่วยทุบ และมีการใส่ก้อนเหล็กถ่างเป็นสี่เหลี่ยมไว้สำหรับเป็นช่องใส่ด้ามขวาน
ทีแรก ว่าจะฝากให้ช่างเริ่มทำสิ่วกลึงงานไม้ให้สักชุด
ช่างก็เลยหาเศษๆที่เคยทำไว้ให้มาด้ามนึง บอกว่าไปลองใช้ดูก่อน
ทีแรกให้มา จะเป็นด้ามดำๆ สนิมเยอะๆ
ผมก็ใช้เครื่องเจียรมาขัดเนื้อเหล็กและปัดให้ดูขึ้นเงา
ต้องเอากลับไปลับคมและทดลองเนื้อเหล็กที่กรุงเทพครับ
หมดทริปช่างตีมีดเพียงเท่านี้นะครับ รูปที่ถ่ายมาเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆของเหตุการณ์ทั้งหมด
น่าประทับใจมากครับ
No comments:
Post a Comment