Saturday, November 8, 2014

ผ่าไม้บาง, ชิ้นเล็ก ด้วยเลื่อยวงเดือน เรียกใครช่วยที..



เรื่องมีอยู่ว่า เรากำลังทำกรอบรูป โดยใช้เดือยไม้ชนกันธรรมดา ซึ่งช่างไม้ จะมีเดือยสำหรับงานชน 45 องศา ให้เลือกในเบื้องต้นอยู่ 5 แบบ ดังรูป


การเลือกเดือยในแต่ละแบบ ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงานที่จะนำมาชนกัน
จะเห็นว่า เดือยรูปบนสุด 2 แบบ เหมาะกับงานกรอบรูป
ในขณะที่เดือยที่เหลืออีก 3 แบบ จะเหมาะกับงานทำกล่อง เพราะมีผนังกล่องที่สูง

โจทย์วันนี้ คือ เรากำลังทำกรอบรูปครับ และผมเลือกเดือยอันขวาบนสุด

ภาษาฝรั่งเขาเรียกเดือยชน 45 องศาว่า เดือยไมเตอร์ (miter joint)
และเรียกลิ่มไม้ที่ใส่เข้าไปว่า ลิ่มไมเตอร์ (miter key ผมขอแปลตรงๆนะครับ ส่วนเดือยอันล่างสุด จะเห็นเป็นรูปผีเสื้อ เขาเรียกว่า เดือยผีเสื้อ)

หลายๆท่าน อาจจะคุ้นเคยกับการทำลิ่มในมุม 45 องศา ด้วยการใช้เครื่องเซาะร่องบิสกิต (biscuit joitner)

ความแตกต่าง ของการทำเดือยไมเตอร์+ลิ่มไมเตอร์ กับการใช้เครื่องเซาะร่องบิสกิต แตกต่างกันนะครับ

1) ในสมัยก่อน การประกอบ เดือยไมเตอร์+ลิ่มไมเตอร์ เราจะทากาว และชนไม้กันก่อน เมื่อกาวแห้ง จึงจะตัดไม้ให้เป็นร่อง แล้วจึงจะยัดลิ่มไมเตอร์เข้าไป เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับเดือย
วิธีนี้ ระหว่างที่ทากาวประกอบ 45 จึงต้องมีจิ๊กที่บีบไม้ และรักษาระนาบไม้ไว้ด้วย มิฉะนั้น ชิ้นงานที่ชนกัน อาจจะเคลื่อน ปลิ้นไปมา ระหว่างที่กาวยังไม่แห้ง

2) ในขณะที่สมัยใหม่ เราจะใช้เครื่องเซาะร่องบิสกิตก่อน แล้วจะใส่เดือยบิสกิต ทากาว และชน 45 ไปพร้อมๆกันหมด ซึ่งจะช่วยการจัดระนาบของชิ้นงานทั้งสองชิ้นขณะรอกาวแห้ง ชิ้นงานจะไม่ปลิ้นหรือดิ้นไปมา เพราะโดนบิสกิตล็อคระนาบไม้ไว้

วิธีการที่ 2 จึงสะดวกกว่าครับ แต่ต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องเซาะร่องบิสกิต (เฉียดๆหมื่นบาท)
และซื้อเดือยบิสกิต (ชิ้นละประมาณ 2-3 บาท) มุมที่ได้จะสวยงาม ดูเหมือนชนกันธรรมดา
ข้อจำกัดอย่างเดียว ของการใช้เดือยสำเร็จรูป ก็คือ ขนาด ครับ
หากเราต้องการใช้เดือยกับชิ้นงานขนาดเล็ก ตัวบิสกิตเอง อาจจะกว้าง หรือหนาเกิน ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ ถึงจุดนั้น ก็ต้องทำเดือยมือด้วยตนเองครับ

กรอบรูปของผม ก็เข้าเงื่อนไขนี้....เดือยบิสกิตมันกว้าง และหนาเกินขนาดกรอบรูป!!

การทำร่อง ไม่ยากครับ จะเลือกใช้เลื่อยมือ หรือเลื่อยมอเตอร์ ก็ได้
แต่ต้องทำลิ่มให้หนาใกล้เคียงกับคลองเลื่อยด้วย

ช็อปผม มีเลื่อยญี่ปุ่น ซึ่งคลองเลื่อยบางๆ ก็ใช้งานได้ดีละครับ แต่งานนี้ มันลำบากต้องมาทำเดือยบางๆให้ใกล้เคียงกับคลองเลื่อย ก็เลยเลือกใช้เลื่อยวงเดือยผ่ามุม 45

ใบเลื่อยวงเดือยของผม มีคลองเลื่อย 2.3-2.5 มม. (แล้วแต่ตอนส่งตัด มือนิ่งแค่ไหน)
ก็เลยต้องทำเดือยบางแถวๆ 2.3-2.5 มม. เช่นกัน

ลิ่ม 1 ชิ้น มีขนาด กว้างประมาณ 1" ยาว 5 1/2" และหนาไม่เกิน 2.5 มม. ดังรูป


การจะตัดไม้บางขนาดนี้ ด้วยเลือยวงเดือย เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากครับ
เลือยยี่ห้ออะไร จะแพงหรือถูก ก็ไม่เกี่ยวกันแล้วครับ...สำคัญที่เราจะส่งชิ้นงานเข้าตัดอย่างไร ให้ปลอดภัยกับตัวเราต่างหาก

เล่ากันมานาน ก็เลยเป็นที่มาของบทความวันนี้...

ตัดอย่างไรดี จะใช้อะไรมาช่วยทำงาน??

เบสิคสุดๆ ก็ใช้กะบะตัดขวาง (cross cut sled) ครับ
และหาอุปกรณ์เสริมเฉพาะกิจ ดังรูป


มองเข้าไปในรูป อุปกรณ์สเริมเป็นท่อนไม้สองท่อน ฝั่งซ้ายมือนะครับ ส่วนชิ้นงานไม้สักอยู่ขวามือ


ไม้ชิ้นบน หนีบไว้กับกะบะ ล็อคตำแหน่ง
ไม้ชิ้นล่าง สามารถเอามือเลื่อนไปมาได้ เพื่อให้เป็นตัวชนระยะ กับชิ้นงานจริง
หลักการ จึงเสมือนว่า เราทำตัวชนไม้ 2 จังหวะครับ

แล้วทำไมต้อง 2 จังหวะ?

คืองี้ครับ ปกติ ช่างไม้ เราก็ชนไม้ทีเดียวครับ
แต่ในขณะที่เราส่งชิ้นงานเข้ากับเลื่อยวงเดือน ชิ้นงานบางๆของเรา จะโดนบีบทั้งทางด้านซ้ายและขวา (ด้านนึงคือใบเลื่อย และอีกด้านคือตัวชน ยันไว้) ชิ้นงานที่เบา และอยู่ใกล้ๆใบเลื่อยที่หมุนเป็นพันรอบต่อนาที มันมีแววจะปลิวเข้าตัวครับ (kick back)

เราเลยใช้ตัวชนอีกตัว มาชนเพื่อล็อคระยะเท่านั้น
เมื่อได้ระยะ ก็เลื่อนตัวชนออก และส่งชิ้นงานเข้าตัด
ชิ้นงาน ก็จะไม่โดนบีบ
ตัดเสร็จ ไม้บางๆ จะล้ม เราก็ถอยกะบะ แล้วจึงหยิบชิ้นงานออก

ไอเดียนี้ ผมไม่ได้คิดเองนะครับ แต่ทึ่งมาจาก คุณสตีฟ ลัตต้า (Steve Latta) เจ้าพ่อทำงานอินเลย์ครับ

เริ่มกันเลย
**ผมเอาไม้บางๆ วางทับไว้ด้านบน บริเวณใกล้ๆใบเลื่อยนะครับ เพื่อให้เห็นความบางที่จะตัด เวลาทำงานจริงๆ ไม่ต้องมีชิ้นนี้ครับ
** ผมไม่ได้เปิดเครื่องนะครับ จึงเข็นกะบะทาบกับใบเลื่อย เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า จะตัดบริเวณใด
ตอนทำงานจริงๆ เราจะเซ็ตขั้นตอน 1 ก่อนเข็นกะบะครับ

** ขั้นตอนนี้ ถ่ายติดรูปใบเลื่อยเพื่อเปรียบเทียบเช่นกันครับ ตอนทำงานก็ยังไม่ได้เข็นกะบะ

รูปที่ 3 นี้ คือ ขณะส่งชิ้นงานเข้าตัด
ชิ้นงานบาง จะล้มลง ไม่ติดกับตัวชนใดๆ
**กรณีที่ชิ้นงานเล็กกว่านี้มากๆ เขาจะต่อท่อยางมาจ่อที่ชิ้นงาน แล้วเอาปากเป่าให้ชิ้นงานปลิวไปทางขวามือครับ

รูปที่ 4 คือ เราถอยกะบะให้พ้นจากใบเลื่อย
แล้วจึงหยิบชิ้นงานออก
จากนั้น ก็เซ็ตรั้วชน และตั้งระยะชิ้นงานใหม่อีกครั้ง
เมื่อพร้อม ก็ถอยรั้วชน และส่งชิ้นงานเข้าตัด


เมื่อทำงานแบบ 4 ขั้นตอน ไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง เราก็จะได้ไม้แผ่นบางๆ ไม่เกิน 2.5 มม.มาสำหรับทำลิ่มครับ

จากนั้น เราก็ทากาว และนำไปยัดลงในร่องมุม 45 องศาของกรอบรูป



ยัดไปเรื่อยๆ กรอบนึง มี 4 ลิ่ม ทั้งหมด 10 กรอบ ก็ 40 ลิ่ม!!!


ผ่านไปหนึ่งบ่าย กาวแห้ง ก็ตัดแต่งเดือย และไสเก็บ
ได้ม็อกซอน (moxon vise) มาช่วยเหมือนทุกที


เสร็จวัน ได้กรอบรูป 10 กรอบ

ยังเหลือ การไสเรียบเก็บงาน ด้านหน้า/หลังของกรอบรูปนะครับ ซึ่งก็ไสธรรมดาให้เรียบเนียน

**หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า มุมเดือยของผม เป็นรอยหยัก นิดนึง รูปตัว V
มันคือรอยฟันของใบเลื่อยวงเดือนครับ
ซึ่งจะไม่มีรอยนี้ ต้องเปลี่ยนไปใช้ใบเลื่อยสำหรับการตัดผ่าไม้ (rip cut blade) จึงจะได้ร่องที่พื้นเรียบ
(ผมไม่ได้ซื้อใบประเภทนี้ไว้)

วิธีการใช้เลื่อยมอเตอร์ อันตรายอย่างมากนะครับ

มีเลื่อยถูก เลื่อยแพง เป็นเรื่องนึง
ใช้เลื่อยให้ปลอดภัย เป็นอีกเรื่องครับ

หากท่านใดสงสัย ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ผมยินดีตอบคำถาม เพื่อช่วยกันรักษาความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักรครับ
มีโอกาส จะขอเล่าเรื่องความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักรงานไม้อีกบทความนึงครับ