Monday, October 13, 2014

รายการอุปกรณ์กลุ่มแฮนด์ทูล

อ้างอิงจากบทความ
http://www.popularwoodworking.com/tools/tools_for_woodwork


ในภาพ แสดงกลุ่มเครื่องมือที่ช่างไม้โบราณใช้งานกันเป็นประจำ
หลายๆชิ้น ช่างไม้ไทยเราไม่ได้ใช้นะครับ แต่ในต่างประเทศที่เขาทำเฟอร์นิเจอร์ไม้มาเนิ่นนานกว่าเรา เขาพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ดังแสดงในรูป

อ้อ กลุ่มเครื่องมือดังกล่าว เป็นกลุ่มเครื่องมือสำหรับงานไม้เฟอร์นิเจอร์นะครับ
ในกลุ่มงานไม้อื่นๆ เช่น ทำเก้าอี้ กีตาร์ ต่อเรือ งานแกะสลัก ก็จะมีเครื่องมือเฉพาะทางมากมาย แตกแขนงออกไป (ยังไม่รวมไว้ในภาพครับ)

ทุกๆชิ้นในภาพ ยังมีการใช้งานอยู่จริงๆในทุกวันนี้นะครับ และหลายๆชิ้น ยังทำงานให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่าอุปกรณ์ไฟ้ฟ้าไฮเทคซะอีก

ผมขอแปลออกมาเป็นรายการ (บางชื่อหาชื่อไทยไม่ได้ ขอทับศัพท์ครับ)

อุปกรณ์พื้นฐาน
1) เลื่อยลันดา 22" (สำหรับตัดขวางทางไม้, Cross Cut Hand saw 22") ใช้สำหรับตัดไม้ชิ้นยาวๆ ให้เป็นชิ้นใกล้เคียงขนาดใช้จริง

2) เลื่อยลอ 10" (สำหรับตัดขวางทางไม้, Backsaw 10") ใช้สำหรับตัดชิ้นงานขนาดกลาง และเล็ก เช่น เก๊ะ

3) เลื่อยลอ 8" (สำหรับตัดตามทางไม้, Dovetail saw) ใช้สำหรับตัดตามทางไม้ ตอนทำเดือยเหลี่ยม หรือเดือยหางเหยี่ยว จะมีขนาดฟันที่ 15 ฟันต่อนิ้ว (บ้านเราเรียกเลื่อยขนาดกลางว่า เลื่อยลอทั้งหมด แต่ฝรั่งเขาจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เพราะใช้งานแตกต่างกันครับ เอามาใช้แทนกัน จะไม่มีประสิทธิภาพ)

7) กบล้าง 14" (Jack plane)

8) กบล้าง 18" (Fore plane) ใช้สำหรับไสด้านตามทางยาวของไม้ (ซึ่งจะใช้กบ 22" ก็ได้)

9) กบผิว 10" (Smoothing plane)

15) สิ่วทั่วไป หน้า 1/4", 3/4" (Firmer chisel) สันสิ่วจะหนาปกติ ใช้สำหรับขุดเจาะทั่วๆไป

18) ค้อนแวร์ริงตั้น (Warrington hammer) ใช้สำหรับตอกตะปู

20) ตัวส่งตะปู (Nail punch) ใช้สำหรับตอกส่งหัวตะปูเข้าไปในผิวไม้ เพื่อให้ผิวไม้ราบเรียบ ไม่สะดุดหัวตะปู

21) ค้อนไม้ (Mallet 5") ใช้สำหรับตอกสิ่ว

22) คีมปากนกแก้ว (Pincer) ใช้สำหรับดึงถอนตะปู

23, 24) ไขควงปากแบน 3", 8" (Screw driver คนไทยบางท่านเรียก สกรูไร) นอกจากไขควงปากแบน ก็มีไขควงสี่แฉก หรือฝรั่งเรียก ไขควงฟิลิป (Phillips screw driver, Square driver)

25) ขอขีด (Cutting gauge) มีดเป็นมีดแบน ใช้สำหรับขีด ร่างเส้นบนผิวไม้

28) สว่านข้อเสือ (Ratcheting brace 8") เป็นสว่านยุคแรกเริ่ม ก่อนที่เราจะมีสว่านไฟฟ้าดังทุกวันนี้

29) ดอกสว่าน 3/8" (Auger bit 3/8") ดอกสว่านทั่วๆไป

30) ดอกสว่านเกสร (Twist, brad point bit) ใช้สำหรับเจาะงานไม้โดยเฉพาะ จะได้รูที่ขอบกลม สวย

31) ดอกสว่านเม็ดมะยม, ดอกผายปากรู (Countersink bit) ใช้สำหรับผายปากรู

32) ดอกขูดตาไม้, ดอกเจาะบานพับถ้วย (Center bit, Frostner bit) ใช้สำหรับเจาะรูใหญ่ๆ หรือเจาะรูที่ต้องการก้นเรียบ ไม่ทะลุ หรือใช้เจาะตาไม้ทิ้ง

33) เหล็กแหลม (Brad awl) ใช้มาร์กตำแหน่ง สำหรับเตรียมเจาะรู หรือใช้แทงนำ ก่อนที่จะยิงน็อต

34) ฉากตาย 6" (Try square 6")

41) แผ่นขูดไม้ (Card scraper) ใช้เก็บงานสุดท้าย ขูดไม้บางๆให้เรียบ โดยเฉพาะพื้นผิวที่เป็นลายวนไปมา

42) หินลับมีด (Oil stone/Water stone) มีทั้งแบบหินน้ำมัน หรือหินน้ำปกติ ใช้ลับมีด ใบกบ สิ่ว

43) ไม้บรรทัดพับ (Folding rule, tape measure) ใช้สำหรับวัดความยาว ปัจจุบันนี้ นิยมใช้ตลับเมตรแทน

อุปกรณ์เสริม
4) เลื่อยอก (Bow saw 12") ใช้สำหรับเลื่อยโค้งๆ หรือเลื่อยไม้ชิ้นที่หนามากๆ

53) เลื่อยหางหนู (Keyhole saw) เหมาะสำหรับเลื่อยรูกุญแจ หรือเลื่อยเจาะลงไปในรูเล็กๆ

54) เลื่อยฉลุ (Coping saw) อันนี้ผมไม่แน่ใจว่า คนไทยเรียกว่าอะไร แต่พวกร้านค้าจะเรียกเลื่อยฉลุ ซึ่งจะมีอีกไซส์อันเล็กๆ สำหรับเลื่อยกรอบพระ (Fret saw)

11) กบบูลล์โนส (Bull nose plane) กบนี้ ช่างไทยไม่มีครับ...มันเป็นกบที่มีดอยู่ด้านหน้าสุดเลย ใช้สำหรับเก็บงานในซอกมุม เพราะใบมีดจะชนกับผนังได้เลย เข้าถึงซอกมุมได้ดี ส่วนช่างไทยเราใช้สิ่วเก็บ

56) กบกระดี่ (Shoulder plane) เป็นกบที่ไม่มีด้านข้าง เหมาะกับการไสเก็บมุมตามทางยาว จะไสตามทางไม้ หรือขวางทางไม้ก็ได้ เช่น ไสเก็บบังใบ

55) กบโค้ง (Compass plane) ท้องกบจะโค้งๆ ช่างไทยก็มีครับ ใช้เก็บขอบโค้งประตู

12) กบเซาะร่องกระจก (Rabbet plane) ใช้เซาะร่องตามทางยาว จะทำเดือย หรือใส่บานกระจก ก็ได้

13) กบใบตั้ง (Toothing plane) ทำหน้าที่เหมือนแผ่นขูด ใบจะตั้งชันมาก 85-90 องศา ใช้สำหรับเก็บผิว ก่อนที่จะแปะแผ่นวีเนียร์

10) กบเดือยร่อง (Plow plane) เป็นกบทำเดือยตัวผู้ ใช้คู่กับกบเซาะร่องกระจก ซึ่งทำเดือยตัวเมีย

16) สิ่วแพร์ (Pairing chisel) จะเป็นสิ่วด้ามยาว ใช้สำหรับปรับหน้าเรียบ ในเดือยร่องกระจก หรือจะใช้ขูดผิวเดือยให้เรียบก็ได้

17) สิ่วน่อง สิ่งบ้อง (Mortise chisel) เป็นสิ่วหนา ใช้สำหรับทำเดือยเหลี่ยม รับแรงตอกได้ดีมาก

19) ค้อนเล็ก (Pattern maker's maker) เป็นค้อนหัวเล็ก ใช้สำหรับตอกหมุด ย้ำตำแหน่ง หรืองานที่ตอกไม่แรงมาก

26) ขอขีด (Marking gauge) ใบมีดแบบเข็ม ใช้ร่างแบบ ขีดเส้น

27) ขอขีดเดือยเหลี่ยม (Mortise gauge) จะมีใบมีด 2 ใบ เวลาร่างเส้น จะได้เส้นคู่เลย...ใช้ร่างตีเส้นตอนทำเดือยเหลี่ยม

44) กบผีเสื้อ (Spokeshave) ใช้ลบเหลี่ยม ลบมุม งานผิวโค้ง

47) บาร์แคลป์ (Bar clamp, Sash clamp) ใช้หนีบจับชิ้นงานใหญ่ๆ ยาวๆ

49) แคลป์ตัวซี (C-Clamp) ใช้หนีบจับงาน...ด้วยโครงสร้างตัวซี ทำให้มีแรงบีบอัดมาก

48) แคลป์สกรู (Hand screw clamp) เป็นแคลป์สำหรับงานไม้โดยเฉพาะ ใช้ประโยชน์ได้มากมาย มีหลายอย่างที่แคลป์ตัวเอฟทำไม่ได้ ก็ต้องใช้แคลป์สกรูตัวนี้ครับ

35) ฉากตาย หรือฉากผสม ขนาด 12" (Try Square, Combination Square 12")

37) ฉากตาย 45 องศา (Miter square)

38) ฉากเป็น (Sliding bevel)

45) สิ่วเล็บมือ สิ่วโค้ง (Gouge) ใช้ตอก ขุดไม้ทิ้ง

58) บุ้ง (Subform tool) ทำหน้าที่คล้ายๆบุ้ง แต่เป็นด้ามจับ และมีแผ่นเหล็กขูดๆ สำหรับขูด/เหลาเนื้อไม้ออก เช้น ตอนเริ่มขึ้นรูป ทำขาเก้าอี้โค้งๆ

57) กบเราท์เตอร์ (Router plane) ใช้เซาะร่อง, ทำพื้นร่องให้เรียบ หรือเซาะร่องบานพับประตู ปัจจุบับคือ เราท์เตอร์ไฟฟ้า หรือทริมเมอร์

61) วงเวียน (Divider) เป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับการแบ่งมุม การร่างเดือยหางเหยี่ยว การวาดรูปเรขาคณิต

อุปกรณ์ทำเพิ่ม หรือจิ๊กจำเป็น
5) จิ๊ก 45 (Miter block)

6) จิ๊กตัด 45 (Miter box) เป็นกล่อง สำหรับใช้คู่กับเลื่อย เพื่อตัดไม้ 45 องศา

14) กระดานไสฉาก 36" (Shooting board 36") ใช้คู่กับกบไสไม้ เพื่อไสขอบไม้ หัวไม้

39) ไม้บรรทัดตรง (Straight edge) ใช้สำหรับวัดความตรงของผิวระนาบ

36) ฉากใหญ่ 24" (Square 24") ใช้สำหรับวัดฉากงานชิ้นใหญ่ เช่น ตู้ โต๊ะ

40) ไม้เล็งระนาบ (Winding stick) ใช้สำหรับดูการบิด แอ่น ของชิ้นไม้

42) ฐานสำหรับวางหินลับมีด (Oil stone case) ใช้วางหินลับมีด ไม่ให้หินเลื่อนไปมา ขณะที่เรานั่งลับมีด

50) ค้อนวีเนียร์ (Veneer hammer) ใช้สำหรับขูด รีด แผ่นวีเนียร์ ให้ติดเรียบกับแผ่นไม้

46) ฮุคเกี่ยว (Bench hook) ใช้เกี่ยวกับโต๊ะช่างไม้ เวลาจะตัดไม้ หรือใช้แทนกระดานไสฉากได้ในบางครั้ง

59) Scratch stock จะมีใบมีดเป็นรูปทรงต่างๆ ใช้สำหรับขีดไปตามทางไม้ เพื่อทำเส้นคิ้ว บัว
แต่จะไม่เหมือนกบทำบัวซะทีเดียว

60) จิ๊ก 45 (Miter template) ใช้คู่กับการจรดวางหน้าสิ่ว ตอนจะเซาะ 45 องศา

Sunday, October 5, 2014

ท็อปเคาน์เตอร์ และรั้ว จากร้านกาแฟ Bacio ถนนเลียบคลองประปา

โครงการนี้ เป็นโครงการสั้นๆ ทำท็อปเคาน์เตอร์สำหรับร้านกาแฟ
ไม้ที่ใช้ เป็นไม้มะค่าอายุมากกว่า 70 ปี เคยเป็นพื้นบ้านของเจ้าของร้านกาแฟเลยครับ
ได้เอามาแปรรูปทำเป็นท็อปโต๊ะกาแฟไป 4 ชิ้น ส่วนที่เหลืออยู่ ก็นำมาทำท็อปเคาน์เตอร์

สภาพเดิมๆ ดังรูป
ด้านที่เป็นพื้นจริงๆ รอยขีดข่วนเยอะมาก หากจะใช้ด้านนั้น ก็ต้องไสไม้ออกไปเยอะมาก เพื่อลดรอยขีดข่วนให้มากที่สุด

จากรูป คืออีกด้านนึง ซึ่งก็มีคราบน้ำ คราบราแห้งๆ
ก็ไสเปิดดูครับ ของดีๆอาจจะอยู่ฝั่งนี้

เป็นดังที่คิดไว้...
ไม้จริง ผ่านไปนาน ก็ยังนำมาใช้ใหม่ได้ และเนื้อในสภาพดี ยังคงความแข็งแรง


ส่วนของตาไม้ ที่หลุดไปบ้างแล้ว เราจะปล่อยไว้แบบนั้นก็ได้ ซึ่งใช้ๆไป อาจจะหลุดเพิ่มอีก
อย่ากระนั้นเลย ปะเลยแล้วกัน

เริ่มจากใช้ดอกชนิดพิเศษ เรียกว่า ดอกฟอสเน่อร์ (frostner bit) หรือไทยเราจะเรียกว่า ดอกขูดตาไม้
แต่ช่างทั่วๆไป รวมถึงร้านค้า จะเรียกว่า ดอกเจาะบานพับถ้วย
เนื่องจาก เราใช้ดอกทรงนี้ สำหรับเจาะหน้าบานตู้ เพื่อติดตั้งบานพับถ้วยนั่นเอง
แต่ดอกเจาะบานพับถ้วย จะมีขายเฉพาะขนาด 25, 35 มม. เท่านั้น เพราะเป็นขนาดมาตรฐานของบานพับถ้วย ที่ใช้กันในวงการ

ดอกขนาดพิเศษๆ จึงต้องสั่งจากเมืองนอกครับ
อย่างในกรณีนี้ เราใช้ขนาดใหญ่สุดที่หาได้ คือ 2 1/8" เจาะปั่นลงไปทีเดียว


จากนั้น ก็เลือกไม้จากชิ้นเดียวกัน มาแปะอุดรูนี้ไว้

เลื่อยสายพานยังไม่เสร็จ ก็ใช้เลื่อยฉลุนี่ล่ะครับ อึดๆหน่อย
วงไม่ค่อยกลม เราก็ใช้กระดาษทรายช่วยๆขัดๆแต่งๆ

ส่วนที่นูนสูง หากใช้กบ จะใช้เวลาค่อนข้างนาน
จึงลดโหลดด้วยเลื่อยญี่ปุ่น ฟันขาดไปก่อนเลย


เหลือตื้นๆแบบนี้ ค่อยใช้กบลุยต่อ


ไสให้เรียบเสมอกัน พบว่า สีโดดมากครับ
จริงๆ หากเราจะย้อมสีทั้งหน้ากระดาน ก็สามารถทำได้ครับ สีหน้าไม้ก็จะดูสม่ำเสมอกัน


เมื่อไส 2 แผ่น และทำเดือยร่อง เพื่อเสียบประกอบกัน จึงได้ดังรูป
หัวมุมโค้งๆ ก็ใช้เลื่อยฉลุอึดๆ ตัดครับ
(จะใช้กลุ่ม power tool อื่นๆ เช่น เลื่อยจิ๊กซอว์ก็ได้ หรือถ้าเดินเราท์เตอร์ ต้องทำจิ๊กวุ่นวายครับ)

ส่วนของรั้วอีกชิ้น ก็ไส และทำเดือยหางเหยี่ยว
ไม้ชิ้นยาวมาก ได้ moxxon vise มาช่วย ทำให้สามารถไสทางยาวๆได้

มะค่าลายเสือ...อย่างหรูครับ



ทำเสร็จ นำไปติดตั้งที่ร้านกาแฟ ฺBacio อยู่ตรงถนนเลียบคลองประปา ใกล้ๆกับถ.สรงประภาครับ
กาแฟและขนมอร่อยมากครับ (https://www.facebook.com/CaffeBacio)

ในภาพ เราติดตั้งโดยใช้เหล็กฉากตัว L ยึดไม้ไว้กับพื้นปูน
สีไม้เข้มๆ เราใช้น้ำมันเช็ดไม้ จากอิเกียครับ ขายขวดละ 200 บาท เกรดอาหาร
นั่นคือ สามารถใช้น้ำมันนี้ เช็ดกับชิ้นงานไม้ในวงการอาหารได้ (เช่น ชามสลัดไม้ ทัพพีไม้ เขียงไม้)

ไม้จริง เช็ดน้ำมันออกมา จะสวยแบบนี้ละครับ
ไม่ต้องไปพ่น ไปขัดกระดาษทราย โป้วสีอะไรให้ติดกลิ่น

ใช้ไปนานๆ รอยขีดข่วนเยอะ ก็ไสบางๆออกสักที แล้วก็เช็ดน้ำมันใหม่
เฟอร์ไม้จริง คลาสิคเสมอครับ

สุดท้ายนี้ ขอบคุณร้านกาแฟ Bacio ที่ให้โอกาสได้แสดงฝีมือครับ