Monday, November 18, 2013

ลูกคิดญี่ปุ่น

เชนสร้างลูกคิดญี่ปุ่น 5 เลนครับ
เป็นโปรเจ็คท์ไวๆ ทำให้เด็กๆฝึกจินตคณิต ที่ใช้ 5 เลน เพราะคิดได้ถึงหลักหมื่นเท่านั้น


เริ่มจากชิ้นส่วนแกนลูกคิด เอาสิ่วหนีบกับบล็อคไม้ที่เจาะรู
แล้วใช้สว่าน ควงแท่งไม้เข้าไป เหมือนๆการเหลาดินสอ


สิ่วจะเฉือนขอบแท่งไม้ ได้เป็นแท่งไม้กลมๆ
วิธีนี้ ช่วยเราสร้างเดือยไม้กลมได้ด้วยนะครับ จะเอาขนาดไหน ก็เจาะรูที่บล็อคไม้ตามที่ต้องการได้

ชิ้นส่วนลูกคิด ก็ใช้โฮลซอว์ เจาะไม้กลมออกมาก่อน เป็นก้อนๆ

แล้วก็ทำจิ๊ก เพื่อดันชิ้นงานเข้าเครื่องขัดกระดาษทราย
จุดประสงค์เพื่อขัดลูกคิด ให้มีองศา



 ทดลองประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกัน

จากนั้น ก็เป็นงานสีครับ
พ่นรองพื้น...เหมือนๆจะอบคุ้กกี้

อ้าว ไม่ใช่..ลูกชิ้นปิ้งต่างหาก

แล้วก็ประกอบกลับเข้าไปดังเดิม

ใบ้กันชัดๆ 12574

วิธีคิดจริงจัง ค้นหาในเน็ตเพิ่มเติมนะครับ ค้นว่า "ลูกคิดญี่ปุ่น"

Tuesday, November 12, 2013

งานไม้ง่ายๆ - กรอบรูปแต่งบ้าน

วันนี้นำเสนองานไม้แบบง่ายๆ เครื่องมือน้อยชิ้น ใช้เวลาทำไม่นาน และมีโอกาสสำเร็จสูง
เป็นกรอบรูปสำหรับแต่งบ้านครับ

**ในรูปยังไม่ได้ติดตั้งบนผนังนะครับ จึงวางบนท่อนไม้ ให้ลอยๆเทียบกับกำแพงไปก่อน

เราใชัวัสดุ เป็นไม้โครงไม้สน ครับ เวลาไปซื้อ เขาจะขายเป็นมัดๆ มัดละ 10 ท่อน
ไซส์มาตรฐานไม้โครง ท่อนนึง กว้าง 1 1/2" x 5/8" x 2.5 เมตร

เริ่มด้วยการตัดไม้ครับ เลื่อยอันเล็กๆ ก็ทำได้แล้วครับ

จากนั้น เราก็ไสปรับเรียบสักหน่อย แล้วจึงตัดมุม 45 องศา

ทดลองวางเทียบขนาดกรอบครับ
มุม 45 ที่ชนกัน หากไม่พอดี เราใช้กระดานไสฉากเก็บงานสบายมากครับ

เนื่องจากกรอบมีความยาวค่อนข้างมาก ประมาณ 90 ซม.
ผมจึงใช้ไม้สน มาดึงช่วงกลางๆกรอบไว้ด้วย เพื่อความแข็งแรง

เดือยไม้ที่ดึงกรอบไว้ด้วยกัน ก็เดือยหางเหยี่ยวละครับ

เมื่อทำเดือยตัวผู้เสร็จ ก็ทาบแบบไปวาดที่เดือยตัวเมีย

ร่องเดือยแปลกๆแบบนี้ ใช้สิ่วเร็วสุดครับ เป๊ะด้วย

แล้วเราก็ใช้แคลป์ยึด ทากาวที่มุม 45 ทั้งหมดยึดไว้ด้วยกัน

วันรุ่งขึ้น ก็นำกิ่งไม้แห้งๆ มาตัดให้ได้ขนาด และติดตั้งเข้าไปในกรอบ
อาจใช้กาวร้อนยึดกิ่งไม้ก็ได้ครับ

วิธีการแขวนผนัง เราสามารถเลือกใช้ฟิดติ้งแบบที่เขาแขวนกรอบรูป
หรือจะยิงน็อตฝังกำแพงก็ได้ครับ

กิ่งไม้แห้งนี้ เวลาผ่านไปสักพัก มันจะแห้งกรอบลงไปอีก เนื่องจากเราไม่ได้พ่นเคลือนอะไร
ในระยะยาว อาจจะเหลือแต่กรอบ...แต่เราก็สามารถจัดหาวัสดุอืนๆมาตกแต่งกรอบรูปได้อีกครับ

โครงการนี้ น่าจะพอเป็นไอเดียง่ายๆ สำหรับการทำงานไม้วันเสาร์อาทิตย์ครับ

Thursday, November 7, 2013

เลื่อยสายพานทำเอง ตอนที่ 04 ตัดไม้ทำตัวโครงสร้าง

พักเรื่องล้อกันสักนิด หันมาเตรียมไม้ทำโครงสร้างตัวซี

ผมเลือกใช้ไม้สน ตามแบบเขาเลยนะครับ เพราะราคาไม้ ไม่แพง น้ำหนักกำลังดี และผ่านการทดสอบความยืดยุ่นโดยคุณ Matthias มาแล้ว
การทำโครงสร้าง เขาจะตัดไม้สนเป็นขนาดต่างๆ ประมาณ 60 กว่าชิ้น แล้วมาแปะเป็นชั้นๆ ไล่ไปเรื่อยๆ จนได้เป็นตัวซีหนาๆ

สเปคเขารีดไม้แต่ละชั้น หนา 17มม. แต่ผมไม่มีเครื่องรีด ครั้นจะไสมือให้ได้ความหนา คงจะใช้เวลาอีกนานมากๆ จึงตรวจสอบตามแบบ พบว่า เราสามารถใช้ความหนามากกว่า 17มม. ได้
มีผลเพียงแค่ ตอนทำหน้าโต๊ะ ก็ต้องทำขารับให้ยาวขึ้น ตามความหนาของโครงสร้างนี้

ดังนั้น ไม้สนแผ่นสำเร็จ หนา 22มม. ผมจึงใช้ตามความหนานั้นๆไปเลย
ส่วนความกว้าง ผมเลือกที่กว้าง 150มม. หรือ 15 ซม. ซึ่งจะครอบคลุมความกว้างไม้ที่กว้างที่สุด และต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด เพราะเรายังไม่แน่ใจได้ว่า เราจะได้ไม้คุณภาพดีทั้งหมด โดยเฉพาะไม้สนนั้น มีตาไม้เยอะมากๆ บางช่วงที่ไม้เสียหาย อาจจะต้องเว้นไปใช้เนื้อไม้บริเวณอื่นแทน

ตัดไม้แบบนี้ เลื่อยวงเดือนสักหนึ่งบ่าย ก็จะได้ไม้มากองไว้

ไม้สนไม่ค่อยเรียบ และมีโก่งบ้าง บางแผ่นนะครับ เดี๋ยวตอนวางประกอบ คงมีไสเก็บ ตกแต่งไปบ้าง เพื่อให้สามารถทากาวสัมผัสกันได้เต็มๆหน้า

เจอชิ้นแบบนี้ มีเซ็งครับ
เส้นสองเส้นด้านขวา เป็นรอยฟันหรอที่เกิดจากใบมีดเครื่องรีดไม้ของโรงไม้บิ่น
ดังนั้น ความหนาสองเส้นจะนูนนิดๆ บีบไม้ยังไงก็ไม่สนิท ก็ต้องไสมือออกเองครับ
และเจอชิ้นนึง ให้เชื่อได้เลยว่า โดนทั้งหมด เพราะไม้ตัดจากโรงเดียวกัน เครื่องเดียวกัน

ชิ้นส่วนสามเหลี่ยมที่ยันโครงตัวซี เราต้องตัดเฉียงๆ เพื่อต้องการให้ลายไม้ มันวิ่งตามเฉียงๆนะครับ
ดูในคลิป คุณ Matthias เขาใช้กะบะตัดขวางอันใหญ่ทำได้ ผมมีแต่กะบะเล็ก ครั้นจะมาสร้างตอนนี้ งานคงสะดุดหมด ก็เลยเลือกใช้ทริมเมอร์ เซาะทั้งหมด 6 ครั้ง ได้ไม้สามเหลี่ยมมา 12 ชิ้น

เกือบครบละ

ทดสอบการวางประกอบ
จากรูป จะเห็นว่า ไม้สามเหลี่ยม มันมีลายไม้วิ่งเฉียงๆ เพื่อให้แข็งแรงรับกับโครงสร้าง
รูปนี้ คือ ชั้น A

และรูปถัดมา คือชั้น B
ชิ้นไม้สามเหลี่ยม มันจะวางตำแหน่งสลับกัน ทำให้มันยึดกันในแต่ละชั้น เป็น A, B, A, B, A, B ทั้งหมด 6 ชั้น
(เส้นตัดขวางๆ ชิ้นล่างทางซ้าย คือตัดผิดนะครับ แต่ไม่เป็นไร เพราะไม้ยังคงยึดกันทั้งแผ่น)

 วางหลวมๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะได้ 6 ชั้น แต่ละชั้น หนา 22มม. เบ็ดเสร็จ จึงจะหนากว่าต้นแบบถึง 3.5ซม.!!
(หากอยากให้หนาเท่าแบบ เราอาจจะตัดบางชั้นออกก็ได้นะครับ แต่ผมแปะให้หนาๆดีกว่า น่าจะแข็งแรงดี)

แผ่บนพื้น เพื่อคัดเลือกไม้สวยๆ ให้อยู่ชั้นนอกสุด

ในแต่ละชั้น A, B จะมีการวางแท่งไม้ สำหรับเป็นตัวยึดล้อบน และขาตั้งที่ล้อล่าง
เราจึงต้องเจาะไม้ให้รับกับแท่งขา
ผมใช้เลื่อยวงเดือน ตัดถี่ๆ จากนั้นใช้สิ่ว เคาะไม้ออก (เส้นคาดด้านซ้ายคือตัดผิดนะครับ)


ทดลองเสียบกับขาตั้ง

จากนั้น ก็เริ่มยึดกาว
ผมไม่ได้ทำตามวิธีต้นแบบเขา เพราะผมไม่มีพื้นราบที่กว้างมากพอจะทำทีละชั้น

จึงยึดกาวทีละส่วนๆ โดยเริ่มที่ชั้น 3-4 ก่อนบางส่วน
ยึดชิ้นงานทั้งหมดกับแผ่นแกรนิต เพื่อให้คงสภาพความเรียบ ระนาบไว้ (เดี๋ยวปลดชิ้นงาน มันอาจจะเด้งโก่งก็ได้)
ระหว่างชั้น คงมีการไสไม้ ปรับระนาบกันไปบ้างครับ เพื่อให้สุดท้ายทั้งหมด ยังคงระนาบสม่ำเสมอ

หลังจากผ่านไปคืนนึง ก็แคลป์อีกฝั่ง แล้วรอกาวแห้ง
(ในรูป ที่มีขาไม้ตัว H เป็นการทดลองวางนะครับ ยังไม่ได้ทากาวติดเข้าไปจริงๆ)

วันถัดมา ระนาบที่ติดกับแกรนิต ยังเรียบดีครับ
แต่ฝั่งบน มีสูงต่ำ ก็เลยใช้กบไสปรับสักหน่อย ไม่ให้ต่างกันมากนัก ชิ้นงานใหญ่ๆ เริ่มหนีบจับยาก

ชั้นถัดๆไป ผมใช้เดือยไม้กลมๆ ฝังยึดไว้ด้วยนะครับ
เพราะตอนหนีบชิ้นงานทากาว ชิ้นงานมันดิ้นไปมา เกรงว่ามิติทั้งหมดจะขยับไปทุกๆด้าน (สองชั้นแรกนี่ก็ขยับไปบ้างแล้ว) พอใช้เดือยกลม จะควบคุมอาการดิ้นได้ดีขึ้น

ชั้นถัดๆไป ก็ทำวันละครึ่งชั้น เพราะมีแคลป์เท่านี้...
ทำแบบนี้ทุกๆเย็น จนผ่านไปอาทิตย์นึง

เมื่อครบ 6 ชั้น ก็จะได้ตัว C หนาๆ
เราก็จะไสเก็บทั้งหมด ให้ได้ตัว C ที่เป๊ะๆ ฉากๆ
ตัวโครงซี นี้ หากทำได้ทรงดี ฉากดี ก็จะส่งผลให้แขนขาที่ยื่นออกมายึดล้อบน มีความเที่ยงตรงไปด้วย
ผมจึงไม่ได้ทากาวยึดแขนขามาตั้งแต่แรกตามที่ Matthias เขาประกอบไว้

การที่ผมทำตัวซีเพียวๆไปก่อน ทำให้ผมสามารถไสปรับตัวซีได้สะดวกมากกว่า
เมื่อเสร็จจากตรงนี้แล้ว ผมค่อยต่อแขนขาเข้าไป

ผมเลือกไสหน้าหนึ่ง ก็คือระนาบ ฝั่งที่ล้อหมุน เพราะเราสามารถปรับตั้งระนาบได้ทุกทางจนกว่าจะพอใจ
จากนั้น เราจึงปรับหน้า 2 5 6 ซึ่งเป็นสันรอบๆตัวซี และจึงไปเก็บหน้า 3 ฝั่งตรงข้ามหน้า 1

ในรูป คือกำลังจะไสหน้า 2 (สันโครงตัวซี)
ได้ Moxon มาช่วย หนีบจับได้เต็มหน้าที่มันจริงๆ หนีบได้หนา 4 3/4" และยาวถึง 24"


กำลังใจไม่เคยห่าง...
แล้วคนไสจะให้ยืนตรงไหนละเนี่ยะ?
เศษไม้ที่ยื่นขวางออกมา เป็นตัวเซฟตี้นะครับ เผื่อหนีบชิ้นงานหลุด หรือตอนปลดชิ้นงานจากแคลป์
ชิ้นงานก็จะไม่ร่วงลงพื้นทันที

กำลังเมามันส์กับขี้กบไม้สน คงจะหอม...

ทำไปสักพัก ก็ได้หน้า 2 เนียนๆ

ผลกรรมที่ทำมา...ชั้นที่ 3-4 ซึ่งเป็นชั้นประกบแรกสุด ผมไม่ได้ไสปรับหน้าอะไรเลย
หน้าไม้ที่บิดโก่งบ้าง จึงประกบกันไม่สนิท เห็นเป็นรอยเส้นดำๆ

แล้วเราก็ไสหน้าอื่นๆ ดังในรูปคือหน้า 5 ซึ่งเป็นส่วนด้านบนของโครงตัวซี
ช่องๆไม้ทั้งสี่ช่อง มีไว้สำหรับต่อแท่งไม้ออกมา เพื่อยึดตัวปรับล้อบน

ผนังด้านในตัวซีทั้งหมด ผมใช้กบผีเสื้อ เก็บงานหยาบๆ ลดโหลดไปก่อน
เราไม่สามารถใช้กบทั่วบริเวณนี้ได้ เพราะติดเรื่องพื้นที่การเข้าถึงมุมต่างๆนั่นเอง


สลับไปที่ฝั่งปลายตัวซี จะเป็นสันไม้ล้วนๆ ขนาดประมาณ 11x11 ซม
ในรูปนี้ คือ ฝั่งบน ตอนซ้อนไม้ ประกบเหลื่อมกันนิดหน่อย ก็เลยต้องมาไสเก็บให้เรียบ

ไสไป เช็คฉากไปบ่อยๆ สัก 20 นาที ก็จะได้สันที่เรียบ และฉาก

เสร็จไปสันนึง เริ่มเมื่อย เห็นอีกสันความสูงค่อนข้างต่างกันมาก
อย่าไสเลย เราเลื่อยฝานทิ้ง ลดโหลดก่อนท่าจะดีกว่า

ผมก็เอาฉาก ลากเส้นระดับรอบๆหัวไม้บริเวณนี้นะครับ จะได้รู้ว่า เราควรจะปรับเรียบถึงเท่าใด
แล้วเราก็เลื่อยฝานทิ้งไปก่อนเลย

ถ้าไม่เลื่อย เศษไม้ชิ้นนี้ ก็ต้องถูกไสให้เป็นผงๆ

เราไสปรับอีกเล็กน้อย ก็จะได้สันปลายตัวซีทั้งสองฝั่ง

ที่เหลือ ก็คือปรับขอบในตัวซีทั้งหมดครับ
เนื่องจากกบไม่สามารถทำงานบริเวณเหล่านี้ได้ ก็ถึงเวลาเครื่องสร้างฝุ่น (เราท์เตอร์)

ผมใช้ดอกกัดตรง 3" ตั้งรั้ว เดินกินทีละนิดไปเรื่อยๆ จึงถึงตรงกลาง และพลิกชิ้นงาน เดินอีกฝั่งให้มาเจอกันตรงกลาง
ส่วนที่ดอกกินไม่ถึง เราใช้สิ่วเก็บได้สบายๆครับ

ทำไปสักชั่วโมง ก็จะได้ตัวซีสวยๆ พร้อมใช้งานเป็นโครงของเครื่อง
**ระหว่างที่ไสปรับผิวตัวซีทุกๆหน้า เราต้องมั่นเช็คระยะห่างต่างๆของโครงด้วยนะครับ
เช่น ตัวซีหนาเท่ากันตลอด ระยะห่างของแกนบน และแกนล่าง ต้องขนานกัน

เมื่อผิวตัวซีมีความเรียบ และได้ฉากอ้างอิงกันได้ เราก็จะต่อแขนต่อขา
ด้านบน จะเป็นที่ยึดตัวปรับล้อบน และด้านล่างจะเป็นขาต่อออกมาเพื่อวางมอเตอร์

ไอเดียการต่อด้านบน ก็คือ ไม้เป็นท่อนๆ มาประกบกัน และเสียบเข้ากับช่องที่เราบากทิ้งไว้ตั้งแต่แรก
(ในคลิปของคุณ Matthias เขาจะประกอบท่อนไม้เหล่านี้ไปเลยในแต่ละชั้น ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถไสเก็บผิวงานโครงตัวซีได้ และทำให้ขั้นตอนการประกอบมันซับซ้อน เพราะชิ้นส่วนในแต่ละชั้นเยอะมากๆ)

ผมแบ่งงานนี้ออกมาทำทีหลัง ผมว่าสะดวกกว่า และผมสามารถไสปรับท่อนไม้เหล่านี้ให้ฟิตพอดีกับเดือยได้


ในส่วนของขาล่างนั้น ต้องมีการเซาะขนาดร่องเดือยให้ตรงกับสเปค เนื่องจากผมไสปรับสันไม้ไปเยอะ จึงต้องขยายรูเดือยเข้าไปในโครง ดังในรูป ที่ขีดเส้น คือเราต้องใช้สิ่วเจาะไปถึงเส้นนั้น

ระหว่างนั้น ผมก็เลือกท่อนไม้มาประกบ และทดลองแหย่ลงช่องเดือยเพื่อดูความฟิต หากเกินก็ไสบางๆจนพอดี

หลังจากขยายครบ 3 เดือย

วางไม้ เทียบฉาก และยึดแคลป์ทั้ง 5 ชิ้นไว้ด้วยกัน
จากนั้น ผมเจาะรูผ่านเอาไว้แทงเดือยไม้กลม สำหรับยึดกันดิ้นเวลาทากาว

หมดวัน เราทากาวยึดท่อนไม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นแขนยึดล้อบน และเป็นขายึดฐานมอเตอร์ข้างล่าง


ราคาอุปกรณ์ในรอบนี้
1) ไม้สนขนาด 22x150x2700mm มัดละ 5 แผ่น ราคา 850 ผมใช้ 2 มัด= 1700 บาท