Sunday, September 22, 2013

หีบเครื่องมือช่างไม้แบบดัทช์ (Dutch Tool Chest) ตอนที่ 3

ครั้งนี้ เราต่อกันด้วยตัวล็อคฝาหน้าครับ

จากครั้งที่แล้ว ลักษณะของฝาหน้า จะเป็นการแปะแผ่นฝาหน้าเข้าไปกับโครงหีบ เราต้องทำไม้ขัดฝาหน้า เพื่อให้ล็อคฝาหน้าเข้ากับโครงหีบด้วย หลักการเดียวเหมือนๆไม้ขัดฝาหม้อเวลาหุงข้าวในสมัยก่อนครับ

ในรูป คือภาพจากตอนที่แล้ว สังเกตที่ฝาหน้า ผมยังไม่ได้ติดตั้งหูล็อค

ครั้งนี้ ผมติดตั้งหูล็อคไว้ทั้งหมด 4 จุด เพื่อเอาไว้ล็อคฝาหน้า ผ่านแท่งไม้ (ชิ้นที่มีรูปวงกลม)

ดังนั้น เวลาล็อคฝาหน้า เราก็จะเสียบแท่งไม้ชิ้นนี้ ผ่านชั้นบนสุดของหีบ แทงทะลุลงไปผ่านหูล็อคฝาหน้า จนไปสุดตีนหีบ เพียงเท่านั้น ก็จะสามารถล็อคฝาหน้าไม่สามารถเปิดออกได้ครับ

อย่างไรก็ดี เราตกแต่งลายสักหน่อยเป็นไร
ผมเลยออกแบบให้เป็นเส้นไม้แดง วิ่งตามสันขอบ มาจบที่ไม้ขัดฝาหน้า ดังรูป

เราใช้ทริมเมอร์ เดินเซาะร่องตื้นๆ ดังในรูป เพื่อเตรียมฝังไม้แดงเส้นหนาประมาณ 6มม.

จากนั้นก็เก็บมุมแหลมด้วยสิ่วขนาดเล็ก และฝังไม้แดงตามขนาดต่างๆ


ส่วนของสันหิ้ง มีการเจาะช่องไว้สำหรับไม้ล็อค และไม้ดามฝาหน้า ทำให้เส้นอินเลย์มันขาดช่วง
ผมก็เลยจัดการฝังอินเลย์เลาะตามทาง

เมื่อทำเสร็จทั้งหมดมารวมกัน ก็จะเป็นดังรูป

ดูมีเรื่องราวขึ้นมาเลยครับ


ทดสอบการจัดเรียงอุปกรณ์ต่างๆ

ครั้งหน้า จะทำหูหิ้วติดด้านข้างหีบ และอุปกรณ์เสริมสำหรับเก็บเครื่องมือ เช่น รางเก็บสิ่วที่ชั้นบนสุด หรือตัวล็อคสำหรับยึดเลื่อยประเภทต่างๆ


Friday, September 20, 2013

หีบเครื่องมือช่างไม้แบบดัชท์ (Dutch tool chest) ตอนที่ 2

จากตอนที่แล้ว เราขึ้นโครงผนังหีบแล้ว ตอนนี้เราจะปิดฝาหน้า หลัง และบนครับ
หีบเครื่องมือใบนี้ ทำได้เร็ว เพราะใช้การยิงน็อตเกลียวปล่อย แปะด้านหน้าและหลังครับ

จากรูป คือ เราติดไม้ด้านล่างสุด และแผ่นหน้า ซึ่งแผ่นหน้านี้ เราต้องตัดเฉียง 30 องศา ให้รับกับขอบของผนังข้างที่วิ่งลงมา ส่วนฝาหน้า ปล่อยไว้ก่อนครับ

เลี้ยวอ้อมไปทางด้านหลังของหีบ เมื่อตอนที่แล้ว เราประกอบหิ้ง 2 หิ้งเข้ากับผนัง
ด้านขอบหิ้งฝั่งหลัง ผมเผื่อไม้ไว้ เพื่อให้เป็นเดือยสอดรับกับแผ่นหลังทั้งแผ่น
การเข้าเดือยแบบนี้ จะทำให้หิ้งรับน้ำหนักเครื่องมือได้อีกมากโข หิ้งจะไม่แอ่นกลางแน่นอนครับ
หลักการนี้ ทำแบบเดียวกันกับการทำตู้หนังสือ ชั้นวางหนังสือที่แข็งแรงทั้งหลายครับ


เมื่อมีข้อดีแบบนี้ มันก็ยากเป็นธรรมดาครับ เพราะหมายความว่า แผ่นหลัง ต้องทำร่องเดือยรับไว้ และมีตำแหน่งที่พอดีที่จะรับหิ้งทั้งสองได้พร้อมๆกัน

จากรูป แสดงร่องเดือยที่ขุดไว้เพื่อมารับกับสันหิ้งครับ
พอเป็นเดือยแบบไม่ทะลุแบบนี้ เราจะใช้พวกกบเซาะร่องกระจก มาวิ่งไม่ได้

ในแต่ละร่องเดือย ผมใช้ทริมเมอร์ วิ่งตีเส้นตรงก่อน สองเส้น เพื่อกำหนดขอบเขต
จากนั้น ก็ใช้สิ่ว ขุดไม้ออกครับ
จริงๆ จะใช้ทริมเมอร์ตีไปทั้งร่องเลยก็ได้นะครับ แต่ฝุ่นเยอะมาก
ผมใช้สิ่วขุดไม้ออกมาเป็นเส้นๆแบบนี้ โล่งจมูกดีครับ

เนื่องจากฝาหลัง กว้างมาก ประมาณ 30" ซึ่งใหญ่กว่ากระดานไม้ที่เราจัดเตรียมไว้
เราจึงต้องต่อฝาหลัง โดยผมเลือกทำเดือยบังใบ ต่อไม้กัน

ดูใกล้ๆ เป็นแบบนี้ครับ
ข้อดีคือ แม้จะต่อไม้ไม่สนิทกัน มันก็จะไม่มีช่องว่างให้ฝุ่นหรือแมลงมุดเข้ามาในหีบได้ครับ
และอนาคต ไม้มีการขยับตัว ก็ไม่น่าจะเยอะเกินบังใบจนทำให้เกิดช่องว่างขึ้นมาได้ อีกทั้งบังใบ จะล็อคไม้ กดไม้ไว้ด้วยกัน


อีกทางเลือกนึง คือเราเซาะร่องตัวผู้ตัวเมีย แบบที่เขาปูพื้นไม้ในบ้าน
แต่ผมยังไม่มีกบเพลาะไม้แบบนั้น ครั้นจะใช้เครื่องไฟฟ้า เราต้องทำจิ๊กขึ้นมาอีกชุดครับ
เลยจบที่เดือยบังใบก็พอแล้ว

ฝาหน้า ฝาหลังเสร็จไปแล้ว
งานต่อไปคือ บานพับและที่ล็อคหีบครับ

บานพับที่หาซื้อได้ เขาให้น็อตมายาวมาก เพราะสามารถติดตั้งประตูไม้ได้ด้วย
แต่หีบเครื่องมือ ใช้ไม้หนา 3/4" จึงต้องตัดน็อตเกลียวปล่อยออก เพื่อไม่ให้น็อตทะลุ

วิธีตัดน็อต ก็หาเศษไม้เจาะรู เพื่อหิ้วน็อตไว้ และใช้เลื่อยเหล็กตัด
เฉือนไปเฉือนมาแป๊บเดียว น็อตร้อนเลยครับ

เมื่อน็อตสั้นได้ที่ ก็ยิงน็อตติดฝาบนก่อน
อย่าลืมว่า เราใช้สว่านเจาะนำเท่าขนาดของแกนน็อต และเจาะให้ลึกกว่าตัวน็อตสักหน่อย
ดังนั้น แม้น็อตเราจะไม่มีหัวแหลมๆ เราก็ยังสามารถขันน็อตลงไปได้ครับ

จากนั้นจึงทาบฝาบนเข้ากับหีบ เพื่อถ่ายตำแหน่งบานพับ มาสู่ขอบแผ่นหลัง
เราต้องขุดสิ่ว เพื่อซ่อนบานพับครับ

ด้วยความที่ขอบบนสุด ต้องเทลาด 30 องศา ทำให้ขุดสิ่วบานพับยากมากครับ
วัดและวาดแบบอยู่นาน เพราะเกรงว่าจะเข้าใจผิดและเจาะเกิน

ไม้สน ขอบฉีกประจำ...
ข้อแนะนำคือ ไม้เนื้ออ่อนแบบนี้ ควรใช้สิ่วมุม 15-20 องศา จะเฉือนกินเนื้อไม้ได้เฉียบคมกว่าสิ่วปกติ 25 องศา แต่ผมไม่มี....ฮ่าฮ่า...เลยเหวอะเล็กน้อย

แล้วก็ยิงน็อตติดบานพับ ทดสอบการปิดเปิด

เมื่อฝาลงตัว ปิดได้สนิทดี ก็ติดตั้งที่ล็อคหีบตามไปเลย


ขณะปิด ดูเหมือนๆบ้านนกขนาดใหญ่

เมื่อเปิดหีบทั้งหมด
ฝาหน้า จะแกะถอดออกมาได้ และเมื่อประกบเข้าไป จะมีไม้อีกสองชิ้น สอดล็อคฝาหน้าไม่ให้หลุดออกมา ตัวล็อคนี้ ผมจะทำครั้งหน้านะครับ
(ไม้สองท่อนที่แปะฝาหน้า ทำหน้าที่ล็อคฝาหน้า ไม่ให้บิด โก่ง)

เมื่อประกอบเรียบร้อยดี ก็ถอดฟิตติ้งออกมาทั้งหมด และไสเก็บทั้งใบ

ไม้สนมาจากโรงงาน ขัดกระดาษทรายมาเรียบระดับนึง
แต่เมื่อเรามาไสเปิดทั้งผิว ไม้จะมันแวววาวมากครับ สีไม้สนจริงๆ ออกเหลือง เมื่อใช้กบไสผิวออก สีจะออกนวลทองๆ เหลือบๆ

ก็จะเหลือทำตัวล็อคฝาหน้า และติดอุปกรณ์เสริมภายในกล่อง เพื่อวางเครื่องมือให้เป็นระเบียบ
ระหว่างนี้ ก็คิดไปพลางๆ ว่าจะแบ่งสัดส่วนภายในหีบอย่างไร เพื่อจะได้เก็บเครื่องมือใช้ประจำให้ครบทั้งหมด

Wednesday, September 18, 2013

หีบเครื่องมือช่างไม้แบบดัชท์ (Dutch Tool Chest) ตอนที่ 01

หีบเครื่องมือช่างไม้ เป็นหีบที่ไม่มีขาย เพราะช่างไม้ทุกคนจะต้องสร้างมันขึ้นมาเองเพื่อเก็บเครื่องมือที่ใช้ประจำ และสะดวกพกพาไปทำงานนอกสถานที่ ขณะเดียวกัน เมื่อทำงานในช็อป หีบก็ทำหน้าที่เก็บเครื่องมือให้พ้นจากฝุ่นไม้ ยืดอายุการใช้งานเครื่องมือ

ช่างแต่ละคน จะกำหนดรูปทรง และฟังก์ชั่นของหีบตามแต่งานที่ตนเองต้องพบปะอยู่บ่อยๆ ใครใช้เครื่องมืออะไรประจำ ก็จะพยายามจัดหาเก็บเครื่องมือใช้ประจำเหล่านี้เข้าไว้ในหีบ เช่น กบไสไม้ขนาดต่างๆ สิ่ว อุปกรณ์วาดแบบ ฉาก สว่านมือ

ผมเลือกรูปทรงหีบมาได้สักระยะนึง และชอบอยู่สองแบบ หนึ่งก็คือ Anarchist tool chest ที่ถูกรวมรวมข้อมูลตั้งแต่สมัยก่อนๆและนำเสนอขึ้นมาใหม่โดย Christopher Schwarz และสอง Dutch tool chest โดย Schwarz เช่นกัน

ผมไม่มีข้อมูลว่าช่างไม้ไทยเรา มีหีบประจำตัวกันแบบไหนบ้าง จึงไม่สามารถมาเทียบเคียง เปรียบเทียบกับช่างไม้จากนานาประเทศ แต่เชื่อว่า เครื่องมือหลักของช่างไม้น่าจะคล้ายๆกัน มีมิติใกล้ๆกัน ถ้าช่างไทยจะมีหีบช่างไม้ ก็น่าจะใช้หีบเก็บขนาดไม่ต่างกัน


ผมเลือกทำหีบ Dutch tool chest ดังรูป เพราะชอบในขนาดที่พกพาได้ และสามารถเปิดช่องด้านหน้า เพื่อเข้าถึงเครื่องมือต่างๆได้อย่างสะดวก ฝาเปิดด้านบนตัดเฉียง 30 องศา เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องด้านบนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ผมเลือกทำทรงดังกล่าว แบบไซส์ใหญ่สักหน่อย นั่นคือ สูงขึ้นอีก 7 นิ้ว เพื่อให้มีชั้นวางของได้สองชั้น และความสูงเมื่อติดตั้งล้อแล้ว ก็จะได้หีบที่สูงประมาณ 35-36" ใกล้ๆความสูงโต๊ะช่างไม้ เวลาทำงาน ก็น่าจะเลื่อนเข้ามาใกล้ๆโต๊ะทำงาน และสามารถเข้าถึงเครื่องมือได้สะดวก

เมื่อมีข้อมูล เราก็ไปโหลดหาแบบกันเลยครับ ที่นี่
Schwarz บอกไว้ว่า หีบเครื่องมือ ควรจะเบา เพราะว่าหากหีบที่มีน้ำหนักมากรวมกับเครื่องมือที่หนักๆทั้งหลายแล้ว มีแต่จะถ่วงให้ขนย้ายลำบากเข้าไปอีก เขาจึงแนะนำให้ใช้ไม้สน แต่ให้มีความหนาสักหน่อย เพื่อให้สมบุกสมบันกับการกระแทกของเครื่องมือขณะขนย้าย

เมื่อเลือกประเภทไม้ได้แล้ว ก็มาวางแผนกันว่า เราจะเพลาะไม้สน หรือจะซื้อกระดานไม้สนสำเร็จรูป
แน่นอนว่า การใช้ไม้สนมาเพลาะกัน จะมีราคาวัสดุถูกกว่า แต่ต้องใช้เวลานาน ในการผึ่งไม้สนให้เข้าที่ เพราะไม้สนที่ใช้ในเมืองไทย เป็นไม้นำเข้าทั้งหมด

โดยธรรมชาติไม้สน ก็เป็นไม้ที่โก่ง บิด แอ่น ได้ง่ายอยู่แล้ว หากจะใช้งานจริงๆ คงต้องผึ่งรอกันเป็นปี
อย่ากระนั้นเลย...ใช้กระดานไม้สนสำเร็จรูปดีกว่า

เมื่อเปิดจากโปรแกรม sketch up ผมจึงสามาถคำนวณจำนวนไม้ที่ต้องใช้งานได้ทั้งหมด


เมื่อมีวัสดุครบ งานเราก็เริ่มจากการตัดไม้ให้ได้มิติตามแบบ จากนั้น ก็ไสปรับหน้า เพื่อให้เรียบเสมอกัน
วางไม้บรรทัด เพื่อให้เห็นว่า แม้จะเป็นกระดานไม้สนสำเร็จรูปจากเมืองนอก ก็มีแอ่น
หากมองจากระนาบ จะเห็นอาการแอ่นอย่างชัดเจน ประมาณ 5 มม. ครับ

เมื่อตัดไม้ได้ขนาด ก็ไสด้วยกบบรรทัด (กบผิว 22" ของธรรมศักดิ์การช่าง)

เริ่มที่การทำเดือยด้านผนังของหีบ โดยผมใช้เลื่อยวงเดือน ตัดผ่านเป็นเส้นนำ
จากนั้น ก็ใช้สิ่วเก็บทั้งหมด

จริงๆ จะใช้เราท์เตอร์ หรือทริมเมอร์ ก็ได้นะครับ แต่ฝุ่นจะฟุ้งเยอะมาก
ผมเลือกใช้สิ่ว เพราะรู้สึกว่าสนุกกว่า และเพลิดเพลินมากกว่า

ถ้ามีกบเราท์เตอร์ (router plane) คงจะได้พื้นเดือยที่เรียบกว่านี้ แต่ไม่เป็นไรครับ ส่วนนี้ยังไงก็ประกบกับชั้นวางอยู่แล้ว

ส่วนของหิ้งชั้นวางเครื่องมือ ผมเลือกที่จะฝังไม้แดงสักเส้นเข้าไป เมื่อเปิดฝาหน้าหีบออกมา ก็จะเห็นเส้นแดงๆนี้ คาดผ่านหิ้งครับ น่าจะสวยแปลกตาดี



จากนั้น ก็ทดสอบการประกบชั้นหิ้งเข้ากับผนังหีบ

ตอนแรกๆ ชั้นวางจะหนากว่าร่องเดือยที่ทำไว้เล็กน้อย เราก็จะไสชั้นวางให้บางลงๆ จนสามารถเสียบประกบกับร่องเดือยได้สนิท

หากบริเวณสันหิ้งไม่ฉาก ก็เป็นหน้าที่เขาคนเดียวในช็อปนี้...กระดานไสฉาก

จากนั้น ก็เป็นการทำเดือยหางเหยี่ยว บริเวณชั้นล่างสุดของหีบ
เนื่องจากก้นหีบต้องรับน้ำหนักมาก และเป็นโครงสร้างของหีบด้วย เดือยที่อึดสุด ก็เดือยหางเหยี่ยวล่ะครับ


การถ่ายแบบจากเดือยตัวผู้ (tail) เพื่อทำเดือยตัวเมีย (pin) เราก็ได้ปากกาสกรูคู่ (moxon vise) นี่ล่ะครับ
**ผมเอาก้อนเหล็กทับไว้ เพื่อเป็นน้ำหนักกดแผ่นไม้ เวลาวาดแบบจะได้ไม่ขยับ


หายไปอีกครึ่งชั่วโมง กลับมาพร้อมกับเดือย


การทำเดือยกับไม้สน ต้องระวังค่อนข้างมากครับ เพราะไม้สนเป็นไม้เนื้ออ่อน และฉีกง่าย เครื่องมือเกี่ยวนิดหน่อย ขอบไม้ก็พร้อมจะฉีกตลอดเวลา และไม่ควรประกบเดือยเข้าออกบ่อยนะครับ เพราะเดือยจะช้ำ ส่งผลให้ปากเดือยไม่สนิท


ดรายฟิต (dry fit) ก่อนทากาว

กบบรรทัด ขอจองชั้นบนก่อนเลย...ไวจริง

โซล่าร์ครับ...มาจองชั้นบนไม่ทัน

หรือจะชั้นล่างสุดไปเลย...

แต่อยากได้ชั้นบนมากกว่า

เสร็จจากดรายฟิต เราก็จะถอดออกมาทั้งหมด ทากาว และประกอบเข้าไปใหม่ ยึดด้วยแคลป์ครับ

ครั้งหน้า เราจะยิงสกรูยึดฝาหน้า ฝาหลัง และฝาบนครับ