Monday, November 19, 2012

วิธีการตรวจสอบไม้ฉาก

ไม้ฉาก เป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับช่างไม้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม้ฉากในท้องตลาดทั่วๆไป ส่วนใหญ่ ไม่ฉาก !!!

ปกติเวลาผมจะซื้อไม้ฉาก มักจะเช็คคุณภาพตั้งแต่ตอนเลือกหยิบ
นั่นคือ เราจะหยิบไม้ฉากสองอัน วางบนพื้นราบเรียบจริงๆ แล้วนำฉากมาชนกัน จากนั้นก็นำหนึ่งในสองอันนี้ ไปเช็คกับไม้ฉากอันที่สาม เราเช็คสลับไปสลับมา ระหว่างไม้ฉาก 3 อัน เพื่อดูว่า มีอันใดไม่ฉาก เบี้ยว หรือไม่
เราจับคู่เช่น 1 เทียบกับ 2, 1 เทียบกับ 3 และสุดท้าย 2 เทียบกับ 3

ทำแบบนี้ เราก็จะเลือกอันที่ดีที่สุดเท่าที่จะเลือกได้

หรือ..


ให้เราเทียบไม้ฉากวางบนพื้นเรียบๆ และมีด้านที่ตรงๆสักด้าน
จากนั้น นำไม้ฉากทาบ และขีดปากกาตามเส้นฉาก


แล้วก็กลับด้านไม้ฉาก เพื่อลองทาบฉากกับเส้นที่เราขีดไว้เมื่อสักครู่

จากรูป จะเห็นว่า ไม้ฉากสีแดงของผมอันนี้ ไม่ฉาก....

(ตอนที่เลือกซื้อชิ้นนี้ อยู่ในห่อพลาสติกแข็ง ไม่สามารถแกะเทียบได้ ผมซื้อเพราะราคามันแพง เลยคิดว่าน่าจะฉาก)

เมื่อทราบว่าไม่ฉากแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปรับแต่งครับ อันนี้แล้วแต่ว่าไม้ฉากของแต่ละท่านปรับแต่งได้หรือไม่ กรณีของฉากตาย ส่วนใหญ่จะยึดติดกันหมด ต้องถอดน็อต หรือแกะ แงะ หรือถ้าคิดว่าหาใหม่ได้ ก็หาซื้อใหม่ครับ

อีกจุดนึงที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือ ไม้บรรทัดบนฉากนั้น ขอบเหล็กทั้งสองฝั่ง ขนานกันหรือไม่??

เพราะเวลาเราใช้งาน เรามักจะเทียบฉากได้ทั้งสองฝั่งขอบเหล็ก

วิธีเช็คฉากของแต่ละขอบเหล็ก ก็สามารถทำตามขั้นตอนที่กล่าวไว้ด้านบนได้เลยครับ

ส่วนการเช็คขนาน ก็สามารถใช้เวอร์เนีย วัดระยะเทียบกันตลอดไม้บรรทัด มันควรจะคลาดเคลื่อนน้อยมากๆ

ถ้าคลาดเคลื่อนมากจริงๆ ก็สามารถใช้กระดาษทรายแปะบนแผ่นหินแกรนิต และขัดถูให้เรียบ เพื่อให้ไม้บรรทัดตรงจริงๆ

ข้อควรระวัง ผมเจอแจ็คพ็อต ก็คือ แผ่นหินแกรนิตของผมก็ไม่เรียบตรงจริงๆครับ...ซึ่งถ้าผมไม่ได้เช็คไว้ก่อน เวลานำไม้บรรทัดมาขัดบนแผ่นหิน ก็จะได้ไม้บรรทัดที่โค้งรับกับแผ่นหิน อาการจะหนักไปกว่าเดิมอีก





Tuesday, November 13, 2012

เก้าอี้ชิ้นโบว์แดง ตอนที่ 1 เดือยดาโด (Dado joint)

(รายละเอียดหลักสูตร โหลดได้ที่นี่ )

พวกเราเลือกเอาต้นแบบเก้าอี้ชิ้นโบว์แดงจาก Lie Nelson Workshop School
เก้าอี้ตัวนี้ ทางฝรั่งเขาเรียกว่า Shaker Chair คำว่า Shaker เป็นชื่อเรียกการออกแบบที่เรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้งานเป็นหลัก ในยุคสมัยนึง Shaker furniture ได้รับความนิยมเป็นอันมาก เนื่องจากความเรียบง่ายนั่นเอง



เก้าอี้ตัวนี้ เน้นการใช้สิ่วช่วยทำงาน ซึ่งพวกเราถือว่าเป็นโจทย์ที่ดีมากๆชิ้นนึง
และความยากที่สุด อยู่ที่เดือย 45 ทั้ง 4 ชิ้นที่ยึดขาเก้าอี้เข้ากับที่นั่ง ช่างไม้ระดับโปร จะทราบดีว่า เดือยแบบนี้ทำง่าย แต่เข้าเดือยยากมากๆ เพราะถ้ามีความผิดเพี้ยนตั้งแต่รอยบากที่นั่ง ที่ขา หรือที่เดือย จะไม่สามารถประกอบเดือยเข้าไปได้เลย และยิ่งมี 4 เดือย ยิ่งยากที่จะประกอบให้ได้ฉากทั้งหมด ทุกจุด


สำหรับหลักสูตรใน B# Woodworking ผมจะดัดแปลง ไม่ใช้เดือย 45 นะครับ เพราะเดี๋ยวมือใหม่จะท้อกันซะก่อน แต่แบบที่เราดัดแปลง ก็มีความท้าทายไม่น้อยกว่ากันครับ ใช้สิ่วกันสนุกแน่นอน


หลังจากที่เรา outline ตำแหน่งของเดือยลงในชิ้นงานแล้ว เราเริ่มทำงานที่ช่องกลางที่นั่ง ซึ่งก็คือช่องสำหรับเอามือหยิบ หิ้วเก้าอี้นั่นเอง โดยมีดอกขูดตาไม้ (forstner bit) ช่วยในส่วนของครึ่งวงกลม และใช้สิ่วตอก ลุยเนื้อไม้ส่วนกลางออกให้หมด

จากนั้น ก็เป็นการทำเดือยดาโด (dado joint)
เดือยดาโดนี้ มีชื่อเรียกหลายชื่อ แล้วแต่ความนิยมในแต่ละประเทศ
ถ้าเป็นในอเมริกา แคนาดา จะเรียก ดาโด (dado joint)
ถ้าในอังกฤษ จะเรียก เฮาส์ซิ่ง (housing joint)

เราจะเห็นเดือยประเภทนี้อยู่บ่อยๆ ช่วงรอยต่อของชั้นวางหนังสือ แต่มักจะเสริมด้วยเดือยแบบอื่นๆเพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อสร้างความแข็งแรงให้มากขึ้น

ตัวอย่างเก้าอี้ชิ้นโบว์แดง ก็เช่นกัน
เรานำดาโดจ๊อยท์ มาใช้ร่วมกับ มอทีส เทนอน (dado + mortise/tenon) เพื่อให้ขาเก้าอี้ยึดแข็งแรงกับแผ่นที่นั่ง

เริ่มกันเลยดีกว่า...
ด้วยการตอกสิ่วลงใกล้ๆเส้น outline ตอกเป็นเส้นนำไปตลอด (หรือบางท่านอาจจะใช้เลื่อย เลื่อยกินไม้ลงไปตรงๆตลอดเส้นเลยก็ได้นะครับ)

จากนั้นใช้สิ่วแกะขอบไม้ออกมา ทั้งซ้ายและขวา



 แล้วก็ตอกเกาะด้านขอบ เพื่อสร้างรอยผ่าให้ลึกเข้าไป (สังเกตการหันด้านสิ่ว)


จากนั้น ก็ขุดเนื้อไม้ออก


เมื่อเหลือขอบ เราก็จะเก็บขอบเพื่อให้ได้ขนาดตามจริง


เริ่มด้วยการตอกสิ่วลงตรงๆ 90 องศากับชิ้นงาน เพื่อให้ได้รอยบากที่ฉากที่สุด



และเก็บมุม

แล้วก็จัดการกับอีกฝั่ง

สุดท้ายก็ขูดๆ เก็บๆมุมให้ดูสะอาดตา


ผลงานแบบนี้ สิ่วคมๆเท่านั้นครับ

ทำระยะที่ยาวขึ้น ก็จะได้เดือย dado เต็มช่องชิ้นงาน

อย่าลืมว่า ส่วนที่โชว์ สำคัญที่สุด จะตอกพลาดไม่ได้ เนียนไม่เนียนก็ตรงนี้ล่ะครับ

เรื่องความเนียน ความเนี๊ยบ ต้องใช้เวลาฝึกฝนนะครับ มือใหม่อย่ากังวลจนเกินไป
อยากให้ทำงานไม้ด้วยความสนุกดีกว่า ไม่ต้องเกร็ง แล้วจะได้ผลงานที่ดี

การเกร็ง กังวล หรือตั้งใจเกินไป ส่งผลกับร่างกายนะครับ เช่น เราอาจจะกำสิ่วแน่นเกินไป หรือเผลอออกแรงหักข้อมือ ทำให้ทิศทางสิ่วไม่ตรง ซึ่งยิ่งทำให้ชิ้นงานไม่เรียบร้อยเข้าไปอีก

การทำงานไม้ จึงเป็นการฝึกฝนตนเองทางหนึ่ง ดังที่เราเห็นได้จากช่างฝีมือญี่ปุ่นทั้งหลาย







Sunday, November 4, 2012

B# Woodworking หลักสูตรเรียนงานไม้ เราสอนทำงานไม้แนวไหน

English translation is provided below.

พวกเรามีความสนใจในการทำงานไม้มาเป็นเวลานาน เน้นทำงานไม้ที่ใช้ไม้จริง และเริ่มขั้นตอนการทำงานไม้ตั้งแต่ การเลือกโครงงานที่ต้องการทำ, การเลือกซื้อไม้, การเตรียมไม้, การประกอบชิ้นงาน

ผมเองก็เคยผ่านช่วงมือใหม่มาเช่นกัน และไปไม่ถูกว่า เราควรจะเริ่มงานไม้อย่างไร ควรจะพัฒนาตัวเองไปในทางใด ควรมีเครื่องมือเบื้องต้นอะไรบ้าง และจะใช้อย่างไร


เราจึงนำความรู้และประสบการณ์ที่เราสะสมมาตั้งเป็นหลักสูตรงานไม้เบื้องต้นครับ

    ในกระบวนการทำงานไม้สมัยใหม่ เราจะเห็นผู้ผลิตเครื่องมือไฟฟ้ามาช่วยเราทุ่นแรงมากมาย ซึ่งทำให้เราต้องลงทุนค่อนข้างสูงในการจะทำงานไม้สักชิ้นนึง (ผมเรียกสั้นๆว่า "ค่าเข้าวงการ") อีกทั้งเรายังต้องศึกษาวิธีการใช้งานอย่างรอบคอบ เพื่อระมัดระวัง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นกับตัวเรา

    ที่ B# Woodworking เราจึงเน้นการใช้เครื่องมือช่างแบบไม่ต้องเสียบไฟฟ้า เราเรียกอุปกรณ์เหล่านี้ทับศัพท์ว่า แฮนด์ทูล (hand tool) ซึ่งเป็นอุปกรณ์รูปแบบเดียวกันกับการทำงานของช่างไม้สมัยก่อนๆ เครื่องมือเหล่านี้ หลายๆท่านอาจจะคิดว่า ไม่รวดเร็วทันใจเหมือนเครื่องมือไฟฟ้า แต่ผมกล้ารับประกันว่า เราสามารถใช้แฮนด์ทูลเหล่านี้ สร้างชิ้นงานไม้ด้วยความเนี๊ยบ ความประณีตและปลอดภัยครับ นอกจากนั้น การใช้เครื่องมือเหล่านี้ ไม่ส่งเสียงดังเหมือนเครื่องมือมอเตอร์ ไม่มีฝุ่นไม้ละเอียดๆสร้างความรำคาญให้กับคนรอบๆข้าง
   เราค่อยๆทำ ใส่ใจกับรายละเอียด มีความสุขในการทำงานไม้แน่นอนครับ

ติดตาม อัพเดทข่าวสารพวกเราได้ที่ facebook.com/LincolnWoodcraft
หรือส่งสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ lincoln.woodcraft@gmail.com

=============================================================
 B# Wood Working Course. Be sharp, Always sharp.

Wood working has inspired a lot of people for centuries. That's why there are still tremendous beautiful wood products for all times.
 
New carpenter always has no idea on how to start wood working, how to practise those necessary skillls and how to work safely with those tools.

We've been experienced on fine wood working for several years.
We understand that. We understand your obstacle.

At B#, we focus on those basic hand tool skills. We believe that new carpenter should start wood working with basic tools to earn basic skills.

We are your wood working coach, support and guide you through find wood working world.

Keep in touch at facebook.com/LincolnWoodcraft
or email at lincoln.woodcraft@gmail.com

We are looking forward on you.